ประเพณีล้านนา - ประเพณีทานก๋วยสลากภัต เดือน 11-12 เกี๋ยงเหนือ เดือนกันยายน-ตุลาคม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ประเพณีทานก๋วยสลากภัต เดือน 11-12 เกี๋ยงเหนือ เดือนกันยายน-ตุลาคม


คนโบราณเรียกว่า ตานก๋วยสลาก หรือกินข้าวสลาก การเตรียมทำบุญตานสลากนั้นจะต้องรู้วันและเดือนออก เดือนแรม กี่ค่ำ ให้รู้ก่อน เพราะการทำบุญสลากก็นับว่าเป็นการตานประเภทหนึ่ง การตานสลากนี้นับว่าเป็นการตานสลากนี้ย่อมไม่ตรงกับภาคเหนือเราจะตานในเดือน 12 เหนือและเดือนเกี๋ยงเหนือ ส่วนภาคกลางจะตานสลากภัตนั้นถือเอาฤดูที่มีผลไม้มาก เช่น ทุเรียน มะม่วง มะปราง รางสาด อะไรเหล่านี้ออกมาก ๆ การทำบุญสลากนี้คือ เป็นประเพณีมาแต่ตั้งเดิมจะผลัดเปลี่ยนกันทำบุญไปเป็นวัด ๆ แต่ให้วัดดั้งเดิมทำก่อน เช่น วัดเชียงมั่น กินก๋วยสลากแล้ว วัดสวนดอก วัดเจดีย์หลวง และต่อกันไป และวัดเล็ก วัดน้อย นาน ๆ ก็จะกินสลากกันสักครั้งเพราะขึ้นอยู่กับศรัทธาของวัดนั้น ๆ

 
วิธีตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ
นั้นจัดเป็นวันดา 1 วัน วันทำบุญ 1 วัน แต่วันดาไม่ได้ไปแผ่กุศลอย่างทุกวันนี้ จะทำของใผของมัน วัดไหนมีศรัทธามากก็ทำได้มาก วัดใดมีศรัทธาน้อยก็ทำตามกำลังศรัทธา แต่มีบางแห่งจะแบ่งกันเอา เช่น เอาก๋วยน้อยกี่ก๋วยกัณฑ์ใหญ่กี่กัณฑ์ กัณฑ์ใหญ่เจ้าภาพมักจะทำเป็นบ้านมีครัวเรือนพร้อมเอาสามเณร ขึ้นไปนั้งเทศน์ธรรมได้ บางท่านทำเป็นปราสาท มณฑป สังเค็ด ต้นฉัตร ถ้าเอากัณฑ์เล็กกัณฑ์น้อยมักจะเป็นภัณฑะหรือก๋วยภัณฑะหารทำเอ ไม้บง ไม้ซางมาจัดตอกแล้วสานแบบชลอม มีขอบกลม ๆ เอาต๋องกู๊ก ตองข่าตองสาดหรือใบตองกล้วย รองทับภายในเพื่อกันสิ่งขิง ตกหาย

ในก๋วยมีผลหมากไม้นานา ชนิดเช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าวต้ม คือลูกส้ม ของหวาน ข้าวปลาอาหาร ปลาจ่อมห่อนึ่ง ของกินได้พร้อมทุกอย่างใส่เข้าไปแล้วรวบรวมปากก๋วยเข้าหากันเอาสวยดอกไม้ เสียบอยู่ตรงกลางแล้วมัดให้แน่น ทำให้สวยงาม บางบ้านที่มีลูกสาวหลายคนก็จะมวนปันบุหรี่ทำเป็นแพ ๆ แขวนต้นคา ต้นฉัตรและก๋วยสลากน้อยห้อยสตางค์มีรูหากเป็นสตางค์แดง สตางค์ 10 และ 20 สตางค์ เพราะสตางค์มีรูหากเป็นเงินแถบเงินรูปี หรือเหรียญบาทตราช้างก็จะใช้ถัก บางคนแก่งก๋เอาข้าวเปลือกมาถักรอบเงินบาทหรือรูปีสวยงามมาก ส่วนยอดเงิน ถ้าใครใส่ 1 บาท หรือ 1 รูปี ถือว่ามีเงินมากโบราณ ก๋วยหนึ่งก็แขวน 1-2 สตางค์ หรือมากขึ้นไปก็ 5 สตางค์ พระเณรองค์ใดได้ก๋วยสลาก หรือภัณฑะจะได้สัก 50 สตางค์ 1 รูปี คือ 1 แถบ ส่วนก๋วยน้อยจะก็แค่ 10-20 สตางค์

