วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เทศน์มหาชาติ


 
การเทศน์มหาชาติ    เป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกภาคของประเทศ

           ซึ่งถือปฎิบัติสืบด่อกันมาเป็นเวลาช้านานจนเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของสังคมชาวพุทธไทย   โดยมีความเชื่อว่า   การฟังเทศน์มหาชาติทำให้ผู้ฟังได้บุญมาก  และในขณะที่ฟังก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย  ถ้ายิ่งพระเทศน์เสียงดี ๆ    ก็ยิ่งทำให้ฟังซาบซึ้งยิ่งขึ้น  เทศน์มหาชาติเป็นงานใหญ่  ไม่มีใครสามารถจัดให้มีขึ้นมาได้โดยลำพังวัดใดจะจัดให้มีเทศน์มหาชาติจะต้องเริ่มด้วยการระดมกำลังคน  ประชุมปรึกษาหารือแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ  วางแผนดำเนินงานไว้แต่เนิ่น ๆ   เช่น   จัดทำความสะอาดบริเวณวัด   ประดับตกแต่งธรรมาสน์  ศาลาการเปรียญ  เตรียมหาต้นกล้วยต้นอ้อย ตลอดทั้งจัดทำธงทิวประดับประตูกำแพงวัด  เป็นต้น  จัดได้ว่าเป็นงานใหญ่ในรอบปีเลยทีเดียว  การเตรียมงานเทศน์มหาชาติ  จึงเป็นประเพณีที่สร้างสรรค์ความสมานสามัคคีของประชาชน  ทำให้ประชาชนรู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ  รู้จักแบ่งหน้าที่และรับผิดชอบร่วมกัน
           
คำว่า   “   เทศน์มหาชาติ   “       ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(๒๕๔๒:๕๔๐:๘๓๘)   ให้ความหมาย  “เทศน์”   ว่าการแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา  และ  “มหาชาติ”  น.  เรียกเวสสันดรชาดกว่า  มหาชาติ มี  ๑๓  กัณฑ์.   การมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชากดเรียกว่า  มีเทศน์มหาชาติ

           
           เทศน์มหาชาติเป็นการพรรณาถึง  “   เรื่องพระเวสสันดรชาดก “    คำว่า”  ชาดก “  นั้นเป็นชื่อเรียกคัมภีร์ประเภทหนึ่งของพุทธศาสนา  ที่กล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้า  เป็นคำสอนประเภทบุคลาธิษฐาน  คือยกตัวละครขึ้นมาเล่าแล้วสอดแทรกคำสอนเข้าไปในการเล่าเรื่องนั้น  ๆ ชาดกมีอยู่มากมาย  แต่ที่นับว่าสำคัญที่สุดมีอยู่  ๑๐  ชาดก หรือสิบชาติ  ตามที่นิยมเรียกกันว่า  “ พระเจ้าสิบชาติ  “   ในแต่ละชาติพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ กัน  เพื่อมุ่งหวังที่จะให้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ

           การบำเพ็ญบารมีก็คือการกระทำความดี  ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล  เป็นเรื่องเฉพาะตัว  ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นหรือส่วนร่วม  แต่ตามความเป็นจริงแล้วการบำเพ็ญบารมีนั้นย่อมจะทำให้เกิดผลดีทั้งแก่ตัวผู้กระทำและประชาชนโดยส่วนรวมโดยแท้  เช่น  “  การบำเพ็ญสัจจะบารมี  “  ผู้บำเพ็ญยึดมั่นแต่เฉพาะความเป็นจริง  ความเที่ยงตรง บุคคลอื่นได้รับผลก็คือ  ไม่ถูกหลอกลวง  เป็นต้น  อนึ่ง การบำเพ็ญบารมีนั้น  แบ่งออกเป็น     ๓ ชั้น  หรือ  ๓ ระดับคือระดับธรรมดาชั้นต้น ๆ เรียกว่า  “  บารมี  “  ระดับสูงคือระดับที่ทำได้ค่อนข้างยากเรียกว่า  “  อุปบารมี  “  และระดับสูงสุดคือระดับที่บุคคลซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ไม่สามารถจะทำได้เรียกว่า  “  ปรมัตถบารมี “

          เทศน์มหาชาติ  คือ  เทศนาเวสสันดรชาดก  ถือเป็นงานบุญพิธีที่สำคัญ  เป็นประเพณีที่มีคุณค่าที่ต้องสืบทอดที่นิยมจัดให้มีการมาแต่โบราณ  ส่วนมากจัดให้มีในวัด  เป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น  ๆ  จะตกลงร่วมกันจัด  ปกติจัดหลังวันออกพรรษาและพ้นหน้าทอดกฐินไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว  ส่วนใหญ่ทางภาคกลางนิยมทำกันในวันขึ้น   ๘  ค่ำหรือวันแรม  ๘  ค่ำ  กลางเดือนสิบสอง ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์  จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง

            ทางภาคเหนือนิยมจัดเทศน์ในเดือนยี่  นอกจากจะเป็นประเพณีลอยกระทงแล้ว  ยังมีประเพณี "ตั้งธัมม์หลวง" หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ  เพราะธรรมหลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก  อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติแลวตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา   มีทั้งหมด   ๑๓    กัณฑ์    คำว่า  “ตั้ง  “  แปลว่าเริ่มต้น  การ ตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง  การตั้งธรรมหลวงนี้  จะจัดขึ้นในเดือนเพ็ญที่เรียกว่าเดือนยี่เพง  (ยี่เป็ง)  คือวันเพ็ญเดือน  ๑๒   จะมีการเตรียมงานมากมาย  นับตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นพิธีใหญ่คู่งานทานสลากภัตต์  ดังนั้นจึงมีคตินิยมว่า  ในวัดหนึ่งนั้นปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง  และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลกภัตต์นอกจากเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกแล้ว  ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา  โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด  ทศชาติชาดกปัญญาสชาดก  หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง  “มหาชาติ”     หรือเวสสันดรชาดก  ซึ่งมีความเชื่อกันว่า  หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ  ๑๓  กัณฑ์  จะไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยะเมตไตรยในอนาคตเช่นกัน  ซึ่งหากเป็นธรรมที่มีใช่เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน  ๓ วัน  แต่หากเป็นเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังเทศน์ต่อเนื่องกันไปถึง  ๗    วัน  โดยแบ่งการเทศน์เป็นวันแรกเทศน์ธรรมวัตร  วันที่สองเทศน์คาถาพัน  ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย  ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ  มาลัยต้น   มาลัยปลาย  และอานิสงส์มหาชาติ  รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป  จนครบทั้ง  ๑๓  กัณฑ์  ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ  แล้วจะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ  สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ  ธัมมจักกัปปวัดตสูตร  และสวดพุทธาภิเษก  ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว

            เจ้าของกัณฑ์จะนิมนต์พระที่เทศน์เฉพาะกัณฑ์นั้น  ๆ มาเทศน์ เรียก “เทศน์กินกัณฑ์  “
ทำนองที่ใช้เทศน์แบบพื้นเมืองเรียกตามแบบลานนาว่า  “ระบำ”  การเรียกชื่อกัณฑ์  ทางภาษาเหนือเรียกว่า  “ผูก” ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม  จึง มีนักปราชญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่นฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร  เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า “คาถาพัน”

ข้อมูลจากหนังสือ :: เทศน์มหาชาติ ฉลองราชย์หกสิบทัศ สิริสวัสดิ์รัชสมัย