วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

สิ่งของล้านนา : ขันโตก

ขันโตก หรือโตกเป็นภาษาดั้งเดิม เป็นภาชนะสำหรับวางสำรับอาหาร บ้างเรียกสะโตก มีรูปทรงกลม ความกว้างมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๐ เซนติเมตรขึ้นไป มีเชิงสูงประมาณ ๑ ฟุต มีทั้งขันโตกไม้ และขันโตกหวาย

ขันโตกไม้ มักทำด้วยไม้สักหรือไม้จึงชนิดอื่น ขันโตกไม้แยกออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนใบข้างบน และส่วนขาที่เรียกกันว่าตีน

วิธีขันโตกโดยทั่วไป จะตัดเลื่อยท่อนไม้สักออกเป็นแว่น ความหนาประมาณ ๖ เซนติเมตร นำมาเคี่ยนคือกลึงปากให้กลม แล้วกลึงเจาะลงด้านในให้ลึกลง ๓ - ๔ เซนติเมตรขอบปากหนาประมาณ ๒ เซนติเมตรโดยรอบ เป็นวงกลมอย่างน้อย ๖ รู แล้วใช้ไม้ขนาด ๒ เซนติเมตร ยาว ๒๐ เซนติเมตรกลึงให้กลมและเป็นทรงลูกมะหวดทำเดือยหัวท้าย เดือยมีขนาดใหญ่ ๑ เซนติเมตร ในส่วนที่เป็นตีนขันโตกนั้นให้เอาแว่นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าใบโตกเล็กน้อยมา กลึงให้กลม เจาะข้างในออกให้เหลือเป็นวงกลมส่วนนอก ความกว้างของขอบตีนประมาณ ๓ เซนติเมตร เจาะรู ๖ รู ระยะห่างถี่ของรูเท่ากันกับรูของใบโตก ในการประกอบนั้นให้เอาไม้ตีนที่มีเดือยด้านหนึ่งเสียบเข้ากับรูของใบโตก เดือยอีกด้านหนึ่งเสียบเข้ากับรูของขอบตีน แล้วจึงใช้เศษถ้วยชามเคลือบที่แตกขูดถูให้เรียบทารักลงชาดให้เป็นสีแดง

ขันโตกหวาย
คือขันโตกที่ถักสานด้วยหวาย พื้นของในโตกสานด้วยไม้ไผ่เป็นลายสองปูเป็นพื้น ทำขอบล่างขอบบนด้วยเส้นหวาย ขาหรือตีนใช้เส้นหวายตัดงอขึ้นลง แล้วยึดด้วยหวายให้มั่นคง

ในการใช้งานนั้น ทั้งขันโตกไม้และขันโตกหวายต่างก็ใช้เป็นภาชนะที่วางด้วยอาหารกับข้าว มีใช้กันทั่วไปในภาคเหนือเมื่อใส่กับข้าวแล้วยกมาตั้งสมาชิกในครอบครัวหรือ แขกที่มาบ้านจะนั่งล้อมวงกันกินข้าว นอกจากจะใช้วางถ้วยกับข้าวแล้วยังใช้โตกเป็นภาชนะใส่เข้าของอย่างอื่นด้วย เช่น ใส่ดอกไม้ธูปเทียนแทนขันดอกก็ได้ ใส่เครื่องคำนับเป็นขันตั้งก็ได้ใส่ผลหมากรากกไม้ก็ดี ทั้งนี้ภาชนะที่วางด้วยกับข้าว นอกจากจะใช้ขันโตกแล้วยังใช้กระด้งหรือถาดแบนแทนและเรียกว่าขันเข้า ขันโตกถ้ายังไม่ได้วางถ้วยอาหารเรียกว่า ขันโตก เมื่อวางถ้วยอาหารแล้วก็มักจะเรียกว่า ขันเข้า หรือสำรับอาหาร

ในปัจจุบันขันโตกอาจมีหลายขนาดแล้วแต่การใช้งานทั้งนี้ มณี พยอมยงค์ ได้แบ่งออกเป็น ๓ ขนาด ดังนี้

ขันโตกหลวง หรือ สะโพกหลวง ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ตัดท่อนมากลึงหรือเคี่ยนเป็นขันโตก มีความกว้างประมาณ ๒๕ – ๕๐ นิ้ว ตามขนาดของไม้ที่หามาได้ และนิยมใช้การในราชสำนัก ในคุ้ม ในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือทั่วไป รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามทั่วไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยศศักดิ์และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ปกครองในการ ที่จะใช้เลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองด้วย ส่วนวัดนั้นพระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบนอบ มีประชาชนนำอาหารไปถวายมาก ดังนั้นประชาชนจึงนิยมทำขันโตกหลวงไปถวายวัด

ขันโตกฮาม
หรือสะโตกทะราม เป็นขันโตกขนาดกลางประมาณ ๑๗ – ๒๔ นิ้ว ( คำว่า ฮาม หรือ ทะรามนี้หมายถึง ขนาดกลาง ) ใช้ไม้ขนาดกลางมาตัดและเคี่ยนหรือกลึงเหมือนขันโตกหลวง ลงรักทาหางอย่างเดียวกัน ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้ มักได้แก่ครอบครัวขนาดใหญ่ เช่น คหบดีเศรษฐีผู้มีอันจะกิน หรือถ้าเป็นวัด ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้คือ พระภิกษุในระดับรองสมภาร


ขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ขนาดประมาณ ๑๐ – ๑๕ นิ้ว วิธีทำมีลักษณะเช่นเดียวกับขันโตกหลวงและขันโตกฮาม ใช้ในครอบครัวเล็ก เช่น หญิงชายที่เพิ่งแต่งงานใหม่หรือผู้ที่รับประทานคนเดียว อาหรที่ใส่ก็มีไม่มาก