วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เครื่องมือของใช้ล้านนา - ขันโตกดินเนอร์

 


ขันโตกดินเนอร์ เป็นรูปแบบงานเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อในสังคม โดยประยุกต์ขึ้นจากวิถีการกินอาหารแบบล้านนา ซึ่งตอบสนองต่อวัฒนธรรมการเลี้ยงต้อนรับแบบวัฒนธรรมสากล โดยใช้ขันโตกในการวางสำรับอาหารแทนโต๊ะ นั่งล้อมวงกับพื้นรับขันโตก รับประทานข้าวเหนียวและอาหารพื้นบ้านล้านนา ในระหว่างรับประทานอาหารอาจมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาไปด้วย ช่วงเวลาสำหรับงานเลี้ยงแบบนี้มักจะจัดในตอนเย็นโดยเฉพาะในช่วงฟ้าปลอดฝน อย่างต้นฤดูหนาวเป็นอาทิ

การเลี้ยงรับรองแบบขันโตกดินเนอร์นี้ ผู้ริเริ่มคิดขึ้นคือ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2496 เพื่อจัดเลี้ยงส่ง ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ หัวหน้าผู้พิพากษาภาค 5 ในสมัยนั้น โดยจัดที่บ้านพักของอาจารย์ไกรศรี ที่ถนนฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่นั้นมาขันโตกดินเนอร์จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย โดยการจัดขึ้นตามร้านอาหารและโรงแรม หรืองานจัดเลี้ยงต่าง ๆ

การแต่งกายในงานขันโตกดินเนอร์ มี กำหนดไว้ในครั้งนั้นว่า ให้ผู้ชายใส่เสื้อหม้อฮ่อมหรือที่ทำด้วยผ้าพื้นเมืองสวมมาลัยดอกมะลิ กางเกงจะใส่กางเกงแบบสากลนิยมทั่วไปก็ได้ หรือจะใส่กางเกงแบบล้านนาที่เรียกว่า เตี่ยวสะดอ ก็ได้ และมีผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงจะใส่ผ้าถุงเสื้อแขนกระบอกหรือเสื้อที่ตัดด้วยผ้าพื้นเมือง อาจมีการเกล้าผมแต่งด้วยดอกเอื้อง ทั้งนี้การแต่งกายดังกล่าวก็กลายเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแบบฉบับทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีแนวที่ระบุความชัดเจนด้านนี้มาก่อน

รูปแบบการจัดเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์ สถาน ที่จะจัดในห้องโถง สนามหญ้า โดยการปูเสื่อ จัดวางขันโตกเป็นระยะ ผู้ร่วมรับประทานอาหารจำนวน 8 – 10 คนต่อหนึ่งขันโตก โดยนั่งกับพื้นล้อมเป็นวงรอบขันโตก ในชุดขันโตกจะประกอบด้วย ขันโตกวางอาหาร กล่องเข้า หรือกระติบบรรจุข้าวเหนียวนึ่ง น้ำต้น หรือ คนโท ขันน้ำล้างมือ ผ้าเช็ดมือ พานเมี่ยงและบุหรี่ซีโย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เช่น บุหรี่ซีโย ก็เปลี่ยนมาเป็นบุหรี่ทั่วไปที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด น้ำต้น ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นขวดน้ำ

อาหารขันโตกดินเนอร์ เป็นอาหารที่นิยมนำมาจัดในงานขันโตกดินเนอร์ มักได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง แคบหมู ไส้อั่ว แกงฮังเล ลาบชิ้น แกงอ่อม ยำชิ้นไก่ และอาจมีอาหารกินเล่น เช่น เข้าแตน (อ่าน “ ข้าวแต๋น ” ) คือขนมนางเล็ด เข้าแคบ คือข้าวเกรียบ ถั่วดินทอด หรือถั่วสงทอด เป็นต้น

บรรยากาศโดยรอบบริเวณงาน ในเขตบริเวณงานจะทำรั้วราชวัติล้อมรอบ จะมีการตกแต่งด้วยประทีปโคมไฟ ที่ประตูเข้างานอาจทำเป็น ซุ้มประตูป่า คือตกแต่งด้วยต้นอ้อย ต้นกล้วย ทางมะพร้าว มีการแสดงต่าง ๆ เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนดาบ ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเชิง และมีดนตรีวง สะล้อ-ซึง บรรเลงตลอดงาน