วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดนตรีล้านนา : ซึง

ซึง บางท้องถิ่นเรียกว่าติ่ง มีลักษณะคล้ายกระจับปี่หรือคล้ายพิณหรือซุงของภาคอีสาน หรือคล้ายกีตาร์ขนาดเล็ก ซึงประกอบด้วยกล่องเสียง มีคอยื่นออกไปและขึงสายซึ่งเป็นต้นกำเนิดเสียงจากปลายคอผ่านกลางกล่องเสียง ไปยังขอบของกล่องเสียงอีกด้านเดียวกัน หรือคนละชิ้นทำแยกส่วนก็ได้ตัวซึงมักจะใช้ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้สักทำทั้งแผ่นเพราะขุดเนื้อไม้ทำเป็นกล่องเสียงได้ง่าย ความหนาของกล่องเสียง ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่จะใช้ทำ และขนาดของซึงที่ต้องการเท่าที่พบโดยทั่วไปหนาประมาณ ๒ – ๓ นิ้ว คว้านข้างในให้กลวงเป็นรูปวงรี เหลือขอบโดยรอบกับพื้นกล่องเสียงซึ่งไม่หนามากนัก

จากนั้นก็ใช้แผ่นไม้บาง ๆ ปิดด้านบน เจาะรูบริเวณใกล้ศูนย์กลางค่อนไปทางคอเล็กน้อย ให้มีขนาดกว้างพอสมควรเพื่อให้เสียงผ่านออกมา ส่วนคอจะมีลักษณะเป็นคันยาวยื่นออกมา ถ้าไม่ได้ใช้ไม้ชิ้นเดียวกันกับที่ทำตัวกล่องเสียงแล้ว ส่วนนี้นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ทนทานและเสียงที่ดังออกมาไพเราะบนคอซึงติดขีดซึ่งเป็นท่อนไม้เล็ก ๆ เรียกว่า “ ลูกซึง ” หรือ “ นม ” เป็นระยะ ๆ เรียงตาม

ความยาวของคอจนใกล้ถึงตัวกล่องเสียง จำนวนลูกซึงไม่แน่นอนแต่มาตราฐานทั่วไปนิยมตัด ๙ อัน มีความถี่ห่างไม่เท่ากัน ( คือเว้นระยะตามขอบเขตเสียงที่เกิดขึ้น ) ปลายคอซึงมีลูกบิดเกือบล่างสุดของตัวกล่องเสียงมี ค็อบ ( อ่าน ” ก๊อบ ”) คือ เบาะไม้รองสายที่ขึงจากส่วนล่างสุดขึ้นไปหาลูกบิด สายซึงโดยมากทำด้วยสายห้ามล้อจักรยาน มี ๔ สายซึ่งแยกกันเป็น ๒ คู่ การดีดวซึงมักใช้เขาสัตว์หรือพลาสติกตัดเป็นชิ้นยาวและบางเป็นเครื่องดีด บริเวณที่ดีดอยู่ใกล้กับรูที่เจาะไว้ มืออีกข้างหนึ่งจับคอซึง และใช้นิ้วกดสายลงให้แนบกับลูกซึงที่ต้องการ ซึงมี ๓ ขนาด คือซึงเล็ก ซึงกลางและซึงใหญ่ โอกาสเล่นซึงคือใช้บรรเลงร่วมกับวงสะล้อ ใช้บรรเลงร่วมกับวงปี่ชุมในการขับซอ หรือบรรเลงเดี่ยว เพลงที่เล่นเป็นเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมหรือถูกประยุกต์ให้เล่นเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครพื้นเมืองอีกด้วย

ซึ่งนับเป็นเครื่องดนตรีที่นักดนตรีเกือบทุกคนสามารถทำขึ้นไว้เล่นเองได้ และเป็นเครื่องดนตรีที่มีขายอย่างแพร่หลาย แหล่งที่ทำซึงขายนั้นนอกจากจะเป็นกลุ่มนักดนตรี ที่เล่นเป็นอาชีพจะรับทำเมื่อคนมาสั่งแล้ว ยังมีวางขายที่ตลาดกลางคืน ถนนช้างคลาน และที่บ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ประเภทของซึง

ซึง โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น ๒ แบบคือ แบ่งตามขนาดและแบ่งตามการตั้งเสียง

๑ . แบ่งตามขนาด นิยมแบ่งเป็น ๓ ขนาด คือ

- ซึงใหญ่ ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ ๑๒ นิ้ว หนาประมาณ ๓ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๘ นิ้ว

- ซึงกลาง ความกว้างของกล่องเสียงประมาณ ๑๐ นิ้ว หนาประมาณ ๒ . ๕ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๕ นิ้ว

- ซึงเล็กความกว้างของกล่องเสียงประมาณ ๘ นิ้ว หนาประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว

๒ . แบ่งตามการตั้งเสียง แบ่งเป็น ๒ ลักษณะคือ

- ซึงลูกสาม ตั้งเสียง โด - ซอล โดยตั้งสายทุ้มเป็นเสียงโด ตั้งสายเอกเป็นเสียงซอล ซึงลูกสามมักจะเป็นซึงใหญ่และซึงเล็ก

- ซึงลูกสี่ ตั้งเสียง ซอล - โด โดยตั้งสายทุ้มเป็นเสียงซอล ตั้งสายเอกเป็นเสียงโด ซึงลูกสี่มักจะเป็นซึงกลาง

สูตรการทำซึง

การทำซึง เมื่อ ได้ไม้ที่มีความหนาเหมาะสมกับตัวซึงที่ต้องการแล้ว จะวัดขนาดความกว้างของกล่องเสียงให้มีความสัมพันธ์กับความยาวของคันซึง ( วัดถึงคอซึง ) ตามสูตร เพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการสูตรดังกล่าวมี ๓ สูตร คือ

๑ . สูตรโล่งเกิ่ง คือวัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก ๑ ๑ / ๒ ส่วน ไปเป็นความยาวของคันซึง ( วัดจากขอบกล่องเสียงถึงคอซึง ) สูตรนี้เสียงซึงจะดังกังวาน เมื่อเล่นในวงเสียงจะชัดเจนสูตรนี้นิยมทำซึงกลาง

๒ . สูตรสองโล่ง คือวัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก ๒ ส่วน ไปเป็นความยาวของคันซึง สูตรนี้เสียงซึงจะไพเราะมาก แต่ความดังจะอ่อนกว่าสูตรโล่งเกิ่ง สูตรสองโล่งจึงเหมาะสำหรับซึงใช้บรรเลงเดี่ยวเท่านั้น

๓ . สูตรโล่งเกิ่ง คือวัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก๑ ๑ / ๒ ส่วน แล้ววัดต่อจากนั้นยาวอีกประมาณ ๒ ฝ่ามือไปเป็นความยาวของคันซึง สูตรนี้เสียงซึงจะดังพอดี และมีเสียงใสไพเราะพร้อมกันไปด้วย จึงเหมาะสำหรับบรรเลงผสมวงและบรรเลงเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม เสียงของซึงจะดังไพเราะ หรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่ปัจจัยหลายอย่าง เช่น เนื้อไม้ ขนาด การตั้งเสียง ความได้สัดส่วนของตัวซึง ( ซึ่งบางครั้งไม่ได้ตายตัวตามสูตร ) เป็นต้น