วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดนตรีล้านนา : สะล้อ


สะล้อ อาจเรียกว่า ถะล้อ ธะล้อหรือ ทะร้อ ซึ่งมีรูปศัพท์เดิมจากภาษขอมว่า “ ทรอ ” ซึ่งภาษไทยกลางออกเสียงเป็น “ ซอ ” แต่ในโคลงนิราศหริภุญชัยว่า “ ธะล้อ ” เป็นเครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชักสีลงบนสายที่ขึงผ่านหน้ากล่องเสียง ทำด้วยกะลามะพร้าว ซึ่งตัดด้านหนึ่งออกไปเหลือประมาณ ๒ / ๓ ของกะลาทั้งลูก ตรงที่ถูกตัดออกไปนั้นปิดด้วยไม้เรียบบาง ๆ ซึ่งเรียกว่า “ ตาดสะล้อ ” คันทวน ของสะล้อเป็นไม้กลมทำจากไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๖๔ เซนติเมตร เสียบทะลุกล่องเสียง ใกล้ ๆ ขอบที่ปิดด้วยตาด ปลายคันทวนเสียบลูกบิด ๒ อันในลักษณะทแยงเข้าไปในคันทวน มีไว้สำหรับผูกสายสะล้อและตั้งสาย สายนิยมใช้สายโลหะมากกว่าสายเอ็นเหมือนซอด้วงและซออู้ ส่วนมากทำจากลวดสายห้ามล้อรถจักรยาน คันชักสะล้อทำด้วยไม้ โค้งงอคล้ายคันศร ขึงด้วยหางม้าหรือสายไนลอน ทบไปทบมาหลายสิบทบ ไม่เอาคันชักขัดไว้ระหว่างสายเหมือนกับซออู้และซอด้วง สิ่งที่ใช้เสียดสีกับสายของคันชักเพื่อให้เกิดความฝืดในขณะสี ได้แก่ ยางสนหรือชัน ซึ่งติดไว้บนกะลาตรงจุดที่ใช้สายคันชักสัมผัสให้เกิดเสียง

สะล้อมี ๓ ขนาด ได้แก่

๑ . สะล้อเล็ก มี ๒ สาย

๒ . สะล้อกลาง มี ๒ สาย

๓ . สะล้อใหญ่ มี ๓ สาย มีวิธีการเล่นซอสามสายแต่ไม่เอาคันชักไว้ระหว่างสาย

สะล้อ
ที่นิยมบรรเลงคือสะล้อที่มี ๒ สาย ส่วนสะล้อ ๓ สายไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นเพราะเล่นยากกว่าสะล้อ ๒ สาย นอกจากใช้สะล้อบรรเลงเดี่ยวแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองสะล้อ – ซึง หรือบางแห่งใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชุม ประกอบการซอ บทเพลงที่เล่นมักเป็นเพลงพื้นเมืองของล้านนา ผู้ที่ทำสะล้อขายจะเป็นแหล่งเดียวกันกับที่ทำซึงขายและนักดนตรีที่เล่นเป็น ส่วนมากก็จะทำไว้เล่นเองด้วยเหมือนกับซึง