วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

สิ่งของล้านนา : หัมยนต์


หัมยนต์
เป็นคำที่สันนิษฐานขึ้นจากรูปศัพท์เดิม โดยแปลว่า “ ส่วนปลายของปราสาทโล้น ” ซึ่งเห็นได้ว่าชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมในลักษณะเดียวกันนี้ยังพบที่หน้าบัน ของวิหารด้วยเช่นกัน หากเขียน “ หำยน ” ตามที่พบทั่วไปนั้น มักได้รับคำอธิบายว่าเป็นคำซึ่งประกอบด้วย หำ และ ยนต์ บางคนเรียก หำโยน หรือ ห้ามโยน ก็มี “ หำ ” เป็นศัพท์ไทยวน (โยนกคำเมือง) แปลว่าอัณฑะ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งรวมแห่งพลังของบุรุษ ยนมาจากรากศัพท์สันสกฤตว่ายนตร์ มีความหมายว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำหรับปกป้อง ป้องกันรักษา “ หำยน ” ตามทัศนคติของล้านนามีไว้ เพื่อทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ป้องกัน และขับไล่ภยันตรายต่างๆ จากภายนอก มิให้ผ่านประตูเข้าไปในตัวเรือนหรือห้องนอน เป็นการป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ที่หลับนอนภายในห้องนั้น ซึ่งผู้วิจัยได้สอบถามเจ้าของเรือนกาแลบางแห่ง ได้รับคำบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหัมยนต์ เมื่อมีการขายบ้านเหล่านี้ก่อนย้ายเข้าหรือรื้อถอน เจ้าของบ้านคนใหม่จะตีหัมยนต์แรงๆ (ภาษาล้านนาคำว่า บุบ แปลว่าทุบตี) เพื่อทำลายความขลัง การทุบตี “ หำยน ” เปรียบเสมือการตีลูกอัณฑะวัวหรือควายในการทำหมันในสมัยก่อน ซึ่งเป็นการทำให้หมดสมรรถภาพ การหมดความศักดิ์สิทธิ์ของหัมยนต์ ก็เฉกเช่นกัน เช่นเดียวกับรูปของเรือนที่ว่าพม่าบังคับให้ทำคล้ายโลงศพ มีผู้กล่าวว่า “ หำยน ” เป็นอัณฑะของคนพม่าที่ติดไว้เหนือประตู เมื่อเจ้าของบ้านหรือผู้คนในบ้านเดินเข้าออก ต้องลอดใต้อัณฑะ ซึ่งเป็นการข่มทำลายจิตใจมิให้กระด้างกระเดื่องต่อพม่า ความยาวของหัมยนต์หรือความกว้างของประตูเรือนถูกกำหนดโดยการวัดความยาวเท้า ของเจ้าของบ้าน เช่น ยาวเป็น ๓ หรือ ๔ เท่า

  • ในแง่หัมยนต์ที่ใช้ประดับในบ้านเรือนนั้น จะมีลักษณะเป็นแผ่นไม้ซึ่งแกะสลักลวดลายอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับ ไว้เหนือประตูห้องนอน เชื่อกันว่าหัมยนต์สามารถให้คุณแก่ผู้เข้าใจปฏิบัติ หรือแสดงคารวะอย่างถูกต้อง และในทางกลับกันก็อาจให้โทษได้ด้วย ดังนั้นในการประดิษฐ์หัมยนต์ จึงมีขั้นตอนหรือพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือนและผู้อยู่อาศัย หัมยนต์จะทำขึ้นพร้อมกับการสร้างบ้านใหม่ โดยที่เจ้าของบ้านจะกำหนดให้ความกว้างของประตูและความยาวของแผ่นไม้นั้นเท่า กัน โดยใช้ความยาวของเท้าเป็นมาตรฐานวัดตามแต่ประสงค์ เช่น “ บุคคลที่เป็นนาย ช้าง ให้ทำประตูกว้าง ๕ ช่วยเท้า คนที่เป็นนาย ม้า พ่อค้า และไพร่น้อย ให้ทำประตูกว้าง ๓ ช่วงเท้ากับอีก ๓ ช่วงหัวแม่มือ ” เมื่อหาแผ่นไม้ที่จะทำหัมยนต์ได้แล้ว ก็จะนำแผ่นไม้นั้นมาทำพิธี “ ถอน ” เสียก่อน โดยให้อาจารย์ผู้มีวิชาหรือพระเถระรดน้ำมนต์ลงบนไม้ ซึ่งบางท่านกล่าวว่าเมื่อ “ ถอน ” แล้วจะต้องนำแผ่นไม้ไปผูกกับเสาเอกของบ้านด้วย ลวดลายที่แกะสลักบนหัมยนต์นั้น จะเป็นไปตามที่ช่างและเจ้าของบ้านจะร่วมกันกำหนด เมื่อสร้างบ้านนั้นเสร็จแล้วจึงจะนำ หัมยนต์ ไปติดไว้เหนือประตูห้องนอนดังกล่าว ซึ่งก่อนจะติดหัมยนต์เข้าที่จะต้องทำพิธียกขันตั้งหลวงเสียก่อน ในพิธีนั้นจะต้องมีเครื่องคารวะอันประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู ผ้าขาวผ้าแดง สุราและอาหารคาวหวานตามอัตรา และให้ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ให้มาปกป้องบ้านเรือน และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น

