วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เครื่องแต่งกายล้านนา : ผ้า

ผ้าเป็นเครื่องใช้ที่ สำคัญยิ่งของมนุษย์ประการหนึ่ง ใช้ทั้งในการนุ่งห่มเพื่อความอบอุ่น ใช้นุ่งห่มหรือประดับเพื่อจำแนกเพศ วัย หรือบทบาทหน้าที่ ใช้นุ่งห่มหรือประดับเพื่อความสวยงาม และนุ่งห่มหรือประดับในพิธีกรรม เป็นต้น
ผ้า ได้จากการนำเอาปุยฝ้ายมาปั่น กรอและทอ แล้วนำไปตกแต่งให้ได้ลักษณะตามต้องการ โดยธรรมชาติแล้ว ผ้าจะมีสองสีอันเนื่องจากสีของปุยฝ้าย คือผ้าขาวได้จากปุยฝ้าย สีขาวของฝ้ายชนิด Gossypium herbaceum Linn . ในวงศ์ MALVACEAE ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลาย และปุยจากฝ้ายข่อน หรือฝ้ายตุ่น G.nanking Mey. Var. siamensius Watt. จะเป็นสีน้ำตาลอ่อน

ทั้งนี้ในการทำฝ้ายจากปุยให้เป็นฝ้ายหรือด้าย จะต้องมีอุปกรณ์ดังนี้

•  อีด หรือ อีดด้าย คือเครื่องมือที่ใช้หีบฝ้ายเพื่อแยกเมล็ดออกจากปุย

•  กะลุ่ม ซ้าลุ่ม หรือ สะลุ่น หรือ จะลุ่น คือตะกร้าทึบกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร ใช้เป็นที่ยิงฝ้ายคือดีดฝ้ายที่อีดหรือหีบแล้วให้ฟูเป็นปุย

•  กง หรือ กงยิงฝ้าย (อ่าน “ ก๋ง ” ) คือคันดีดคล้ายคันธนูที่ด้านหนึ่งโค้งงอมากกว่าด้านหนึ่ง ใช้ยิงฝ้ายหรือดีดฝ้ายที่หีบเอาเมล็ดออกแล้วให้ขึ้นปุย

•  ไม้พันหางฝ้าย คือไม้ขนาดประมาณตะเกียบ ใช้พันปุยฝ้ายให้พันเป็นหางฝ้ายเพื่อเป็นเส้น

•  เผี่ยน คือเครื่องปั่นด้ายเป็นโครงไม้มีล้อโยงสายพานไปที่ไมหรือเหล็กในเพื่อตีเกลียวฝ้าย

•  เปีย (อ่าน “ เปี๋ย ” ) คือโครงไม้สามเหลี่ยมกลับหัวกลับหาง ใช้ขึงด้ายที่ปั่นแล้วมิให้บิดงอ

•  กัวะคั้นฝ้าย (อ่าน ” กัวะกั๊นฝ้าย ” ) คือกระบะที่รองรับฝ้ายที่นวดให้เข้ากับน้ำข้าว

•  ควงคว้าง (อ่าน ” กวงกว๊าง ” ) สำหรับคลี่ฝ้ายจากต่องเพื่อนำไปม้วนเข่ากับบ่ากวัก

•  บ่ากวัก สำหรับม้วนด้ายที่คลี่ออกจากต่องซึ่งขึงอยู่ที่ควงคว้าง โดยใช้ขอไม้เกี่ยวเข้าที่ปากของบ่ากวักแล้วหมุนเพื่อกรอด้ายเข้ามาพันรอบตัว บ่ากวักนั้น

•  หางเหน (อ่าน “ หางเห็น ” ) เป็นแกนสำหรับสอดบ่ากวัก

เมื่อมีฝ้ายและเครื่องมือดังกล่าวแล้ว จะมีวิธีการทำฝ้ายหรือเส้นด้ายอย่างย่นย่อ ดังนี้

