วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

สู่ขวัญ

 

สู่ขวัน หรือ “ สู่ขวัญ ” หมายถึงพิธีเลี้ยงอาหารแก่ขวัญ ซึ่งการสู่ขวันของชาวล้านนา คือพิธีกรรมที่ตรงกับการเรียกขวัญของคนในไทยภาคกลาง และมีข้อปลีกย่อยที่ต่างกันไม่มากนัก

การสู่ขวันนี้อาจเรียกว่า “ สู่เข้าเอาขวัน เรียกขวัน ( อ่าน “ เฮียกขวัน ”) หรือ ร้องขวัน ( อ่าน “ ฮ้อง ขวัน ” คือ ป้อนอาหารเพื่อเชิญขวัญให้คืนสู่ตนตัวของบุคคลซึ่งป่วยเรื้อรังมีเหตุเสียใจ หรือหมดกำลังใจอย่างรุนแรง หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใหม่ โดยกล่าวกันว่าขวัญของบุคคลดังกล่าวได้เตลิดไปจากตัวตน จึงต้องทำพิธีเรียกและปลอบประโลมขวัญนั้นให้กลับคืนสู่บุคคลตามเดิม

เรื่องการสู่ขวัน เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในล้านนาซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ลงตัว ในที่นี้ใคร่จะเชิญบทนิพนธ์ของพลตรีเจ้าราชบุตร ( วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ เจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่และคณะมาลงไว้ เพื่อให้เห็นขั้นตอนต่างๆ เต็มตามต้นฉบับดังนี้
การสู่ขวัญหรือสู่พระขวันหรือสู่พระ ขวัญเป็นประเพณีของชาวล้านนาไทยมาแต่โบราณกาล ทางภาคกลางนิยมเรียกว่า การรับขวัญคนที่เดินทางไกลไปต่างถิ่นเป็นเวลานาน บางทีก็ประสบความเหนื่อยยากในการเดินทาง มีความคิดถึงบ้าน หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจและเสียขวัญ เมื่อกลับมาถึงบ้านเรืองของตนแล้ว ก็นิยมเอาธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชากราบไหว้พระสงฆ์และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีบิดามารดา เป็นต้น เพื่อขอให้ท่านซึ่งมีวัยวุฒิเหล่านั้น เรียกขวัญและปลอบอกปลอบใจให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวต่อไป อย่าได้ไถลไปที่อื่น คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเวลานานหรือป่วยหนักจนกำลังลดถอยลง มักจะขอให้พระหรือคนเฒ่าคนแก่ทำพิธีผูกมือเรียกขวัญ ในการนี้ท่านจะกล่าวถ้ยคำอันเป็นสิริมงคลเรียกขวัญแล้วอำนวยพรให้พ้นภัย พิบัติอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การกล่าวคำเรียกขวัญนี้ บางทีท่านก็กล่าวเป็นคำประพันธ์และอาจเป็นทำนองที่มีไพเราะด้วย การเรียกขวัญหรือสู่ขวัญเช่นนี้ได้ทำกันแพร่หลาย ภายหลังได้ขยายการทำดอกไม้บูชาเป็นพุ่มงดงามเรียกว่าบายศรีประกอบด้วย เครื่องเซ่นไหว้เพิ่มเติมขึ้นอีก โดยเฉพาะในการต้องรับคนต่างถิ่นหรือผู้มีเกียรติที่มาเยี่ยมเยือน ถ้าเป็นงานต้อนรับขนาดใหญ่มากนักจะมีขบวนแห่ด้วย

ประวัติการทำบายศรีทูลพระขวัญและสู่ขวัญ ของจังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ทำกันมานานแล้ว เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้นั้น มีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการผู้ใหญ่ที่เดินทางมาราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังเคยได้บันทึกไว้ว่า “ เฉพาะแต่การต้อนรับสู่ขวัญและพาชมเมืองก็หมดวันเสียแล้ว ” ในระยะต่อมาพิธีทูลพระขวัญที่ควรจะได้กล่าวถึง และเป็นประวัติการของจังหวัดเชียงใหม่ คือพิธีทูลพระขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระราชวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