  • หัมยนต์ ที่ใช้ประดับในอาคารพุทธศาสนานั้น จะติดอยู่ใต้ขื่อ ซึ่งจะอยู่เหนือทางเข้าสู่วิหารหรืออุโบสถ มีลักษณะเป็นแผ่นไม้ซึ่งแกะสลักลวดลายอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยที่ชายด้านล่างอาจมีการประดิษฐ์ให้โค้งหรือเว้าตามแต่จะเห็นงาม ซึ่งบางครั้งอาจมีการประดิษฐ์ให้โค้งหรือเว้าตามแต่จะเห็นงาม ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายโก่งคิ้ว หรือ รวงเผิ้งก็ได้ ซึ่งหากเป็น “ หำยน ” หรืออัณฑะศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ไม่น่าที่จะมาเป็นส่วนประกอบของศิลปกรรมทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะอยู่ในตำแหน่งที่พระสงฆ์จะต้องลอดผ่านไปมาเช่นนี้

  • หัมยนต์ เท่าที่สำรวจพบนั้น มีทั้งเป็นไม้แผ่นเดียวแกะสลักลวดลาย และใช้ไม้สองแผ่นคือแผ่นบนมีความกว้างน้อยกว่าแผ่นล่าง ฉลุลาย เขียนลาย หรือแต่งเป็นบัวติดเสริมไม้หัมยนต์ตัวล่างให้ความสวยงามหรือมีความแปลกเด่น เพิ่มขึ้น ในบรรดาเรือนไทยทุกประเภท จะมีแต่เรือนกาแลเท่านั้นที่มีหัมยนต์ประดับอยู่ ดังนั้นจึงถือว่าหัมยนต์เป็นเอกลักษณ์ของเรือนประเภทนี้



ทั้งนี้อาจแบ่งรูปทรงของหัมยนต์ได้ ดังนี้

๑. รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แกะสลักลวดลายภายใน

๒. รูปทรงมีขอบล่างโค้งเว้า ส่วนขอบบนตรง การโค้งเว้าของขอบล่างมีได้ต่างๆ แต่อย่างน้อย ๒ โค้งเว้าทำให้ขอบล่างตรงกลางยื่น และแบบที่มีหลายโค้งเว้าก็มี

ดัง ได้กล่าวแล้วว่าโดยทั่วไปหัมยนต์ทำด้วยไม้แผ่นเดียว แต่มีเรือนจำนวนหนึ่งที่หัมยนต์ประกอบด้วยไม้ ๒ แผ่น พบว่าเกือบทั้งหมดแผ่นบนเล็กกว่า ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเสมอ มีความยาวเท่าแผ่นล่างแต่ความกว้างน้อยกว่า ตรงแนวต่อของทั้งสองแผ่นจะมีไม้เหลี่ยมขนาดเล็กปิดแนวด้านหน้า โดยยาวเท่าหัมยนต์ ไม้นี้เรียกว่า กระดูกงู หัมยนต์แผ่นล่างส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าแผ่นบน มีทั้งรูปร่างสี่เหลี่ยมหรือขอบล่างโค้งเว้า