วิธีการทำฝ้ายแบบล้านนานั้น
เริ่มจากการเก็บปุยฝ้ายจากต้นแล้วก็นำไปตากแดดเพื่อไล่ความชื้นและแมลง จากนั้นจึงใช้อีดหรือเครื่องหีบทำการอีดฝ้าย เพื่อแยกเมล็ดออกจากยวง ฝ้ายที่อีดแล้วนี้จะนำไปใส่ในซ้าลุ่น คือตะกร้าใบโตที่วางนอนกับพื้น แล้วยิงด้วยกงยิงฝ้ายให้ฝ้ายนั้นฟูขึ้นคล้ายสำลีฝ้ายที่ฟูนี้จะนำไปผัดหาง ฝ้าย คืนนำไปพันกับแกนไม้ขนาดตะเกียบ แล้วคลึงให้เป็นหลอดเรียกว่าหางฝ้าย หางฝ้ายที่ได้มาจะนำไปสู่เครื่องปั่นด้ายที่เรียกว่าเผี่ยน ติดหางฝ้ายเข้ากับไมเผี่ยนหรือเหล็กใน แล้วผู้ปั่นฝ้ายจะนั่งหมุนกงล้อด้วยมือขวาไปตามเข็มนาฬิกา มือซ้ายลากหางซ้ายเข้าหาลำตัวสายพานที่โยงจากกงล้อไปหมุนไม หรือเหล็กในให้บิดเกลียวฝ้ายไปเรื่อย ๆ ฝ้าย หรือเส้นด้ายที่ได้จะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก จะขึ้นอยู่กับจังหวะการบีบหางฝ้ายและความเร็วในการดึงหางฝ้ายเข้าหาลำตัว เมื่อเห็นว่าด้ายที่ได้จะมีขนาดใหญ่ หรือเล็กจะขึ้นอยู่กับจังหวะการบีบหางฝ้ายและความเร็วในการดึงหางฝ้ายเข้าหา ลำตัว เมื่อเห็นว่าด้านอยู่ในช่วงแขนนั้นบิดเป็นเกลียวได้ที่แล้วก็จะหมุนเผี่ยน ให้ถอยหลังเล็กน้อยพร้อมกับผ่อนมือซ้ายที่ถือด้ายลง ให้เส้นด้ายม้วนตัวเข้าพันไม แล้วก็หมุนกงเผี่ยนดึงด้ายไปเรื่อย ๆ จนด้ายเต็มเหล็กในแล้วก็นำฝ้ายที่ได้ม้วนเข้ากับเปีย ( “ เปี๋ย ” ) ซึ่งมีลักษณะสามขาร่วมแกนเดียวกัน ฝ้ายที่ปลดออกมาจากเปียนี้มีลักษณะเป็นไจที่เรียกว่าฝ้ายต่อง เก็บฝ้ายต่องหลายต่องซ้อนกันรวมเรียกว่าฝ้ายปีด ฝ้ายที่ใช้ในการพิธีกรรมต่าง ๆ จะใช้ฝ้ายต่องนี้

เมื่อได้ฝ้ายต่องที่รวมกันเป็นฝ้ายปีดพอแก่ความต้องการแล้ว ก็จะนำไปนวดในกัวะคั้นด้าย โดยใช้น้ำข้าวที่ได้จากเมือกของข้าวเหนียวนึ่ง นำด้ายลงนวดให้ทั่ว ปั้นกลุ่มด้ายนั้นแล้วคลี่ตากแดด นำฝ้ายปีดที่ตากแห้งแล้วมาใส่บ่ากวัก โดยสวมฝ้ายปีดซึ่งเป็นแกนรองรับบ่ากวัก จากนั้นใช้ไม้ที่เป็นตะขอเกี่ยวเข้ากับปากของบ่ากวัก แล้วหมุนให้ด้ายจากควงคว้างซึ่งบ่ากวักจะดึงด้าย ซึ่งถูกกาวจากน้ำข้าวรัดเป็นเกลียวคงที่แล้วให้คลี่ออกจากต่องไปพันกับบ่า กวัก และจากกวักหรือบ่ากวักนั้น เส้นด้ายจะถูกนำไปจัดเรียงกันเป็นเส้นยืน ส่วนหนึ่งจะทำเป็นเส้นพุ่งเพื่อทอเป็นผืนผ้าต่อไป

อนึ่ง ในการทอผ้าบางชนิดนิยมวิธีการปั่นไค (อ่าน “ ปั่นไก ” ) คือการนำเอาด้ายสองสีมาปั่นให้เป็นดกลียวเดียวอย่างในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จะมีกำหนดสีไว้ลงตัว เช่น สีแดงจะปั่นกับสีเหลือง สีขาวปั่นกับสีดำเป็นต้น

