นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - สูตรการทำซึง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความนาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  11  มกราคม  2548 - สูตรการทำซึง
 


สูตรการทำซึง

การทำซึง เมื่อได้ไม้ที่มีความหนาเหมาะสมกับตัวซึงที่ต้องการแล้ว จะวัดขนาดความกว้างของกล่องเสียงให้มีความสัมพันธ์กับความยาวของคันซึง (วัดถึงคอซึง) ตามสูตร เพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ สูตรดังกล่าวมีอยู่ 3 สูตร คือ

1.  สูตรโล่งเกิ่ง คือ วัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก 1 1/2 ส่วน ไปเป็นความยาวของคันซึง (วัดจากขอบกล่องเสียงถึงคอซึง) สมมุติว่า เส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงมี 10 นิ้ว ความยาวของคันซึงจะมีความยาว 15 นิ้ว

สูตรนี้เสียงซึงจะดังกังวาน เมื่อเล่นในวงเสียงจะชัดเจน สูตรโล่งเกิ่งนี้นิยมทำซึงกลาง

2.  สูตรสองโล่ง คือ วัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก 2 ส่วน ไปเป็นความยาวของคันซึง เช่น เส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงมี 10 นิ้ว ความยาวของคอซึงจะยาว 20 นิ้ว



สูตรนี้เสียงซึงจะไพเราะมาก แต่ความดังจะอ่อนกว่าสูตรโล่งเกิ่ง สูตรสองโล่งจึงเหมาะสำหรับซึงที่ใช้บรรเลงเดี่ยว เท่านั้น

3.  สูตรโล่งเกิ่งปลายสองฝ่ามือ คือ วัดเอาเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงเพิ่มอีก 1 1/2 ส่วน แล้ววัดต่อจากนั้นยาวอีกประมาณ 1 ฝ่ามือไปเป็นความยาวของคันซึง คือ ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางของกล่องเสียงมี 10 นิ้ว ความยาวของคอซึงจะยาว 15 นิ้ว กับอีก 1 ฝ่ามือ


สูตรนี้เสียงซึงจะดังพอดีและมีเสียงใสไพเราะพร้อมกันไปด้วย จึงเหมาะทั้งบรรเลงผสมวงและบรรเลงเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม เสียงของซึงจะดังไพเราะหรือไม่นั้น  ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เนื้อไม้ ขนาด การตั้งเสียง ความได้สัดส่วนของตัวซึง (ซึ่งบางครั้งไม่ได้ตายตัวตามสูตร) เป็นต้น

โดย สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพลายเส้นโดย ไกรวุฒิ  วังชัย)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/01/11/