วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

การเกิด

ในขณะตั้งครรภ์หญิงเผ่ายั้งคงทำงานตามปกติจนกระทั่งคลอดบุตร ไม่มีข้อห้ามมากนักในระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อถึงกำหนดคลอด ให้แม่ของสามีหรือญาติพี่น้องฝ่ายภรรยาที่เป็นหญิงมาเฝ้าคอยปรนนิบัติทำคลอด เมื่อเด็กคลอดแล้วตัดสายรกยาวราวสองข้อมือ นำไปล้างให้สะอาดแล้วบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ นำไปฝังดิน หรือแขวนไว้ที่คบต้นไม้ใหญ่ในป่าใกล้หมู่บ้าน สำหรับเด็กน้อยนำไปอาบน้ำอุ่นเอาผ้าห่มร่างกายไว้ แล้วนำไปใส่ในกระด้งเพื่อทำพิธีขายให้ผี โดยนำเด็กไปวางไว้หน้าประตูเรือนแล้วพูดว่า “ ผีเฮ้ย ถ้าแม่นลูกผีก็มาเอาเน้อ คันก๋ายสามมื้อเป็นลูกคน ” หมายถึง ถ้าเป็นลูกผีก็ให้มารับเอาไป ถ้าเวลาล่วงเลยไป 3 วัน ก็จะเป็นลูกคนหลังจากนั้นส่งเด็กน้อยให้แม่เลี้ยงดูตามปกติ

การอยู่ไฟ ผู้เป็นมารดาจะต้องอยู่ไฟเป็นเวลา 1 เดือน ในระยะ 3 วันแรกเป็นระยะ 3 วันแรกเป็นระยะของการอยู่ไฟ รับประทานได้เฉพาะข้าวคลุกน้ำชาร้อน ๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มรับประทานอาหารประเภทผักต่าง ๆ รวมทั้งปลา เนื้อ ไก่ ไข่ ได้ตามปกติ

ชีวิตในวัยหนุ่มสาว

การศึกษาอบรมเพศหญิง จะสอนให้รู้จักปลูกฝ้าย ทอผ้า ทำอาหาร และการอนามัยการในครอบครัว ส่วนชายจะสอนให้รู้จักงานจักสาน ทำเครื่องมือทำนาทำไร่ รวมทั้งการทำมาหากิน และมีหัวคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ค์สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน

การเลือกคู่ ตามจารีตของชนเผ่ายั้ง ผู้ชายเป็นฝ่ายเสาะแสวงหาคู่ครอง เมื่อบ่าวสาวรักใคร่ชอบพอกันแล้ว จึงบอกกล่าวให้พ่อแม่ไปสู่ขอ หากได้เสียจนถึงกับมีลูกด้วยกันก่อนแต่งงาน จะต้องทำพิธีขอขมาต่อญาติผู้ใหญ่ร่วมกันและเลี้ยงผีเรือน โดยฝ่ายชายฆ่าหมู 1 ตัว เหล้า 2 ขวด เงิน 2 หมัน ฝ่ายหญิงเสียผ้าฮำ (ผ้าขาวทอมือ) 1 วา เป็ด 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้ขอขามผีเรือนแล้วให้อยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ถ้าได้เสียกันแล้วจนกระทั่งมีลูกทว่าฝ่ายชายไม่ยอมรับ จะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของหญิง ถ้าหากหญิงนั้นตายขณะคลอดบุตรฝ่ายชายจะต้องรับผิดชอบในการจัดงานศพทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับไหมให้แก่ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเป็นเงิน 20 หมัน

การกินดอง เป็นพิธีแต่งงานฝ่ายชายจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของฝ่ายหญิง โดยฆ่าหมู 1 ตัว ไก่ 2 ตัว เหล้า 2 ขวด พร้อมเครื่องบูชาอื่น ๆ และเงิน 5 หมัน บูชาผีเรือนนอกจากนี้ยังเสียค่าน้ำนม 5 หมัน มอบให้ฝ่ายชายของฝ่ายหญิง 5 หมัน พี่ชายคนโต 2 หมัน และให้พี่น้องของฝ่ายหญิงอีกคนละ 6 บี้ และมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงอีกรวม 6 บี้ หลังเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว ผู้ที่ได้รับเงินดังกล่าวจะมอบทรัพย์สินให้เป็นการตอบแทน เพื่อให้คู่สามีภรรยานำไปสร้างครอบครัว กล่าวคือน้าชายจะมอบควายตัวเมียให้ 1 ตัว พี่ชายของฝ่ายหญิงแต่ละคนจะมอบหมูให้คนละ 1 ตัว พี่สาวแต่ละคนให้ไก่หรือเป็ดคนละ 1 ตัว

ภายหลังแต่งงานแล้วมี สถานภาพเป็นเขยสู่ ซึ่งจะต้องพักอาศัยอยู่ที่ฝ่ายหญิง เพื่อรับใช้แรงงานเป็นเวลา 8 ปี จึงจะมีสิทธิ์แยกครอบครัวลงไปตั้งเรือนใหม่ได้ แต่ถ้าจะแยกครอบครัวก่อนกำหนด 8 ปี ต้องเสียค่าลงเรือนปีละ 3 หมัน เพื่อตอบแทนให้แก่พ่อตาแม่ยาย ก่อนลงเรือนไปตั้งครอบครัวใหม่ต้องปรึกษากับพ่อแม่ เมื่อเห็นชอบ คู่สามีภรรยาจะนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้ขอขมาพ่อแม่ และบอกกล่าวผีเรือน พ่อแม่จะแบ่งมรดกให้เป็นทรัพย์สิน เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เครื่องครัว พันธุ์ข้าวปลูก เป็นต้น

การหย่าร้าง ตามปกติครอบครัวของเผ่ายั้งไม่นิยมการหย่าร้าง แต่หากมีเหตุจำเป็นต้องหย่า กรณีฝ่ายชายขอหย่าจะต้องเสียเงินค่าร้างให้แก่พ่อแม่ฝ่ายหญิง 5 หมัน ถ้าหญิงขอหย่าร้างชาย จะต้องเสียเงินค่าร้างให้แก่พ่อแม่ฝ่ายชาย 10 หมัน กรณีหญิงมีหญิงชู้หย่าร้างจากผัวไปจะต้องชดใช้ค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในการ แต่งงานทั้งหมดคืนให้แก่ฝ่ายชาย
กรณีสามีหรือภรรยาตาย จากกัน ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องอยู่อาศัยในเรือนหลังนั้น จะกลับไปอยู่ที่เรือนเดิมของพ่อแม่ไม่ได้ ถ้าหากมีชายอื่นมาขอแต่งงานกับหญิงนั้นจะต้องเสียเงินค่าแต่งดองให้แก่พ่อ แม่ของฝ่ายชาย จึงจะรับหญิงออกจากเรือนไปอยู่ที่อื่นได้