ทั้งนี้ ฝ้ายหรือเส้นด้ายที่ใช้ในการทอผ้าในระยะหลังมี 2 ชนิดคือ ฝ้ายระหัน คือ ด้ายที่ผลิตจากโรงงาน มีขายตามตลาดทั่วไป มีความเหนียวมากกว่าด้ายที่ปั่นกันเองตามหมู่บ้าน ฝ้ายระหันมีสองชนิดคือ ระหันแลบคือด้ายจากโรงงานชนิดเส้นเล็ก กับระหันหึกคือด้ายชนิดเส้นใหญ่ ซึ่งแบบเส้นใหญ่นี้ไม่นิยมใช้เป็นเส้นพุ่ง ส่วนด้ายอีกชนิดหนึ่งคือฝ้ายเมืองซึ่งปั่นขึ้นในครัวเรือน

การเตรียมเส้นยืนเริ่มตั้งแต่การนำฝ้ายมาใส่กวักโดยอาศัยควงและหางเหน หนึ่งเส้นต่องหนึ่งกวัก จากนั้นนำด้ายแต่ละกวักมาเรียงไว้มิให้พันกัน อย่างการพาดบนรอยหยักของเถาบันไดลิงหยักละ 1 เส้น เพื่อมิให้ด้ายพันกัน ถัดจากนั้นนำด้ายไปว้น (บางทีออกเสียง “ ฮ้วน ” )คือคล้องไปมาที่พะขอ (อ่าน “ ป๊ะขอ ” ) หรือเผือขอ ให้มีความยาวตามที่ต้องการและต้องนับจำนวนเส้นด้ายให้พอดีกับจำนวนซี่ฟืม ซึ่งมักจะนับกันเป็นหลบ โดย 1 หลบ เท่ากับ 5 อ่าน และ 1 อ่าน เท่ากับ 5 เส้น หรือ 4 รูฟืม ดังนั้น 1 หลบจึงเท่ากับ 40 เส้น เมื่อได้ด้ายยืนครบจำนวนเส้นและความยาวแล้ว ก็นำด้ายที่ว้นแล้วออกจากพะขอนี้ต่อไปกับเส้นด้ายที่สอดรูฟืมไว้แล้ว ขั้นตอนในการต่อเส้นด้ายนี้เรียกว่าสืบหูก เมื่อต่อด้ายเสร็จแล้วก็ใส่ฟอกหรือไม้ประกบฟืม ใส่ไม้เหยียบเพื่อดึงหูกขึ้นลงแล้วก็ถือว่าด้ายยืนนั้นพร้อมสำหรับการทอแล้ว

ส่วนการเตรียมด้ายพุ่งเพื่อแทรกระหว่างด้ายยืนนั้นต้องอาศัยควง และหางเหนเหมือนกัน คือนำเอาฝ้ายต่องที่ผ่านการชุบน้ำข้าวและตากแห้งแล้วไปสวมลงบนควง ดึงเงื่อนหนึ่งมาพันเข้ากับกวักไปเรื่อย ๆ จนได้ฝ้าย หรือเส้นด้ายตามต้องการแล้วก็นำกวักนั้นเสียบที่แกนซึ่งหมุนกวักได้คล่องตัว ด้ายจากกวักเข้ากับหลอด ซึ่งทำด้วยแขนงไผ่มีความยาวเท่ากับช่องในกระสวย เสียบหลอดนั้นเข้ากับไมเผี่ยนหรือเหล็กในปั่นด้าย แล้วหมุนเผี่ยนกรอด้ายไปพันกับหลอดนั้นกะอย่าให้อ้วน จนใส่ลงในช่องบากของสวยหรือกระสวยไม่ได้เตรียมด้ายหลอดนี้ ให้มากพอที่จะทอเป็นช่วง ๆไป

ในการทอผ้า จะมี กี่ หรือหูก คือชุดอุปกรณ์ทอผ้าที่มีรายละเอียดดังนี้

•  ฟืม คือชุดซี่อย่างหวีสำหรับต่ำหรือกระแทกด้ายพุ่งให้สอดเข้าในช่องของด้ายยืนให้แน่น

•  เขา คือตะกอหรือเชือกที่คล้องด้ายยืนสำหรับดึงขึ้นหรือลงเพื่อขัดกับด้ายพุ่ง

•  สวย หรือกระสวยใช้สำหรับสอดด้ายพุ่งเข้าขัดกับด้ายยืน

•  รอก คือลูกล้อสำหรับแขวนชุดตะกอ

•  ไม้พันผ้า คือไม้ที่ต่อจากชุดตะกอ ใช้เหยียบเพื่อแยกด้ายเส้นยืนให้มีระยะห่างเพื่อที่จะรับกระสวยด้ายพุ่ง