ถ้าโชคดีได้ห่อผ้า ปราสาท มณฑป สังเค็ดหรือบ้าน ก็จะได้พวกสาด หมอน ครัวเรือน ถ้าเขาตานให้คนตาย ก็จะมีเครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกง (เตี่ยว) เสื้อ ซิ่น แว่น หวี และของบริโภคทุกอย่างเป็นของกินจะอยู่ในปราสาทและในก๋วยสลาก

การกินสลากสมัยโบราณ มักจะกินก่อนเพลหำให้เสร็จก่อนเพลก่อนเที่ยง พอพระเณรได้เส้นแล้วก็รับน้ำเอาไปอ่านตามหาเจ้าของนั่งที่ไหน ตรงไหน จะบอกรายละเอียดไว้ที่เส้นสลาก พระเณรหรือประชาชนที่ช่วยพระเณรอ่านก็จะตามหาจนพบ แล้วอ่านเส้นให้เจ้าภาพฟัง เจ้าภาพจะส่งก๋วยให้เราก็ให้เส้นคืนเขาไป

ถ้าเป็นกัณฑ์ใหญ่ก็รอ เจ้าภาพเมื่อพร้อมแล้วก็ให้พระเณรอ่านสลากและให้พร ในเมื่อเสร็จก็รีบกลับไปทันก็ฉันตามรอบป่า ห้าง นาใต้ ต้นไม้ที่เราผ่านไปมาเพราะไม่มีเลี้ยงเพลพระอย่างทุกวันนี้

การไปกินก๋วยสลาก คณะศรัทธาที่ไปด้วยมักจะเอากระบุงหาบตามพระเณรไปพอได้ของดีรื้อนำใส่กระบุง หาบกับวัด มักจะเป็นสาว ๆ หาบลัดทึ่งนา ป่าไปเป็นอันสนุกสนาน

พวกหนุ่มสาวชอบไปทำบุญ สลากกับพระเณร บางที่สาว ๆ สวย ๆ ทำก๋วยสลากไปทานมักทำเส้นสลากมีสำนวนเป็นค่าว อ่านเป็นทำนองมวนเพราะ ถ้าพระเณรได้มักจะให้หนุ่ม ๆ วัยรุ่นนำไปอ่านต่อหน้าสด ๆ หมู่สาว ๆ ก็จะมายืนฟังกัน หนุ่มอ่านแล้วก็โห่ร้องใส่สาว ๆ เนื่องในเส้นมีการหยอกเย้ากันไปในตัวสนุกสนานไปของพวกหนุ่มสาว ก๋วยสลากของสาว ๆ สวย ๆ มักจะมวนปันบุหรี่มวนน้อย ๆ เท่านิ้วมือนิ้วก้อยยาวเท่ากัน ถักเป็นพวงแขวนกับก๋วยสลากบางแพยาวขนาดศอก ก็ยังมี ส่วนเครื่องกัณฑ์นั้น ทางเจ้าภาพต้องจัดหามาใส่ เช่น สาด หมอน ถ้วยชาม หม้อ ไม้กวาด และเครื่องบริขารต่าง ๆ นี้เป็นการทำบุญสลากแบบโบราณลานนาบ้านเฮา