ลวด ลายการแกะสลักของหัมยนต์ พบว่า มีมากมายหลายชนิดที่สวยงามเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมหรือเป็นลวดลายเรียบง่ายแบบ ศิลปะพื้นบ้าน โดยส่วนรวมลวดลายต่างๆ เหล่านี้แตกต่างจากภาคอื่นๆ กล่าวคือ เป็น ลวดลายของศิลปะล้านนาโดยตรง แต่อาจมีศิลปะของภาคกลางผสมหรือมีอิทธิพลศิลปะพม่าแฝงอยู่ บางครั้งพบว่ามีการปะปนผสมหรือมีอิทธิพลศิลปะพม่าแฝงอยู่ บางครั้งพบว่ามีการปะปนผสมผสานของลวดลายต่างๆ เหล่านี้ด้วย ทำให้มีลีลาแปลกออกไปเป็นความงามอีกแบบหนึ่ง จากงานแกะสลักไม้ที่มีอยู่ทั่วประเทศ พบว่ามีมากที่สุดในภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะนอกจากงานแกะสลักหัมยนต์แล้ว ยังมีงานแกะสลักไม้ตามส่วนต่างๆ ของโบสถ์ วิหาร เป็นต้น งานลวดลายแกะสลักหัมยนต์บางชิ้นบ่งบอกถึงอิสระในการผูกลาย นอกจากมีการผูกลายที่แยบยลแล้ว ลายที่เรียบง่ายก็พบได้ มีผู้สนใจเกี่ยวกับหัมยนต์บ้างพอสมควร โดยมีบทความและรูปภาพหัมยนต์จำนวนมากตีพิมพ์ในวารสารของสยามสมาคมเป็นภาษา อังกฤษ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ แต่ก็มิได้มีข้อวิจารณ์ถึงลักษณะลวดลายเลย เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้รวบรวมรูปภาพพร้อมคำบรรยายเป็นรูปเล่มหนังสือออก จำหน่าย นับเป็นการผดุงและเชิดชูศิลปะล้านนาไว้อย่างดี อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยขอจำแนกลายกนกแกะสลักหัมยนต์ ดังนี้

ก.หัมยนต์ชนิดมีแผ่นเดียว หรือถ้ามี ๒ แผ่น เฉพาะแผ่นล่างซึ่งส่วนมากเป็นแผ่นใหญ่ จำแนกลายแกะสลักได้ ๖ ชนิด คือ

๑. ลายกระหนก เป็นรูปแบบลวดลายหัมยนต์ที่พบมากที่สุด โดยมีส่วนประกอบสำคัญของลายที่พบบ่อยที่สุด ๒ ส่วน คือ

๑.๑ จุดกึ่งกลางของลวดลายทำเป็นลายดอกชนิดต่างๆ คือดอกพุ่มข้าวบิณฑ์ ดอกไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ดอกพุดตาน ดอกประจำยาม ดอกจัน ดอกตาขะหนัด (ลายตาสับปะรด) และดอกนอกรูปแบบต่างๆ ดอกชนิดต่างๆ ที่กล่าวมานี้เป็นรูปแบบของดอกตามทัศนะของลายไทยทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเหมือนดอกตามธรรมชาติอยู่บ้าง ลักษณะลายดอกต่างๆ จะได้กล่าวในรายละเอียดอีกภายหลัง

๑.๒ องค์ประกอบของลวดลายที่แยกจากลายดอกตรงกลางออกทั้งสองข้าง โดยใช้เถาหรือก้านเป็นตัวเชื่อม ที่สำคัญและพบบ่อยมีลักษณะเป็นลายเครือเถา ลายก้านขด หือลายผักกูด นอกจากนี้ยังมีลายดอกชนิดต่างๆ แต่ขนาดเล็กกว่า รวมทั้งใบและลายกระหนกชนิดต่างๆ แซมอยู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นลายกระหนกเหงา อันเป็นต้นแบบของกระหนกสามตัว