•  กล้องแกล้ง คือไม้ที่ต่อจากชุดตะกอ ใช้เหยียบเพื่อแยกด้ายเส้นยืนให้มีระยะห่างเพื่อที่จะรับกระสวยด้ายพุ่ง

•  ที่นั่งทอผ้า คือที่นั่งสำหรับผู้ทอผ้า ถ้าเป็นกี่แบบกระตุก ส่วนนี้ขยับตัวได้

•  ฝ้ายยืน คือด้ายที่จัดไว้เพื่อให้ด้ายพุ่งสอดเข้ามาขัด

•  คาน คือไม้สำหรับแขวนฟืมและเขาโดยพาดบนโครงไม้ด้านบนของกี่

และจะต้องมีอุปกรณ์ในขณะทอผ้าดังต่อไปนี้

•  สวย คือกระสวยที่บรรจุหลอดด้ายพุ่งเพื่อความสะดวกในการสอดด้ายพุ่งเข้าขัดกับด้ายยืน

•  ผัง คือไม้ไผ่เหลาใช้ขัดกับขอบผ้าที่กำลังทออยู่ให้ผืนผ้านั้นดึง

•  หวี คือขนหมู่ป่ามัดรวมกันให้คล้ายแปรงทาด้วยชันใช้เกลี่ยด้ายยืนให้เรียบตรง

•  มีด ใช้ตัดเศษด้ายที่เหลือจากการต่อด้าย

ขั้นตอนในการทอ เริ่มหลังจากที่สืบหูก หรือต่อด้ายเส้นยืนเข้ากับด้ายในตะกอทั้งหมดแล้วก็เลื่อนฟืม และเขาผ่านรอยต่อของด้ายไปข้างหน้า จากนั้นใส่ฟอกหรือไม้ประกบฟืมโดยผูกเชือกแขวนไว้กับคานวางพาดบนโครงกี่ เขาคือตะกอทั้งสองมีเชือกผูกโยงกันผ่านรอก (อ่าน “ ฮอก ” ) หรือลูกรอกซึ่งผูกโยงเข้ากับคานตัวเดียวกับที่แขวนฟืม จากนั้นใส่ไม้กล้องแกล้งหรือไม้ลูกเหยียบทั้งสองผูกติดกับเขาแต่ละกรอบเมื่อ ทอผ้ายนั้น ให้เหยียบไม้กล้องแกล้งอันหนึ่งปล่อยอันหนึ่ง เพื่อส่งกำลังผ่านลูกรอกให้ด้ายยืนแยกออกจากกันเป็นช่อง ใช้สวยหรือกระสวยบรรจุหลอดด้ายพุ่ง พุ่งลอดระหว่างเส้นยืน ดังปริศนาคำทายบทหนึ่งว่า “ บนก็เป็นฝ้า ลุ่มก็เป็นฝ้า เรือใต้หล้าลอดพื้น ” โดยใช้มือซ้ายจับสวยแล้วพุ่งเข้าทางด้านซ้าย และใช้มือขวารอรับสวยนั้นทางด้านขวา จากนั้นปล่อยไม้เหยียบที่ได้เหยียบไว้ แล้วเหยียบอีกอันหนึ่งพร้อมกับกระตุกฟืมเข้าหาลำตัว เพื่อให้ด้ายที่ขัดกันไว้ให้แน่น ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนสุดช่วงแขนก็ต้องม้วนผ้าที่ทอได้แล้ว โดยคลายด้ายเส้นยืนที่ผูกโยงกับคานกี่ พันผ้าเข้ากับไม้พันผ้า เสร็จแล้วผูกด้ายเส้นยืนกับคานกี่ให้ตึง แล้วใช้แปรงขนหมูป่าหวีด้ายยืนให้เรียบแล้วจึงเริ่มทอต่อไป หากหน้าผ้าย่นก็ใช้ผังหรือไม้ไผ่ที่เหลาไว้ขัดเข้ากับขอบผ้าทั้งสองด้าน เมื่อด้ายเส้นสั้นเข้าก็ให้โยงและเกลี่ยกับไม้ที่เตรียม และโยงไปผูกกับโครงกี่เพื่อให้ด้ายเส้นยืนดึงตามปกติ เมื่อทอไปจนเหลือเส้นยืนประมาณ 1 ศอกสอดไม้ไผ่อันเล็ก ๆ ตลอดหน้าผ้าแล้วทอเส้นพุ่งให้ยาวประมาณ 2- 5 เซนติเมตร ตัดผืนผ้าที่ทอออก เหลือปลายด้ายเส้นยืนให้ติดอยู่กับฟืม และเขาเพื่อสืบหูกหรือต่อกับด้ายเส้นยืนในการทอครั้งต่อไป

