วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
02/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่ากะเหรี่ยง : การตาย
การเตรียมศพ

ในหมู่บ้านหากมีผู้คนในหมู่บ้านเสียชีวิตลง เพื่อนบ้านทุกคนจะหยุดงานเพราะถือเป็นข้อห้าม ซึ่งเรียกว่า “ดึปกาซะลอ หม่า” คือข้อห้ามสำหรับวิญญาณที่หลุดหายไป ทุกคนในหมู่บ้านจะหยุดทำงานเพื่อที่จะมาในงานของผู้ตาย ขั้นแรกญาติพี่น้องก็จะอาบน้ำศพ และนำเสื้อผ้าใหม่ ๆ มาสวมใส่ให้เสร็จแล้วก็จะห่อศพด้วยเสื้อตีข้าว และเตรียมสัมภาระให้แก้ศพ หลังจากห่อศพแล้วจะหาไม้ไผ่หนึ่งท่อนยาวนำมาผ่าออกเป็น 4 ซีกเท่า ๆ กัน ครึ่งท่อนแล้วง่ามลงบนศพเพื่อยึดศพให้มั่น เรียกไม้ไผ่ท่อนนี้ว่า ไม้ง่ามศพ จากนั้นก็จะนำเสื้อผ้า ของศพที่ญาติพี่น้องมอบให้ แขวนไว้ที่ปลายท่อนไม้ไผ่ เสื้อผ้า และข้าวของของศพนี้เรียกว่า ”ปวา ซี อ่ะ กื่อ” มีความหมายว่า “สัมภาระศพ” เป้าหมายการเตรียมสัมภาระของศพนี้ ก็เพื่อทำความร่มรื่นให้ศพ ขณะเดินทางกลับไปยังโลกหน้า

การขับลำนำ (อึทาปวาซี)

ตกเย็นจะเป็นเวลาแห่งการขับลำนำส่งวิญญาณศพ โดยชายหนุ่มและพ่อบ้านจะขึ้นขับลำนำที่ขับในช่วงนี้ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนตาย ลำนำสำหรับศพนี้ผู้ขับจำกัดเฉพาะแต่ผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงจะขับลำนำนี้ไม่ได้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง และเสียชีวิตลงก็จะมีการขับลำนำวิญญาณเช่นเดียวกัน แต่ผู้มาขับลำนำจะเป็นเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ลำนำที่ขับมีชื่อเรียกว่า “ทาโหร่ควา” ผู้เสียชีวิตที่เป็นวัยหนุ่มสาวจะมีการสร้างกระต๊อบหลังเล็กที่กิ่วดอย ใกล้ ๆ หมู่บ้าน และนำเสื้อผ้า ข้าวของไปวางไว้บนกระต๊อบหลังนั้น สิ่งของเหล่านี้เรียกว่า “เสอะเล” ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้มีลำนำส่งวิญญาณโดยเฉพาะเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า “ทาเยอลอ” แปลว่า “ลำนำ คนึงหา”

พิธีส่งสัมภาระและข้าวของให้ศพ (เอ๊าะโล)


ก่อนที่จะปลงศพจะมีการเตรียมสัมภาระและข้าวของให้ศพ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยจำเป็นในการดำเนินงาน ได้แก่ ย่าม มีด หม้อ ชาม ถ้วย ไม้ขีดไฟ เชื้อมัน เชื้อข้าว กล้ากล้วย ยาสูบ หมาก พลู เป็นต้น ข้าวของสัมภาระทั้งหมดจะบรรจุลงในกะฉุกใบหนึ่ง เมื่อได้ เวลาปลงศพ กะฉุกใบนี้ก็จะถูกเอาไปด้วย ปลงศพเสร็จแล้วจะนำกะฉุกใบนี้ไปวางไว้ใต้ต้นไม้ จากนั้นนำขอเกี่ยวคอเสื้อผู้ทำพิธีและดึงกลับบ้านพอเป็นพิธี การทำพิธีส่งสัมภาระ และข้าวของให้ศพนี้ มีความหมายว่า ในโลกหน้าวิญญาญของศพจะต้องกลับไปทำมาหากินเช่นเดียวกับชีวิตในโลกนี้ จึงต้องมีการมอบสัมภาระ และข้าวของให้ มิเช่นนั้นวิญญาณจะมีความยากลำบาก ไม่มีข้าวของ และเครื่องใช้ในการทำมาหากิน


ข้อห้ามหลังปลงศพ

หลังจากปลงศพแล้วจะมีข้อห้ามในประเพณี คือ ไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปทำมาหากินนอกบ้าน ส่วนจะห้ามกี่วันนั้นขึ้นอยู่กับว่าศพนั้นมีการเก็บไว้กี่วัน หากเก็บไว้หนึ่งวันก็จะห้ามออกไปทำงาน 1 วัน ถ้าเก็บ 3 วันก็จะห้าม 3 วัน เป็นต้น ข้อห้ามนี้ เรียกว่า “ดึนาเกอะเกราะ” หมายความว่า “ข้อห้ามผีผู้ตาย” เพราะกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอเชื่อว่าหลังจากปลงศพผีของผู้ตายยังเดินไปมาภายในบริเวณหมู่บ้าน อยู่จนกว่าจะพ้นจำนวนวันที่เก็บศพไว้ เพราะฉะนั้นหากผู้ใดออกนอกหมู่บ้านในช่วงนี้ ผีผู้ตายอาจเห็นเข้าและจับขวัญของผู้นั้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วยลงได้

พืชผักของศพ
หากมีผู้เสียชีวิตลงในกลางปี และผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสได้รับประทานพืชผักที่ตนปลูกลงไป ในกรณีนี้ญาติพี่น้องก็จะนำผลผลิตของพืชผักต่าง ๆ ในรอบปีนั้นไปฝากไว้ที่ไร่ หรือใต้ต้นไม้บริเวณของศพก็ได้หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้วิญญาณศพจะได้กลับมารับประทานผลผลิตของพืชผักเหล่านั้น แล้วจะได้กลับไปสู่สู่คติด้วยความสงบสุข จะได้ไม่กลับมาขอจากญาติพี่น้องอีก

ปัจจุบัน
เนื่องจากปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนไป จากที่เคยทำพิธีเเบบดั้งเดิม จึงหาดูงานศพแบบดั้งเดิมได้ยากมากขึ้น จะเห็นได้อย่างง่าย ๆ เช่น เสื่อตีข้าวที่ใช้ห่อศพได้มีการเปลี่ยนมาใช้เป็นโลงศพเเทน เเละพิธีการประกอบทางศาสนาอย่างการขับลำนำ หรือ "อึทาปวาซี" เเทบจะไม่ทำกันคนรุ่นหลัง จะมีส่วนน้อยมากที่จะให้ความสำคัญตรงจุดนี้ เนื่องจากการทำพิธีแบบดั้งเดิมต้องใช้เวลานานเป็นข้ามคืนข้ามวัน ในสังคมที่คนปัจจุบันต้องเร่งรีบ จึงมีการย่นระยะเวลาในจุดนี้ ทำให้ส่วนสำคัญของพิธีได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบใหม่ คือ รวดเร็ว และลดขั้นตอนของบางอย่างไป