เพื่อ เป็นการง่ายที่จะเข้าใจถึงลักษณะลายไทย จึงขอกล่าวถึงพื้นฐานลายกระหนกไว้พอสังเขป คือตัวกระหนกประกอบด้วยตัวเหงาสามตัวเกี่ยวซ้อนกัน แต่ละตัวมีลักษณะสามเหลี่ยมและทั้งสามตัวก็บรรจุไว้ในสามเหลี่ยม และถ้าจะซอยเล็กลงไป ตัวเหงาแต่ละตัวก็สามารถแบ่งเป็นเหงาได้สามตัวเล็กลงไปเรื่อยๆ การผูกลายกระหนกล้านนา มีการผูกลายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยบยลเสมอ ให้ความรู้สึกว่าลายเกี่ยวพันกันหมด เนื่องจากลายดอกที่อยู่กึ่งกลางของหัมยนต์มีขนาดใหญ่กว่าดอกหรือลายอื่นที่ เหลือ และยังมีความละเอียดสวยงามจึงทำให้เกิดเป็นศูนย์กลางของความสนใจ

เนื่องจากลายกระหนกล้านนามีลักษณะพิเศษไม่เหมือนกับของภาคกลางเสียทีเดียว แม้ว่าบางรูปแบบจะคล้ายกันก็ตาม จึงเห็นสมควรกล่าวถึงกระหนกล้านนาที่ต่างจากของภาคกลางไว้ ดังนี้

ก. กระหนกหงอนไก่ ตัวกระหนกที่ต่อกับก้านมีลักษณะเชิด หัวโตและหางโค้งงอนเหมือนหงอนไก่

ข. กระหนกเหงาสามตัวหางรวน มีรูปแบบเป็นกระหนกเหงาสามตัวของภาคกลาง แต่หัวม้วนขอด หางโค้งงอน

ค. กระหนกชิงหาง เป็นกระหนกที่เรียบง่าย ตัวผอมจับคู่สลับหัว-หางกัน

ง. กระหนกผักกูด ก้านขดฝักมะขามเทศโดยมีหัวขดเป็นหยักๆ สลับกับกระหนกหัวขอด หางตวัดโค้งงอนมาก

จ. กระหนกคาบ ซึ่งเป็นกระหนกจับตัวก้านมีลักษณะหัวขอด ปลายหางตวัดโค้ง มี ๒ ชนิด คือ หัวหนึ่งขมวดและสองขมวด

กระหนกชนิดหัวหนึ่ง ขมวดนี้ มีลักษณะคล้ายที่พบบนบานเฟี้ยมแกะสลักที่พิพิธภัณฑ์สงขลา ซึ่งเป็นจวนเจ้าเมืองเก่า อาคารแบบจีน อาจกล่าวได้ว่ากระหนกในข้อนี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากจีนไม่มากก็น้อย

สำหรับกระหนกหัวสองขมวด มีลักษณะคล้ายกระหนกเมฆไหล จึงอาจจัดเป็นกระหนกเมฆก็ได้

ฉ. กระหนกชนิดที่มีหัวขอดกลมโตเป็นก้นหอย ส่วนปลายโค้งงอนมาก

นอกจากนี้ยังมีกระหนกลายเมฆและเมฆไหลชนิดต่างๆ ซึ่งจะกล่าวในข้อถัดไป

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ กระหนกล้านนาอีกอย่างหนึ่งคือ การตวัดของหางกระหนกนั้นมีอิสระมาก คือจะตวัดโค้งงอนมาทางที่หัวกระหนกขมวด หรือทิศทางตรงกันข้ามก็ได้ แล้วแต่ความกลมกลืนของลาย

๒. ลายเครือเถา ในกลุ่มนี้ได้จัดลวดลายที่เรียกลายเครือเถา ลายก้านขด ลายกาบหมากและลายผักกูดเข้าไว้ด้วยกัน ได้พบว่ามีหัมยันต์จำนวนหนึ่งมีการแกะสลักลวดลายใดลวดลายหนึ่งหรือผสมกัน และไม่มีลายดอกอยู่เลย หรือมีเพียงดอกๆ เดียวอยู่ตรงกลาง แต่เน้นที่ก้านลายและใบ รวมทั้งมีรัดก้านเป็นแห่งๆ เช่นเดียวกัน ตัวก้านจะพันเกี่ยวกันคล้องจองต่อเนื่องอย่างแยบยล ก้านลายใหญ่เซาะร่องทำให้ดูเหมือนซ้อนกันหลายชั้น และมักแยกออกเป็นใบเลย ช่อใบมักโค้งงอแบบผักกูด เนื่องจากมีรัดก้านซึ่งทำให้ส่วนนั้นคอดลง ส่วนถัดไปจึงสามารถแผ่ออกได้ ดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

