วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ขึ้นพระธาตุ

การขึ้นพระธาตุ คือการทำบุญประการหนึ่งซึ่งตรงกับการไหว้หรือนมัสการพระเจดีย์ โดยเฉพาะเจดีย์ที่ว่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่นั้น ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้อันเป็นกริยาบุญ ซึ่งการขึ้นพระธาตุหรือไหว้พระเจดีย์นี้ นอกจากจะเป็นการเดินทางเพื่อไปจาริกแสวงบุญแล้ว พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหนักไปทางวิปัสสนาธุระก็นิยมเดินทางธุดงค์ไปนมัสการพระ ธาตุที่สำคัญในที่ต่างๆ ด้วย ในสมัยก่อนบางครั้งพระธาตุอาจถูกทอดทิ้งเพราะภัยสงครามหรือภัยอื่นๆ นักแสวงบุญที่เดินทางไปไหว้พระธาตุก็อาจต้องไปช่วยแผ้วถางทำความสะอาดแก่ องค์พระเจดีย์ตามโอกาสก็มีอยู่บ่อยครั้ง

อนึ่ง จากความเชื่อของชาวล้านนาประการหนึ่งคือ ชุธาตุ ซึ่งถือว่าบุคคลที่เกิดมาในปีนักษัตรต่างๆ จะมีเจดีย์องค์หนึ่งเป็นที่พึ่งของตน ทุกคืนเมื่อไหว้พระสวดมนต์แล้วก็จะได้ไหว้พระธาตุซึ่งเป็นที่พึ่งของตนไป ด้วย แม้ไม่ปรากฏที่มาของความเชื่อดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเจดีย์ประจำของแต่ละปีดังนี้

ปีใจ้ คือ ปีชวด ชุธาตุจอมทอง อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ ขึ้นพระธาตุวันเพ็ญเดือน ๙ เหนือ

ปีเป้า คือ ปีฉลู ชุธาตุลำปางหวง อำเภอเกาะคา ลำปาง ขึ้นพระธาตุวันเพ็ญเดือนยี่ เหนือ

ปียี คือ ปีขาล ชุธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง แพร่ ขึ้นพระธาตุวันขึ้น ๑๑ - ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เหนือ

ปีเหม้า คือ ปีเถาะ ชุธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง น่าน ขึ้นพระธาตุวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ

ปีสี คือ ปีมะโรง ชุธาตุพระสิงห์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขึ้นพระธาตุ ๑๒ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ

ปีใส้ คือปีมะเส็ง ชุพระเจดีย์มหาโพธิ์ พุทธคยาอิเดีย

ปีสะง้า คือปีมะเมีย ชุธาตุทะโค่ง ( ชะเวดากอง ) ย่างกุ้ง พม่า

ขึ้นพระธาตุปีเม็ด คือ ปีมะแม ชุธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขึ้นพระธาตุวันเพ็ญเดือน ๙ เหนือ

ปีสัน คือ ปีวอก ชุธาตุพนม อำเภอธาตุพนม นครพนม

ปีเร้า คือ ปีระกา ชุธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง ลำพูน ขึ้นพระธาตุวันเพ็ญเดือน ๘ เหนือ

ปีเส็ด คือ ปีจอ ชุธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ มีการปล่อยว่าวควันบูชาในวันเพ็ญเดือนยี่ ( เหนือ )

ปีใค้ คือ ปีกุน ชุธาตุดอยทุง ( ดอยตุง ) อำเภอแม่สาย เชียงราย ขึ้นพระธาตุควันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เหนือ

พระธาตุประจำปีเกิดดังกล่าวนี้ หากผู้ใดได้กราบไหว้บูชาก็จะเกิดอานิสงส์มาก แต่หากผู้ใดไม่อาจเดินทางไปถึงสถานที่จริงได้ ก็ให้ส่งจิตมนัสการไปถึงหรืออาจไหว้ภาพธาตุประจำปีเกิดที่เป็นภาพวาดหรือภาพ ถ่ายของเจดีย์นั้นๆ ก็ได้ โดยเฉพาะ “ ปีเส็ด ” นั้นอาจบูชารูปพระธาตุอินทร์แขวนซึ่งอยู่ในประเทศพม่าแทน เพราะถือว่าเป็นเจดีย์ที่พระอินทร์สร้างขึ้นอย่างที่สร้างพระธาตุเกศแก้ว จุฬามณีนั้น ส่วนคนที่เกิดใน “ ปีใส้ ”( มะเส็ง ) ก็นิยมไหว้พระเจดีย์ที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่แทน