ในระหว่างการทอผ้านั้น นอกเหนือจากการทอให้เป็นลวดลายแบบต่าง ๆ ทั้งบนผ้าพื้นและบนผ้าที่ใช้ด้ายหลายสีสลับกันนั้น ยังมีวิธีแต่งในการทอผ้านั้นเพิ่มความงามมากขึ้นไปอีกด้วยการจกหรือจกค้อน (อ่าน “ จกก๊อน ” ) คือการจกหมายถึงการล้วงหรือดึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมา การค้อน (อ่าน “ ก๊อน ” ) คือการงัดของขึ้นในการทอผ้านั้น จกหมายถึงการดึงเส้นฝ้ายขึ้นมาโดยใช้ขนเม่นเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเก็บลาย แล้วสอดเส้นฝ้ายพิเศษเข้าไปในลายที่เก็บไว้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นิยมจกด้วยด้ายประกบกันหลายเส้น แล้วสอดเส้นพุ่งเส้นธรรมดากำกับเป็นผืนผ้า ดังนั้น เมื่อดึงเส้นด้ายพิเศษนี่ออก ก็มิได้ทำให้ผ้าขาดแต่อย่างใด สำหรับการจกนั้น พบว่าเป็นการจกเพื่อตกแต่งลวดวายที่ตีนสิ้น ( อ่าน “ ตี๋นสิ้น ” ) คือเชิงผ้าซิ่นและหน้าหมอนหก คือผ้าปิดด้านข้างหมอนที่ทำเป็นหกลูกหรือหกช่อง

สิ้นตีนจก (อ่าน “ ซิ่นตี๋นจก ” ) คือผ้าซิ่นที่จัดลวดลายเป็นพิเศษที่ส่วนเชิง การจกจะใช้ด้ายหลายสี ลวดลายสลับซับซ้อน สิ้นตีนจก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือหัวสิ้น คือผ้าอีกชิ้นหนึ่งที่นำมาต่อเป็นส่วนหัวหรือส่วนที่อยู่ตรงเอวของผู้นุ่ง หัวสิ้นนี้จะเป็นผ้าพื้นสีขาวหรือสีแดง ตัวสิ้นคือผ้าซิ่นในส่วนกลางทอเป็นลายขวาง สีที่พบมากคือสีเหลืองสลับกับสีแดงหรือดำแถบเล็ก ๆ ที่เรียกว่าสิ้นตาบ่านาว (ซิ่นตามะนาว) หรือสิ้นตาหมู ส่วนล่างสุดของซิ่นคือตีนสิ้นซึ่งเป็นส่วนเชิงที่ผู้มีฐานะจะใช้ตีนสิ้นที่ ตกแต่งด้วยการจก การจกทำด้วยด้ายหลายสีมีลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายนก ลายเขี้ยวหมา ลายหงส์คุม เป็นต้น ในการจกตีนสิ้นที่ซับซ้อนมากคือผ้าพันที่มีสองสีคือสีแดง และดำ รอยต่อของสีทั้งสองอยู่ตรงกลางแบ่งครึ่งของสีทั้งสองพอดี ซึ่งเทคนิคการพุ่งด้ายสองสีพบที่กลุ่มคนเมืองที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น เมื่อพุ่งเส้นพุ่งสีดำผ่านเส้นยืนไปครึ่งหนึ่ง ก็จะพุ่งสีแดงมาจากอีกด้านหนึ่งเพื่อเกาะกันตรงกลาง คล้ายเทคนิคการล้วงของชาวไทลื้อทำให้ผ้าพื้นมีสองสีและหนา ตีนจกยังแบ่งได้เป็นส่วน ๆ คือจกส่วนบนที่พบจกเป็นลายนก ลายสามเหลี่ยมหรือลานอื่น ๆ ตอนตรงกลางลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนปลายล่างทำเป็นลายที่มีเส้นต่อลงมา เรียกว่า หางสะเพา (อ่าน “ หางสะเปา ” ) ในด้านลวดลายนั้นมีชื่อเรียกและลวดลายหลากกันไปส่วนจกหรือลวดลายหลากกันไป ส่วนจกหรือลวดลายบนหน้าหมอนหก คือหมอนที่ใช้หมุนมีลักษณะอย่างกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า เย็บเป็นช่อง 6 ช่อง ยัดด้วยนุ่น เป็นต้น ตัวหมอนอละปลอกหมอนเป็นผ้าพื้นสีขาว หมอนที่ใช้หนุนเป็นปกตินั้นไม่นิยมทำลายจก คงใช้เพียงผ้าสีแดงเท่านั้นเป็นด้านข้าง หมอนที่มีลายจกจะเป็นหมอนที่ใช้รับแขกมากว่า