ลายในกลุ่มนี้ต่างจาก ชนิดแรก คือไม่มีลายดอกหรือมีเพียงดอกเดียว เน้นที่ก้านและใบโดยทำให้ใหญ่และซ้อนกันหลายชั้น และไม่มีลายกระหนกตัวเหงาอยู่เลย บางครั้งเป็นการยากที่จะแยกลายชนิดที่ ๑ และที่ ๒ ออกจากกัน เพราะอาจจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ได้ เช่น ถ้าตัวก้านลายเป็นก้านขดแต่ใบหรือกาบใบมีลักษณะเป็นกระหนกหัวขอดเป็นจำนวน มากแล้ว ศ.นพ. เฉลียว ปิยชน ซึ่งเป็นผู้วิจัย จัดไว้ในชนิดที่ ๑ แทน อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดลายเป็นเพียงให้ง่ายในการศึกษาเป็นสำคัญ

๓. ลายเมฆ และ/หรือลายเมฆไหล ดังได้กล่าวแล้ว ลายเมฆและลายเมฆไหลเป็นลายเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาโดยเฉพาะที่เป็นลายแกะ สลักไม้ เท่าที่พบนั้นปรากฏมีลายเมฆไหล ซึ่งเป็นปูนปั้นน้อยมากหรืออาจเรียกว่าแทบไม่มีเลย แต่ก็ได้พบลายเมฆบนแผ่นอิฐที่วัดป่าแดงหลวงมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลักษณะไม่แยบยลนัก และมิได้ผูกลายในรูปแบบลายกระหนกเลย ลายเมฆไหลของหัมยนต์มักผูกลายเป็นเหมือนก้านลายที่ต่อเนื่องกันหมด โดยขดและหยักดูเหมือนเชื่อมโยงไหลไปมา และตวัดกลับอย่างเฉียบพลันทำให้ดูทรงไว้ซึ่งพลัง ตรงบริเวณที่ตวัดกลับจะเป็นหัวขมวด สังเกตว่าเมฆไหล มีการผูกลายหลายแบบมาก แต่ละแบบก็งามแตกต่างกันไป และมีลีลาการผูกลายแยบยลดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ทั้งนี้กระหนกลายเมฆและลายเมฆไหลคงมีอีกมากรูปแบบซึ่งยังพบไม่หมด น่าที่จะได้มีการศึกษากันต่อไป

ลายเมฆไหลอาจแบ่งได้ ๒ ชนิด คือลายเมฆไหลที่มีกระหนก หรือลายดอกปนกับลายเมฆไหลล้วนๆ ไม่มีกระหนกปน

๓.๑ ลายเมฆไหลที่ใช้กระหนกปน ส่วนมากพบว่ามีกระหนกเป็นตัวจับก้านลายเมฆ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับใบจับก้านกระหนก ตัวจับก้านของลายเมฆไหลมีลักษณะตัวกระหนกสามเหลี่ยม (เหงา) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระหนกหัวขอดม้วนพ้นก้าน ส่วนหางแหลมโค้งงอสะบัด นอกจากนี้หัมยนต์บางแผ่นออกแบบให้มีลายดอกไม้ ดอกพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือดอกชนิดอื่นๆ อยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับรูปแบบหัมยนต์ ลายกระหนกดังได้กล่าวแล้วในข้อ ๑ และมีลายดอกเช่นเดียวกับที่อยู่ตรงกลางแซมอยู่ที่ส่วนอื่นของลายด้วยก็พบได้

ลายเมฆที่ใช้กระหนกลายเมฆชนิดต่างๆ ประกอบลวดลาย มีลักษณะเฉพาะของล้านนาและงดงาม เท่าที่ศึกษาพอที่จะจำแนกได้ คือ

ก. กระหนกทักขิณาวัฎ ซึ่งเป็นกระหนกเมฆที่ประกอบในลายเมฆไหลชนิดหนึ่ง โดยเป็นตัวจับลายเมฆเช่นกัน มีลักษณะหัวขอดม้วน ตัวกระหนกหยักและปลายแหลมโค้งงอน

ข. กระหนกลายเมฆก้านขด ดอกมีลักษณะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ในรูปแบบลายเมฆ ปลายดอกขอดกลมและม้วนโค้งเป็นลักษณะงดงามแบบล้านนาโดยแท้