อนึ่ง ตามความเชื่อนั้นกล่าวว่า หากบุคคลใดที่อายุย่างเข้าสู่เกณฑ์ที่จะเกิดเคราะห์ร้ายแล้ว การที่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือส่ง แล้วก็ยังอาจไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นเคราะห์นั้นได้ หากบุคคลดังกล่าวได้ไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดนั้นสามารถป้องกันภัยอันตราย ทั้งหลายอันเอาจเกิดแก่เจ้าชาตาได้อย่างแน่นอน

ในการเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ของเจ้าชาตาย่อมเกิดอานิสงส์โดยตรงแก่ผู้นั้น แต่ในการที่บุคคลที่มิได้ชุธาตุที่นั้นร่วมเดินทางไหว้พระธาตุนั้นด้วย ก็ถือว่าเป็นการเดินทางจาริกแสวงบุญอันมีอานิสงส์มากเช่นกัน ดังนั้นในการเดินทางไปไหว้พระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีกำหนดแน่นอนว่าจะมี การขึ้นธาตุในวันใด ชาวบ้านมักจะนัดหมายพากันไปเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งในขบวนแสวงบุญนั้นจะมีสมาชิกทั้งพระภิกษุ ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวและเด็กร่วมเดินทางกันไป ชาวบ้านจะเตรียมเสบียงอาหารพร้อมกับอุปกรณ์ในการทำครัวพร้อมสรรพ การเดินทางนั้นอาจกินเวลา ๓ – ๑๐ วัน อย่างชาวบ้านในอำเภอเมืองลำพูนซึ่งเดินทางไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ ก็จะต้องเดินทางด้วยเท้าจากหมู่บ้านของตน หาบข้าวหาบของพากันเดินไปด้วยศรัทธาจริต ลัป่าขึ้นไปเพื่อสมทบกับศรัทธาสาธุชนที่เดินทางมาจากแหล่งอื่นในอันที่จะ ร่วมงานขึ้นธาตุ หรือไหว้พระธาตุให้ทันกาล การที่อยู่ร่วมงานนั้น อาจจะพักแรมร่วมนมัสการอยู่เป็นเวลาหลายวันจึงจะเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาของ ตน ดังนั้น เสบียงอาหารที่เตรียมไปนั้นจะต้องเตรียมให้เพียงพอแก่การบริโภคของคนในคณะ ทั้งหมด ในช่วงที่พำนักอยู่ในร่มเงาของพระธาตุนั้น ศรัทธาสาธุชนที่จาริกแสวงบุญดังกล่าวจะช่วยกันทำความสะอาดบริเวณข่วงพระธาตุ คือ ลานเจดีย์และที่โดยรอบและสถานที่ซึ่งใช้ในการสวดมนต์และพักนอนก็เป็นศาลาที่ อยู่รอบพระธาตุนั้น เมื่อถึงตอนเช้า ศรัทธาจะนึ่งข้าวปรุงอาหารใส่บาตรด้วย

การเดินทางไปขึ้นธาตุที่โด่งดังเป็นที่ รู้จักกันมาก คือ การที่มีผุ้เดินทางด้วยขบวนเกวียนจากเชียงใหม่ไปไหว้พระธาตุหริภุญชัยเนื่อง ในงานขึ้นธาตุในวันเพ็ญเดือน ๘ เหนือ พ . ศ . ๒๐๖๐ ซึ่งผู้ที่เดินทางไปนั้นได้บันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกของตนเป็นโคลงนิราศ หริภุญชัย ( ดูประกอบที่โคลงนิราศหริภุญชัย ) ดังปรากฏอยู่แล้วนั้น
ในการขึ้นธาตุนั้น ชาวบ้านมักจะไปรวมกันในปริมณฑลของพระธาตุตั้งแต่ตอนเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเพื่อร่วมนมัสการจุดธูปเทียนไหว้พระสวดมนต์ ซึ่งโดยปกติจะเป็นการสวดแบบตั้งลำ คือ สวดพระสูตรต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบหรือไม่มีการตัดทอน ตกดึกจะมีการสวดแบบสรภัญญะคือสวดแบบใช้ทำนาง ส่วนการสวดเบิกซึ่งเป็นการสวดตอนค่อนรุ่งนั้น จะมีคณะผู้สวดประกอบด้วยพระเสียงทุ้ม ๑ รูป เสียงกลาง ๒ รูป พระเสียงเล็ก ๒ รูป รวมเป็น ๕ รูป การสวดต่างๆจะดำเนินตั้งแต่ตอนเย็นไปจนสว่างจึงจะเสร็จสิ้น ศรัทธาสาธุชนที่ไปร่วมงานอาจจะพักอยู่อีกวันหนึ่งหรืออาจทยอยกันเดินทางกลับ ก็ได้ ( เรียบเรียงจาก ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย ของ มณี พยอมยงค์ , ๒๕๓๗ )