ในการจกลวดลายนั้น จะจกลายที่ด้านข้างของหมอนเป็นหกช่อง เป็นการจกที่มีขนาดเล็กกว่าสิ้นตีนจก ลวดลายไม่ซับซ้อน

วิธีการในการทอ

การทอ ด้วย 2 ตะขอ เป็นวิธีในการทออย่างง่าย และรวดเร็วกว่าวิธีการทอทั้งหมด ลวดลายบนผืนผ้าเป็นลายขัดธรรมดา ใช้ทอเป็นผ้าพื้น การทำลวดลายพิเศษต่าง ๆ จะดำเนินไปบนวิธีการทอแบบนี้เสมอ

การทอ ด้วย 3 ตะกอ เป็นวิธีการทอที่ตะกอพิเศษถูกเก็บภายหลังตะกอธรรมดา ในการทอวิธีนี้จะทำให้ได้ลายขัดอีกอย่างหนึ่ง พบในการทอผ้าห่มเนื่องจากต้องการให้ได้ผ้าเนื้อฟูหนากว่าผ้าธรรมดา

การทอ ผ้า 4 ตะกอ เป็นวิธีการทอที่ให้เกิดลวดลายเรขาคณิต เช่นลายก้างปลา และลายสอง เป็นต้น ในขณะทอนั้น ผู้ทอต้องเหยียบไม้เพื่อยกตะกอถึงสี่อันตามแบบของลายที่กำหนด

ลวดลายบนผืนผ้า

ในการ ทอผ้านั้น ประสบการณ์ของชาวล้านนาที่สืบเนื่องกันมาในแต่ละชุมชนและการเรียนรู้สามารถ ทำให้การทอผ้าแบบธรรมดา 2 ตะกอนั้นเพิ่มจำนวนตะกอมากขึ้นเพื่อเพิ่มลวดลายบนผืนผ้า รวมตลอดไปถึงการย้อมด้วยควบคู่กับการกำหนดลวดลาย หรือแบบในการทอแล้ว สามารถทำให้ผ้าที่ทอขึ้นมีสีสันและลวดลายที่งดงามต่าง ๆ กันไปตามแต่ละชุมชน อย่างในกรณีของชาวอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีลวดลายบนผืนผ้าทอ ดังนี้

ลายขัด เป็นลายผ้าพื้นธรรมดา ตกแต่งลวดลายด้วยการสลับสีที่พบคือ

•  ลายแซง คือลายทางยาวที่แทรกด้วยยืนสีแดงหรือสีดำเป็นระยะ ๆ

•  ลายเกล็ดเต่า เป็นลายที่เกิดจากการสลับสีเส้นยืนและเส้นพุ่งสองสี ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว

•  ลายเรขาคณิต เป็นลวดลายในขั้นตอนของการเก็บตะกอก่อนการทอ ที่พบคือ

- ลายสอง - ลายดีดอกเล็ก - ลายดีดอกใหญ่ - ลายดอกแก้ว - ลายก้างปลา ลายที่มาจากพืชและสัตว์ - ลายใบไม้(กูด) - ลายกูดโว้ง - ลายกูดตีนเสา

- ลายกูดเขี้ยวหมา - ลายกูดหวี - ลายดอกไม้ - ดอกจัน - ดอกจันหลวง - ดอกจันน้อย - ลายแก่นจัน หรือเมล็ดดอกจัน - ลายกากอกดอกน้อย

- ลายกากอกดอกใหญ่ - ลายดอกจันแม่ลอง - ลายดอกแก้ว - ลายดอกแก้วน้อย - ลายดอกแก้วคู่ - ลายดอกแก้วกุม - ลายดอกผักแว่น

- ลายดอกควัก - ลายจี๋ดอกเปา ลายรูปสัตว์ - ลายงูเกี้ยวซ้าวสลับดอกแก้ว - ลายงูห้อยซ้าว - ลายนกนอน - ลายนกกินน้ำร่วมต้น

- ลายนกบ่าแห้(นกหัวขวาน) - ลายเกล็ดปลาสร้อย - ลายคนขี่ม้า - ลายม้า - ลายช้าง - ลายเต่า - ลายยักเขี้ยวหมา - ลายลวงเหล้นฝ้า