ค. กระหนกเมฆบังรุ้ง เป็นการผูกลายเมฆที่ให้ลักษณะกระหนกหลายตัวสัมพันธ์กัน คล้ายกลีบดอกไม้หลายกลีบ

ง. กระหนกคาบ ชนิดหัวสองขมวด ที่กล่าวแล้วในข้อ จ. ของหัวข้อลายกระหนกอาจจัดเป็นกระหนกเมฆไหลชนิดหนึ่งได้

จ. แบบอื่นๆ

๓.๒ ลายเมฆไหลที่ไม่มีกระหนก หรือดอกชนิดต่างๆ ปนเลย เป็นแต่ลายเมฆไหลโดดๆ ก็พบได้ ลายเมฆไหลนี้น่าจะมีความหมายถึงฝนฟ้าตกต้องตามฤดู ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ พูนสุข นอกจากนี้ ยังมีความงามตามแนวศิลปะล้านนาอีกแบบหนึ่ง อันเป็นความงามซึ่งไม่เหมือนภาคอื่น
๔. ลายดอกไม้ ใบไม้ชนิดต่างๆ เป็นการสลักลายที่ประกอบด้วยดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ มีก้านของดอกและใบเป็นตัวประกอบด้วย รูปแบบของลายที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ก้านและดอกมีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่มีลักษณะของกระหนกอยู่ด้วย ส่วนประกอบที่เป็นดอกนั้น มีหลายรูปแบบและมีหลายๆดอกที่พบได้บ่อย คือ พุ่มข้าวบิณฑ์ ดอกพุดตาน ดอกประจำยาม ดอกใบเทศ (มีชนิดคล้ายภาคกลางและชนิดที่เป็นเอกลักษณ์ล้านนา) ดอกทานตะวัน ดอกเรณู ดอกจันทน์ ดอกสับปะรด มีลักษณะคล้ายลูกสับปะรด เป็นต้น ลายดอกนั้นเป็นดอกบานส่วนใหญ่ดอกตูมมีน้อย เพื่อความเข้าใจถึงลายดอกชนิดต่างๆ จึงขออธิบายลักษณะดอกที่พบบ่อยในลายไทย ลายรับก้านลาย อาจพบเกี่ยวพันสลับซับซ้อนได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับลายชนิดอื่นๆ คือ ก้านลายมีขนาดใหญ่และแกะซ้อนเป็นชั้นๆ และยังมีข้อก้านเป็นกระเปาะใหญ่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของลายหัมยนต์ อีกหลายหนึ่งคือมีก้านขดพันกันมาก ศ.นพ. เฉลียว ปิยชน ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ดอกเรณูที่แกะสลักบนหัมยนต์ เป็นรูปแบบที่งามและไม่มีที่อื่นเหมือน

สำหรับลายที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ อาจมีการผสมผสานกับรูปแบบที่ ๑ ได้บ้าง เช่นเดียวกันมักเน้นที่ก้านให้ใหญ่แต่ที่แกะดอกใหญ่ๆ ก็มีเหมือนกัน ลายในกลุ่มนี้ให้ความสวยงามนุ่มนวลและอ่อนหวานไม่แพ้ลายชนิดอื่น สำหรับความนุ่มนวลอ่อนหวานมีมากกว่า

๕. ลายพญานาค เป็นลายที่แกะสลักให้เหมือนตัวพญานาคหรืองู ขดเกี่ยวพันกันและมีเศียรและหาง เท่าที่พบเศียรพญานาคไม่สลักให้เหมือนพญานาคอย่างที่นิยมสลักหรือเป็นรูป ปั้นที่อยู่ตามวัด แต่มีเค้าโครงคล้ายกัน เศียรพญานาคออกแบบให้เป็นกระหนกเหงาสามตัวแทน สำหรับหางของนาคมีลักษณะเป็นกระหนกเหงาสามตัวเช่นกัน แต่ไม่เน้นเท่าเศียร รูปแบบนี้มีความสวยงาม ทรงพลังและดูไม่เบื่อ เพราะมีการออกแบบที่แยบยล เห็นตัวพญานาคขดพันซ้อนกันและยังดูทรงพลัง นาคยังอาจหมายถึงน้ำที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

๖. ลายอื่นๆ ลายที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้เป็นลายที่มีรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว ซึ่งอาจรวบรวมและจำแนกได้ ดังนี้