เส้นสลากสมัยโบราณ หรือที่ล่วงมาแล้วมาใช้ใบลานตัดเอาใบที่สวย ๆ งาม ๆ ใบใหญ่ยาว ๆ เอามาแหกออกเป็นใบ ๆ แล้วตากแดดให้แห้ง นำมาเขียนเส้นสลากใช้ภาษาลานนาการเขียนต้องอาศัยผู้มีความรู้ความชำนาญ ส่วนใหญ่จะเป็นน้อยและหนาน (ทิด) ที่สึกมาแล้วหรือพระภิกษุสามเณร ในวัดเป็นผู้เขียนให้เส้นมี 2 อย่าง คือ เส้นน้อย หมายถึงเส้นก๋วยน้อยทำเป็นซอง หรือชะลอมน้อยๆ ใส่ซองพอสมควร เช่น ส้ม อ้อย ข้าวปลาอาหาร ของกินทุกอย่างใส่เข้าไปพอฉันอิ่มในชะลอมนั้นๆ เรียกว่า ก๋วยน้อยเส้นน้อยนี้เขียนว่า “ หมายตานข้าวสลากซองนี้ศรัทธา นาย – นาง ก็ได้หามายังสลากซองหรือก๋วยหนึ่งก๋เพื่อวาจัดตานไปหา...ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอนาบุญอันนี้ไปรอดถึง พ่อ – แม่ ญาติผู้ข้าจิ่มเตอะ ” หือตามแต่จะเขียนไป

ถ้าเป็นเส้นใหญ่ หมายถึง กัณฑ์โชค ป็นห่อผ้าปรสาม บ้านเรือน เรือบิน ช้าง ม้า สังเค็ด สุดแล้วแต่เจ้าภาพจะขียนเส้นว่า สุทินนังตเมตานังปาสาทสปริวารังอเภชูชะ อสาธารณะ สัพพะโลกิยะ โลกุตตระมัคกะ ผะละสัมปัตตินังอรหันตา อรหันตีมัคก๊ะญาณ ตินนัง นิพพานปัจจโยโหตุ แล้วต่อไปเป็นชื่อเจ้าภาพจักตานไปหาใคร หรือว่าทานไว้ภายหน้า สุดแล้วแต่จะตาน พระเณรองค์ใดได้เรียกว่าโชค (โจ้ก) เพราะเป็นการเสี่ยงโชค แต่ละวันกินสลากไม่ได้ตัดเส้นน้อย เส้นใหญ่ออกเลย แล้วแต่โชคใครโชคมัน

การแจกเส้นสลากแด่ พระเณรนั้น นับจำนวนก็ดูว่าเส้นมีเท่าไร แล้วรวมพระมีกี่องค์ เณรกี่องค์ แล้วก็เอาเส้นมาแบ่ง พระได้ 2 ส่วน เณรได้ 1 ส่วนที่เหลือนั้นเป็นของพระพุทธ (พระเจ้า) ส่วนของพระเจ้าก็เอาไปประเคนพระจ้า ของพระ (ตุ๊) และเณร (พระน้อย) นั้นก็จัดใส่พานหรือถาด ของพระเอาไปประเคนพระ ของเณรเอาไปประเคนเณร ต่างคนก็ไม่รู้ว่า เส้นใหญ่เส้นเล็กอยู่ตรงไหนให้จับสลากเอาเองแล้วแต่โชคดีแล้วกัน ให้ครบตามหัววัดที่ถึงกันนี้ นี่คือ ประเพณีก๋วยสลากของคนโบราณลานนาเรา สมัยก่อนทำกันมาอย่างนี้ (จะนี้)

วัตถุประสงค์ก็ตานไปหา ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตานหาน้ำ ฟ้า สายฝน เทวบุตร เทวดา แม่พระธรณี และตานไปหาญาติพี่น้อง ลูกหลาน เหลน ตานไปหาสัตว์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย และทานเอาไว้ภายภาคหน้า บางท่านตานให้พระแม่โพสพ พระแม่เจ้าคงคา ตามแต่เจตนาของแต่ละคนไป เพราะว่าปีหนึ่งเราตานหนึ่งหนความหมายถึงคงเป็นเช่นนี้