วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

อาหารล้านนา : แกงโฮะ
 

คำว่า “ โฮะ ” แปลว่า รวม แกงโฮะ ก็ คือการนำเอาอาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน เช่นเดียวกับ “ จับฉ่าย ” ของจีนในสมัยก่อนแกงโฮะมักจะทำจากอาหารที่เหลือหลายๆ อย่างรวมกัน โดยอาจมีการปรุงรสแต่งกลิ่นใหม่อีกครั้ง แต่ปัจจุบันนี้ใช้ของสดปรุงขึ้นมา หรืออาหารใหม่ทำก็ได้

ที่มาของแกงโฮะนี้ จากการศึกษาของอุบลรัตน์ พันธุมินทร์ ทำให้เห็นได้ว่าอาจมาจากแกงที่มีชื่อ“ แกงฮินเล - ฮังเล ” ของพม่าแล้ว ยังอาจกล่าวได้น่าว่าจะเกิดที่วัด เนื่องจากในเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา สงกรานต์ จะมีชาวบ้านนำอาหารมาถวายพระเป็นจำนวนมากพระและเณรจึงฉันไม่หมด สมัยก่อนไม่มีตู้เย็น ปล่อยทิ้งไว้ก็บูดเน่าอย่างน่าเสียดาย เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านนำมาถวาย ล้วนถือว่าเป็นอาหารอย่างดี เช่น ห่อนึ่ง หมูปิ้ง หมูทอด แกงอ่อม ลาบ แคบหมู และอาจมีแกงใส่กะทิบ้าง เป็นต้น ลูกวัดจึงนำอาหารที่เหลือเหล่านี้มา ” โฮะ ” คือรวมกัน อาจมีการเติมน้ำแล้วเทน้ำออกเพื่อล้างความบูดออกบ้าง จากนั้นก็นำขึ้นตั้งไฟหรือผัดในน้ำมัน เติมเกลือ น้ำปลา พริกสด หรือพริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบและอาจเติมบางอย่างลงไปเพิ่มอีก เช่น วุ้นเส้น หน่อไม้ และแต่งกลิ่นโดยใส่ใบมะกรูด ตะไคร้ บ้างก็เติมผงกะหรี่ เพื่อให้กลบกลิ่นบูด

ทั้งนี้หากเป็นการปรุงใหม่ คือเป็นการตั้งใจทำแกงโฮะขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ มิได้นำของเหลือใดๆ มาทำ จะใช้เนื้อหมูติดมันและผักต่าง ๆ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักตำลึง หน่อไม้ดอง วุ้นเส้น มะเขือ ใบมะกรูด สำหรับเครื่องปรุง น้ำพริก มีพริกสด หัวหอม กระเทียม เกลือ กะปิ โขลกเข้าด้วยกันให้ละเอียด แล้วเอากะทะตั้งน้ำมัน เอาเครื่องปรุงลงผัดกับเนื้อ แล้วเอาผักต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ลงผัดเติมน้ำพอสมควร เคี่ยวให้แห้งแล้วเอาวุ้นเส้นใส่ลงไปชิมรสตามชอบ โรยพริกขี้หนูและใบมะกรูด