วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

สิ่งของล้านนา : ยอย (อ่าน “ ญอย ”)
 

ยอย คือ เครื่องชั่งโบราณชนิดหนึ่งของล้านนา ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีแหล่งกำเนินจากที่ใด คงทราบกันแต่เพียงว่ายอยเป็นเครื่องของคนโบราณทางภาคเหนือ ยอยมีคันชั่งจานสำหรับชั่งน้ำหนักของทองหรือเงิน ต่อมาภายหลังชาวเขาได้นำมาใช้ชั่งฝิ่นด้วย

อนึ่งยอยแปลว่าส่วนปลายหรือส่วนปลายที่มีการกระดิกไปมาได้ คงจะอาศัยลักษณะของคำนี้มาใช้ตั้งชื่อเครื่องชั่งล้านนา เพราะในการชั่งน้ำหนักจะใช้ส่วนปลายเป็นเครื่องตัดสินโดยสังเกตที่ส่วนปลาย ว่าอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่

ส่วนประกอบสำคัญของ ยอย คือ ตัวยอย และลูกเป้ง

1. ตัวยอย ประกอบด้วยคันชั่ง และจานสำหรับใส่ลูกเป้ง และวัตถุที่ต้องการชั่ง

2. ลูกเป้ง คือ ลูกตุ้มถ่วงน้ำหนักที่ใช้เป็นมาตรฐานในการชั่ง จะใช้วางบนจานถ่วงข้างหนึ่งของคันชั่ง ส่วนบนจานอีกข้างจะใช้วางสิ่งของที่ต้องการจะเทียบน้ำหนัก เช่น ทอง เงิน และฝิ่น

ลูกเป้ง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลูกสับ หรือ ลูกเม็ดทำจากทองสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองเหลืองและดีบุก นอกจากนี้ยังอาจใช้โลหะอื่นนำมาผสมกัน ได้แก่ เงิน นาก ทอง และทองแดง คนโบราณเชื่อกันว่าก่อนที่จะมีการทำลูกเป้งหรือลูกเม็ดจะต้องผ่านพิธีกรรม ทางไสยศาสตร์มาก่อนเพื่อให้เกิดความขลัง และเป็นมงคลทางการค้า

ลักษณะของลูกเป้ง
ส่วนใหญ่จะทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า ฯลฯ นอกจากนี้ลูกเป้งอาจมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ มีฐานแบบคล้ายกับผลชนิดหนึ่งที่ชื้อว่าลูกประคำ การทำลูกเป้งเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้มิได้มีจุดประสงค์อื่นใด นอกเหนือจากความสวยงาม ลูกเป้งจะมีหลายขนาดตามแต่จะใช้ในการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างกันไป

วิธีการใช้ เนื่องจากยอยเป็นคันชั่ง ซึ่งมีจานถ่วงข้างละ 1 ใบ เมื่อต้องการชั่งน้ำหนักของวัตถุ ก็จะนำวัตถุวางไว้บนจานถ่วงข้างหนึ่ง ส่วนจานอีกข้างหนึ่งใช้สำหรับวางลูกเป้งขณะชั่ง หากส่วนที่อยู่บนสุด ซึ่งเรียกว่าลิ้นยอย เอนไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าน้ำหนักระหว่างลูกเป้งและวัตถุที่ชั่งไม่เท่ากัน แต่ถ้าลูกเป้งและวัตถุที่ชั่งมีน้ำหนักเท่ากัน ลิ้นยอยจะตรงไม่เอนไปข้างใดข้างหนึ่ง

ยอยนี้จะถูกเก็บไว้ในตลับไม้ที่มีการแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ อาทิ รูปช้าง รูปหอย ฯลฯ ชาวล้านนาเรียกว่า กับยอย ส่วนลูกเป้งจะนำไปใส่ไว้ในถุงเป้ง (ถุงผ้าดิบรูปทรงคล้ายย่ามที่ปากถุงมีห่วงเงินเล็ก ๆ หลายห่วงร้อยเชือกไว้ ส่วนปลายเชือกจะมีลูกปัด หรือลูกแก้วผูกอยู่) (ดูประกอบที่ กับยอยและเป้ง)
(เรียบ เรียงจากบทความ “ ยอย...มรดกแห่งวัฒนธรรม ” จากหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว ฉบับพิเศษ ปีที่ 12 หน้า 6 (ฉบับวันพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 22 พ.ศ. 2533)