ประเพณีล้านนา - แห่ครัวทาน (อ่าน “ แห่คัวตาน ”)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

แห่ครัวทาน (อ่าน “ แห่คัวตาน ”)

งานแห่ครัวทาน เป็นกิจกรรมเก่าแก่ของล้านนา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมทางศาสนา คือการที่ศรัทธาชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อนำเอาเครื่องไทยทานที่จัดทำขึ้นไปถวายแก่พระสงฆ์ในงาน พอยหลวง ( อ่าน “ ปอยหลวง ” ) คืองานฉลองถาวรวัตถุในวัดนั้น เช่น งานประเพณีฉลองสมโภช โบสถ์ วิหาร กุฏิ หรือถาวรวัตถุที่สำคัญของพุทธศาสนา ถือว่าบุคคลที่ได้ร่วมการแห่ครัวทานนี้ จะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก

ครัวทานที่นำไปแห่เข้า วัดนั้นแยกเป็นสองประเภท คือ ครัวทานบ้านและครัวทานหัววัด ครัวทานบ้าน คือครัวทานที่ชาวบ้านซึ่งเป็นศรัทธาในสังกัดของวัดที่จัดงานอยู่นั้นเป็นผู้ จัดไปถวายวัด ซึ่งครัวทานบ้านนี้มักจะประกอบด้วยวัตถุเครื่องใช้ในวัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามหรือเสื่อ เป็นต้น ปกติชาวบ้านจะแห่ครัวทานบ้านไปถวายในวันแรก และวันที่สองจะมีงานฉลอง ส่วนครัวทานหัววัด คือครัวทานหรือองค์เครื่องไทยทานจากหัววัดหรือวัดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กันจะมาร่วมทำบุญในวันที่สองและที่สามหรือวันสุดท้ายของงานครัวทานหัววัดนี้ อาจจัดมารอมทาน ( อ่าน “ ฮอมตาน ” ) คือมีทั้งชนิดที่มีแต่เครื่องไทยทานมากับพระหรือเณรพร้อมกับชางบ้านนั้นสอง สามคนมาเพื่อสืบไมตรีกันเล็กน้อยโดยไม่มีขบวนแห่ และมีทั้งที่จัดขบวนแห่มาอย่างเต็มรูปแบบ

ต้นครัวทานหรือองค์ เครื่องไทยทาน ไม่ว่าจะเป็นต้นถ้วยหรือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ถ้วยชามมาจัดแต่งเป็นหลัก ต้นผ้า คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ผ้าของสงฆ์มาจัดขึ้น ต้นเก้าอี้คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้เก้าอี้มาประกอบขึ้น หรือชองอ้อยหรือกระบะมีขาสูงเสมอเอวและมีขาตั้งสี่ขา ซึ่งในกระบะนั้นบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ และมีต้นดอกหรือพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ที่มียอดคือไม้ตับหนีบธนบัตรเสียบไว้ ชาวบ้านจะนำครัวทานของตนที่จัดขึ้นมาพร้อมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดแล้วจัด เครื่องประโคมฆ้องกลองแห่แหนนำเครื่องไทยทานตามกันไปสู่วัด ตามเส้นทางนั้นชาวบ้านมักจะฟ้อนรำทั้งด้วยความปิติหรือเพราะฤทธิ์สุรา ส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราวโกลาหลจนเข้าถึงวัด เมื่อครัวทานถึงวัดแล้วปู่อาจารย์จะนำชาวบ้านไหว้พระรับศีลและกล่าวคำสมมา ครัวทานแล้วจึงประเคนเครื่องไทยทานถวายพระ ถ้าต้นครัวทานมีขนาดใหญ่มากก็อาจใช้พานดอกไม้ถวายแทนก็ได้ พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าพอร ( อ่าน “ เจ้าปอน ” ) คือผู้มีโวหารก็จะกล่าวให้พรด้วยโวหารที่ไพเราะอลังการเพื่อฉลองศรัทธาของ ชาวบ้าน

ในกรณีที่ครัวทานนั้น เป็นครัวทานหัววัด คือองค์เครื่องไทยทานที่หัววัดหรือพระสงฆ์และศรัทธาจากวัดที่มีความสัมพันธ์ กับวัดเจ้าภาพเคลื่อนขบวนแห่มานั้น มักจะเป็นขบวนที่ค่อนข้างวิจิตร อาจมีช่อช้างหรือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นำหน้า มีพระสงฆ์และปู่อาจารย์ ถือ ขันนำทาน ซึ่งเป็นพานข้าวตอกดอกไม้ สำหรับนำไปถวายแทนที่จะถวายเครื่องไทยทานทั้งชุดนำหัวขบวน มีช่างฟ้อนและเครื่องดนตรีแห่มามีคณะศรัทธาแห่เครื่องไทยทานเข้าสู่วัด ฝ่ายเจ้าภาพเมื่อเห็นครัวทานหัววัดเข้ามาแล้วก็จะไปต้อนรับ ทั้งที่เป็นแบบการรอมทานและการแห่ครัวทานเข้าวัด คือในส่วนที่หัววัดแห่ครัวทานมานั้น ฝ่ายเจ้าภาพก็จะจัดฟ้อนต้อนรับ มีคนนำช่อช้างคือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ไปรับขบวนแห่ มีคนนำสัปทนไปกั้นให้แก่พระสงฆ์ที่นำขบวน มีคนไปช่วยหามฆ้องกลองและช่วยหามเครื่องไทยทาน และมีผู้นำพานดอกไม้ไปอาราธนาขบวนให้เข้าสู่วัดอย่างสมเกียรติ

ในวันสุดท้ายที่มีการแห่ ครัวทานเข้าวัดนั้นจะมีการนิยมนต์พระสงฆ์จากหัววัดมาค้างคืนเพื่อร่าวมอบรม สมโภชนพระพุทธรูปทั้งเก่าและใหม่ พระสงฆ์ที่มานั้นจะร่วมสวดมนต์ตั้งลำ สงดเบิกพระเนตร เทศน์มหามังคลสูตร ปฐมสมโพธิ ธัมมจักก์และพุทธาภิเษก ในตอนดึกเรื่อยไปจนถึงสว่าง จะมีพิธีสวดเบิกพระเนตรพระพุทธรูปอีกด้วย

เมื่อเสร็จงานพอยหลวง แล้ว เจ้าอาวาสจะพาศรัทธาชาวบ้านนำเครื่องไทยทานไปถวายแก่พระที่เป็นเจ้าพอรเป็น การขอบคุณที่ได้ช่วยงาน ซึ่งบางครั้งอาจแห่เครื่องไทยทานไปเป็นการเอิกเกริกก็มี

การแห่ครัวทานที่เห็นได้ ใน พ . ศ . 2537 นี้ บางแห่งยังจัดให้มีการประกวดครัวทานอีกด้วย ซึ่งในการประกวดนั้นอาจประกวดความงดงามของครัวทาน ประกวดความเรียบร้อยของขบวน และประกวดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบครัวทานอีกด้วย

มีธรรมเนียมอีกประการ หนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันมา คือเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจงานพอยหลวงแล้ว ทางวัดจะนิมนต์เจ้าอาวาสให้ไปหลีกเคราะห์อยู่ที่วัดอื่นระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเพราะให้ทานได้พักผ่อนหลังภาระงานหนัก หรืออาจไม่ต้องการให้มีคนรบกวนท่านก็ได้