- ลายนาค - ลายสิงห์ - ลายหงส์

ลายที่ประกอบกับลายอื่น

- ลายขอเบ็ด - ลายขอหลวง - ลายดอกขอ - ลายหางสะเปา

การย้อม

ฝ้าย คือเส้นด้าย และผ้า คือผืนแผ่นที่ได้จากการทอของเส้นด้ายนั้น แทนที่จะมีสีธรรมชาติคือสีขาวและสีตุ่นเท่านั้นยังอาจย้อมให้เป็นสีต่าง ๆ ได้ทั้งโดยใช้สีวิทยาศาสตร์ที่มีขายทั่วไปและสีที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งที่ได้จากธรรมชาติได้จากเปลือกไม้ ใบไม้ และเมล็ดพืช สีชนิดนี้จะให้สีที่นุ่มนวล ไม่ฉูดฉาด ดังนี้

สีน้ำเงิน ได้จากการย้อมด้วยคราม หรือ ห้อม

สีดำ ได้จากการย้อมผลมะเกลือ


สีน้ำตาล ได้จากการย้อมผลมะเกลือ

สีน้ำตาลอ่อน ได้จากการย้อมเปลือกมะพร้าว

สีแดง ได้จากการย้อมด้วยเมล็ดในผลคำแสดหรือไม้เนื้อฝาง


สีแดงซ้ำ ได้จากการย้อมด้วยเปลือกไม้ประดู่


สีเหลือง ได้จากการย้อมด้วยหัวขมิ้น เนื้อไม้ขนุน

สีม่วง ได้จากการย้อมด้วยเปลือกต้นสมอ


สีเขียว ได้จากการย้อมด้วยใบไม้

ในการย้อมนี้ อาจย้อมผ้าเพื่อให้ได้สีเขียวทั้งผืน หรือย้อมด้ายเสียก่อนแล้วจึงนำไปทอ โดยที่การย้อมผ้าด้ายก่อนทอนี้สามารถทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ เพิ่มไปบนลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้า อันเป็นการเพิ่มความงามให้แก่ผ้าซึ่งเป็นเครื่องใช้ให้ดูแปลกกันออกไป แม้ว่าผ้าที่มีสีและลวดลายต่างกันเหล่านั้นจะใช้การอย่างเดียวกัน

  • การย้อมด้วยครามหรือห้อม

ครามเป็นไม้พุ่มชนิด Indigofera tinctoria Linn. ในวงศ์ LEGUMINNOSAE ส่วนห้อมเป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิด Baphiicacanthus cusia Brem. ใน วงศ์ A CANTHACEAE ทั้งสองชนิดเป็นพืชที่ให้สีน้ำเงินในการย้อมผ้า จะเก็บมาใช้ทั้งใบและก้านเมื่อยังไม่ออกดอก แช่น้ำไว้ 1 คืน พลิกด้านบนลงอีก 1 คืน จนพืชเปื่อย จะมีกลิ่นเหม็นและน้ำจะเป็นสีเขียวใส่ปูนเคี้ยวหมากลงกวนจนหมดกลิ่น แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำลงใส่หม้อดินขนาดใหญ่ที่เรียกว่าหม้อห้อม

โดยเฉพาะในการย้อมด้วยครามนั้น เมื่อบรรจุน้ำครามลงหม้อห้อมแล้วก็ใส่ฝักส้มป่อยเผาขมิ้น น้ำด่างซึ่งได้จากการเกรอะขี้เถ้า และเหล้าป่าลงไป นำด้วยใจเล็ก ๆ ลงใส่ไว้ 3-4 วัน แล้วจึงนำผ้าหรือฝ้ายที่ต้องการย้อมแช่น้ำบิดพอหมาดลงแช่ พลิกหลาย ๆ ครั้ง แล้วนำขึ้นตากแดด การย้อมจะย้อมวันละสองครั้งคือช้าและเย็น ย้อมประมาณ 6 ครั้ง จะได้สีที่พอดี

  • การย้อมด้วยมะเกลือ

นำผลแก่ของมะเกลือมาแช่น้ำเก็บไว้ เมื่อต้องการใช้ย้อมผ้าก็นำผลมะเกลือมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ เติมน้ำด่างจากขี้เถ้า นำด้ายหรือผ้าที่แช่น้ำและบิดพอหมาด แล้วลงแช่พลิกไปมาจนเห็นว่าสีทั่วแล้วนำไปตากแดด หากต้องการให้ได้สีน้ำตาลก็ย้อมเพียงสองหรือสามครั้ง แต่หากต้องการสีดำก็ต้องย้อมหลาย ๆ ครั้งจนได้ความเข้มข้นของสีที่ต้องการ