๖.๑ ลายเครือเถาแบบยุโรป โดยได้รับอิทธิพลจากต่างชาติทำให้ศิลปะไทยต้องแปรปรวนไป มีข้อสังเกตว่าลวดลายชนิดปัจจุบันพบมากในงานแกะสลักเครื่องเรือน ทำให้บางคนหลงผิดว่าเป็นไทย

๖.๒ ลายประแจจีนเป็นลายของจีน และอาจมีการสริมลายอื่นเข้าปะกอบ เช่น มีดอกแซม

๖.๓ ลายพม่า-ไทใหญ่ เป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากแหล่งของศิลปะใกล้เคียง มีการประดิษฐ์ที่ผสมผสานกับลายไทยดูสวยงามแปลกอีกแบบหนึ่งเช่นกัน มักออกแบบเป็นลายก้านขด

๖.๔ มีรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปสัตว์ตามปีนักษัตร สัตว์ในวรรณคดีโหราศาสตร์ เช่น ราหู (กาละ) และสัตว์ป่า เช่น นก ช้าง เป็นต้น

๖.๕ ลายโบราณอื่น ๆ ซึ่งยากที่จะเรียกได้ถูกต้อง

๖.๖ ลายเบ็ดเตล็ด ซึ่งไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ และบางครั้งออกแบบเองโดยไม่ยึดถือประเพณีนิยมบางครั้งก็ดูสวยงาม บางครั้งก็ดูแปลก บางครั้งก็ดูหยาบเกินกว่าที่จะจัดเป็นงานศิลปะได้

จาก การศึกษาลวดลายของหัมยนต์จำนวนหนึ่ง พบว่าหัมยนต์บางแผ่นสลักขอบรอบ ๆ เป็นลายซ้ำต่อเนื่องกันโดยมีความกว้างไม่มากนัก เช่น เป็นลายรักร้อย ลายเครือเถา เกล็ดนาค กระหนกบ่วงสิงห์ ลายเมฆไหล และลายประแจจีน เป็นต้น

ก. พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นลายที่มีรูปทรงของพุ่มพนมดอกไม้ที่จัดไว้บนพาน โดยมีกรวยใบตองประดับด้วยดอกไม้เช่นเดียวกับทรงพานข้าวบิณฑ์ จึงมีรูปร่างสี่เหลี่ยมตั้งบนมุม มุมบนแหลมยาวกว่าส่วนลวดลายมีต่าง ๆกันได้มากมาย

ข. ดอกพุดตานหรือดอกฝ้าย เป็ดอกที่มีกลีบซ้อนสองชั้น ชั้นในม้วนโค้งเข้า ชั้นนอกโค้งออก

ค.ดอก ประจำยามหรือดอกสี่กลีบ คือมีสี่กลีบเสมอตรงกลางดอกมักเป็นวงกลมซ้อนจำนวนสองชั้น ง-จ ดอกใบเทศคือใบไม้ในรูปแบบของลายไทย ซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ หลาย ๆ หยักก็มี ปลายใบอ่อนช้อยตวัดโค้งก็มี

ง.คือใบเทศที่พบในลวดลายแกะสลัก ไม้หัมยนต์เป็นลายเอกลักษณ์ของล้านนา ส่วน จึงพบได้ทั้งภาคกลางและล้านนา

ฉ. ดอกทานตะวัน มีลักษณะกลีบเล็กยาวจำนวนมากคล้ายดอกจริง มักทำกลีบซ้อนสองชั้น ตรงกลางมีวงกลมสองชั้น พบเฉพาะการแกะสลักของล้านนา

ช. ดอกเรณู มีกลีบเล็กอ่อนโค้งจำนวนมาก บางกลีบปลายขมวดกลางดอกมีวงกลมรีสองชั้น มีลักษณะทั่วไปคล้ายดอกตามธรรมชาติ พบเฉพาะการแกะสลักของล้านนา

ซ. ดอกจันทน์ คือดอกที่มีกลีบมาก กลีบมักมี ๘ กลีบ ปลายกลีบแหลม กลางดอกมักมีข้อกลมช้อนสองชั้น

ฌ. ดอกตาขะหนัด (ดอกสับปะรด) มีลักษณะคล้ายหัวหัวสับปะรดในธรรมชาติ และมีใบประกอบพร้อมหัวจุกที่หัวสับปะรด เป็นเอกลักษณ์ของล้านนา