ประเพณีล้านนา - พิธีปริกรรมบูชาทำบุญสืบชาตาวัด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

พิธีปริกรรมบูชาทำบุญสืบชาตาวัด – บ้านแบบพื้นเมืองเชียงใหม่
 
การทำบุญเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีสืบชาตาบ้าน-วัด-เมือง ผู้เป็นเจ้าภาพมักปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมว่าจะเป็นความสวัสดีมงคลแก่ตน หมู่คณาญาติ วัดวาอาราม และบ้านเมือง เพื่ออยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากโรคาพาธและเสนียดจัญไรต่าง ๆ เช่น มักมีการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายกายไม่สบายใจก็ดี มีเหตุการณ์เภทภัยใด ๆ สิ่งไม่เคยเกิดมีก็มีขึ้น อันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจแม้ในชีวิตก็ดี ได้ผ่านพ้นภัยพิบัติต่าง ๆ มาแล้วก็ดี หรือกระทำมงคลกรรมใด ๆ มีการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เรือนใหม่ กุฏิใหม่ก็ดี หรือทำบุญอายุครบรอบปีก็ดี มักนิยมจัดให้มีพิธีทำบุญสืบชาตาขึ้น เพื่อเป็นหลักยึดรำลึกนึกถึงคุณพระรัตนตรัยน้อมกายน้อมใจเป็นสรณะและความ สวัสดีมงคล

ก่อนทำพิธีเจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องพลีกรรมบูชาต่าง ๆ ไว้ก่อน เช่น ไม้ค้ำโพธิ์ 2 เล่ม (2 รำ) ยาวเท่าคิง (คือเท่าความสูงของเจ้าชาตา) ไม้ค้ำโพธิ์สั้นจำนวนเท่าอายุ และศอกของเจ้าชาตา 1 มัด ไม้ขัว (สะพาน) ยาวเท่าคิง เจ้าชาตา 2 เล่ม สลักติดกัน 1 คู่ กระบอกน้ำ กระบอกทรายผูกติดกัน 1 คู่ กระบอกข้าวเปลือก กระบอกข้าวสารผูกติดกัน 1 คู่ ยาวเท่าคิง เจ้าชาตาแล้วมีเส้นลวดเงิน ลวดคำ ลวดหมาก ลวดพลู ลวดเบี้ย ลวดข้าวตอกดอกไม้ เทียนค่าคิง สีสายค่าคิง ทุงค่าคิง ผูกติดไม้ก้านยาวเท่าคิงเจ้าชาตาเช่นกัน แล้วนำมารวมกันตั้งกลางห้องทำพิธี ทำเป็นสามมุม แบบปืน 3 กระบอกพิงกัน หรือแบบขาหยั่งฆ้องชัยสำหรับเจ้าชาตาเข้านั่งในเครื่องบูชา 3 มุมนั้น และบางรายก็มีครอบครัวเข้านั้งร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็ใหน่อกล้วย หน่ออ้อย หน่อหมาก หน่อมะพร้าว ช่อขาว 108 ทำเป็นต้นคา 1 ต้น บางรายก็แถมผลมะพร้าว ผลตาล อย่างละ 1 เปียด (ทนาน หรือกระบุง) ตั้งตรงเชิงเครื่องพลีกรรมบูชานั้น กับมีขันตั้ง (ขันสูตร) แต่งในขันโตก หรือถาด มีสวยดอกไม้ ธูป เทียน 4 สวย เทียนเล่มบาท 1 คู่ เฟื้อง 1 คู่ หมากพลู อย่างละ 4 สวย บางรายก็มีหมากไหม 1 หัว (10 ไหม) พลู 1 มัด ควัก (กระทง) ข้าวเปลือก ข้าวสาร อย่างละ 1 ควัก (ท่านที่มีฐานะดี ก็เพิ่มเบี้ยพันสาม หมาก ไหม พันสามด้วย) มีผ้าขาว ผ้าแดง อย่างละ 1 ชิ้น ปัจจัยตามศรัทธาฯ

ขันตั้งนี้ ก่อนเริ่มเจริญพระพุทธมนต์ เจ้าภาพ หรือผู้แทน จะนำมาประเคนพระภิกษุ ที่เป็นประธานสงฆ์ แล้วท่านจะได้ยกขันตั้งขึ้น กล่าวคาถาอันเป็นมงคลตามสมควรแล้วตั้งไว้ที่สมควร ต่อจากนั้นก็เริ่มทำพิธีสืบชาตาต่อไป

อนึ่งบาตรหรือขันนั้น พระพุทธมนต์ เป็นสิ่งจำเป็นในมงคลพิธี เจ้าภาพต้องจำขวนขวายหาเตรียมไว้ พร้อมทั้งขี้ผึ้งเล่มบาท 1 เล่ม (ไม่ควรใช้เทียนไข หรือเทียนเล็ก ๆ สำหรับหยดลงบาตรรหรือขันน้ำพระพุทธมนต์)