  • การย้อมด้วยเมล็ดคำแสด

นำเมล็ดคำแสดที่แก่แล้วมาแช่น้ำแล้วต้มจนออกสีแดงนำด้าย หรือผ้าแช่น้ำและบิดพอหมาดแล้วลงแช่น้ำสีแล้วต้มต่อไป 1-2 ชั่วโมง ขณะต้มให้ใส่ข้าวเจ้าลงไปด้วย นำขึ้นคั้นกับข้าวเจ้าที่ใส่ลงไป บิดพอหมาดแล้วนำไปตาก

  • การย้อมด้วยขมิ้น

นำหัวขมิ้นมาหั่นและโขลกให้ละเอียดผสมน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นจึงนำด้ายหรือผ้าลงแช่จนเป็นสีเหลืองตามต้องการ หากบีบมะนาวลงไปด้วยจะทำให้สีติดทนยิ่งขึ้น

  • การย้อมด้วยใบไม้

การย้อมสีด้ายหรือผ้าด้วยสีของใบไม้นี้ ทำได้โดยการนำเอาใบไม้ที่มีสีเขียว เช่น ใบสมอ ใบหูกวาง ใบสัก ฯลฯ ที่สังเกตว่าสามารถให้สีที่พอใจและสีติดค่อนข้างทน มาโขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วกรองเอาน้ำดังกล่าวไปน้ำย้อม นำผ้าหรือฝ้ายแช่น้ำแล้วบิดพอหมาดลงแช่จนได้สีที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปชี่ในน้ำด่างขี้เถ้าบิดและนำไปตากแห้งตามลำดับ

  • การย้อมด้วยเปลือกมะพร้าว

ใช้เปลือกมะพร้าวแห้งที่ฉีกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปแช่น้ำ เมื่อต้องการจะย้อมผ้าหรือด้ายหรือผ้าที่แช่น้ำ และบิดพอหมาดแล้วลงไปต้มด้วยจนได้สีที่ต้องการ แล้วจึงนำไปแช่น้ำด่างขี้เถ้าและนำไปตากให้แห้งต่อไป

  • การย้อมด้วยเนื้อไม้ขนุน

การย้อมผ้าเนื้อไม้ขนุนนี้จะให้สีเหลืองขุ่นที่เรียกว่า สีกรัก (อ่าน “ สีขัก ” ) พระสงฆ์นิยมใช้ย้อมผ้าที่ใช้ในกิจของสงฆ์ โดยมักจะมีโรงกรัก (อ่าน “ โฮงขัก ” ) ในแต่ละวัดติดเตาต้มน้ำในหม้อขนาดใหญ่ เติมเนื้อไม้ขนุนลงแล้วนำผ้าลงไปต้มด้วย เมื่อเห็นว่าสีจับเนื้อผ้าดีแล้ว จึงนำไปตาก

  • การย้อมด้วยเปลือกสมอ

นำเอาเปลือกต้นสมออย่างที่ใช้กินผลมีรสฝาดนั้นมาต้มจนออกสีม่วง จากนั้นจึงนำมาผ้าหรือฝ้ายแช่น้ำแล้วบิดจนหมาดลงต้มด้วย เมื่อพลิกไปมาดูแล้วเห็นว่าสีจับเข้าที่ก็นำผ้าไปแช่ในน้ำด่างขี้เถ้าเพื่อ ให้สีติดดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้การย้อมด้วยเปลือกหรือเนื้อไม้ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ได้สีตามต้องการนั้น มักจะใช้วิธีเดียว กันคือต้มเปลือกไม้ นำผ้าหรือด้ายลงต้มด้วยแล้วนำไปแช่ในน้ำด่างขี้เถ้าและนำไปตาก

ในระยะประมาณ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องผ้าหลายท่าน โดยได้ศึกษาเรื่องผ้าในเฉพาะแหล่งหรือเฉพาะชนเผ่า เช่น ผ้าแม่แจ่ม ผ้าไทลื้อ ผ้าลายน้ำไหล เป็นต้น จะได้กล่าวถึงผ้าชนิดต่าง ๆ พอให้เป็นที่รู้จัก และในเรื่องที่ว่าด้วย “ ผ้าแม่แจ่ม ” อีกด้วย