นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - การแสดงและดนตรีล้านนา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา อังคารที่  14  ธันวาคม  2547

จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า ดนตรีล้านนาในอดีตมักมีบทบาทที่โยงใยกับศาสนาและกษัตริย์ โดยเฉพาะเชิงพิธีกรรม ดังเช่นที่ปรากฏใน  “จารึกหลักที่ 62” ของวัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จารึกเมื่อ พ.ศ. 1913 คือ “…ตีพาทย์ ดังพิณ แตรสังข์ ค้องกลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะเทียด กาหล แตรสังข์ มรทงค์ ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง  อีกทั้งคนโห่อื้อ ดาสะท้าน ทั่วทั้งนครหริภุญชัยแล…”

เครื่องดนตรีชุดดังกล่าว เป็นเครื่องประโคมที่มีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมทางศาสนา  โดยเฉพาะศาสนาพุทธในแถบสุโขทัยและล้านนา จารึกของวัดพระยืนเป็นการจารึกเรื่องราวของพระมหาสุมนเถระที่มาจาก สุโขทัย            ใน “ไตรภูมิพระร่วง” ภาคที่ 2 ตอนที่ 4 กล่าวถึง ความเป็นอยู่ของหญิงและชายแห่งอุตตรทวีป ความตอนหนึ่งปรากฏเครื่องดนตรีที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ว่า “…บ้างเต้น บ้างรำ บ้างฟ้อนระบำบรรลือเพลงดุริยางคดนตรี บ้างดีด บ้างสี บ้างตี บ้างเป่า บ้างขับสัพพสำเนียง เสียงหมู่นักคุนจุนกันไปเดียรดาษ พื้นค้อง กลอง แตรสังข์ กังสดาล หรทึกกึกก้อง…”  และบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จะได้ยินเสียง “…สรรพดังมี่ก้อง ดุจดั่งเสียงพิณพาทย์ ค้อง กลอง แตรสังข์ อันเทพยดาเป่าแลตี ในเมืองฟ้านั้น”           

วรรณกรรมใบลานเรื่อง  “เวสสันตรชาดก ฉบับไม้ไผ่แจ้เรียวแดง”  กัณฑ์มหาราช ตอนพระเจ้าสัญชัยสั่งให้กองทัพและไพร่พลไปรับพระเวสสันดรกลับเมืองนั้น มีพระบัญชาให้นำนักร้องและนักดนตรีพร้อมเครื่องดนตรีไปด้วย ข้อความตอนนี้กล่าวว่า                        “…ฅนทั้งหลาย ฝูงช่างขับนิยายเหล้นลวงโลก หื้อหายโสกมายา ก็หื้อไป อาหยน?ตุ สพ?พวีณาโย พวกพิณตราจำนีต ให้เขาดีดตามกูพลัน คันว่าฅนทังหลาย ฝูงช่างตีกลองน้อยแลกลองหลวง เป่าหอยสังข์หลายสิ่ง ติ่งจักเข้และพิณ 7 สาย ท่านทั้งหลาย จุ่งตีจุ่งเป่า มือนับเล่าสงวนใจ เภรีอันใดดังด่วน หน้าใดม่วนสูจุ่งตี ฅนฝูงช่างตีจุ่งหื้อตีแต่ฅุ้มน้อยราชเราไปเทอะ”             นอกจากนี้ใน “โคลงนิราศหริภุญชัย”  ซึ่งถือว่า เป็นวรรณกรรมประเภทโคลงที่เก่าแก่ ได้มีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีบางชนิดในบทที่ 84 และ 134  ตามลำดับ ดังนี้

“ราตรีเทียนทีปแจ้ง       เจาะงาม     
มัวม่วนนนตรีตาม          ติ่งทร้อ”       
และ
“นักคุณแคนคู่ค้อง       สรไน     
ไพรโอษฐ์สายสลับใส     ดอกสร้อย”    
 

เครื่องดนตรีดังกล่าว ปรากฏในวรรณกรรมสมัยราชวงศ์มังราย หลังจากนั้น ยังไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงดนตรีอีก กระทั่งมาถึงสมัยที่ตระกูลเจ้าเจ็ดตนครองเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงสมัยของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399 - 2413) และสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. 2416 - 2439) ช่วงสมัยดังกล่าวเป็นช่วงที่เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มีการติดต่อสัมพันธ์กันมาก  วัฒนธรรมด้านการแสดงและดนตรีมีการถ่ายโอนเลื่อนไหลหากันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ มีหลักฐานปรากฏทั้งในวรรณกรรมและจากการบันทึกของชาวต่างชาติ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

วรรณกรรมประเภทคร่าว
ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสมัยตระกูลเจ้าเจ็ดตนครอง เมืองเชียงใหม่ หลายฉบับได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม การแสดงและดนตรี ดังจะยกความบางตอนมาเสนอ ดังนี้           

คร่าวเรื่อง หงส์หิน

“พวกมนตรี       เภรีพาทย์ค้อง       สัพพะเครื่องเหล้นนานา
ตั้งแต่วันนั้น     บ่หื้อห่างตา           มโนราห์ละครฟ้อนเต้น
ยิ้งซอวอน       ตามจัดแต่งเหล้น     ยี่เกนันโห่ร้อง”


คร่าวเรื่อง ก่ำกาดำ

“ทังมโหรี               ตบตีค่ำเช้า         พิณพาทย์เหล้นเพลงแน
คอยเบงม่านฟ้อน     เพิ้อเว้อแปแหว     ม่วนนักแคบ่ใช่ของเหล้น
โรงหุ่นโรงหนัง        คนนันตื่นเต้น       แกรวงดังม่วนล้ำ”

คร่าวเรื่อง บัวระวงส์หงส์อำมาตย์

“หื้อป่าวเกณฑ์กัน     ช่างซอช่างช้อย          มีทังขลุ่ยแก้วแกรวง
ทังซึงธะล้อ             พิณพาทย์เหล้นโขน    ฉายหนังหุ่นยนต์เล่นกลแบบห้อ
ทังค้องแลกลอง       เหล้นลวงหลายข้อ       ทังถั่วโปงาแก่วภ้าย”

คร่าวเรื่อง ชิวหาลิ้นฅำ

“พาทย์ค้องกลองวง     มองเซิงทะทุ้ม     ตบต่อยเหล้นเปนคำ
แกรวงเป่านับ           ม่วนทันได้กัน      เพียะพิณลือนันค้อยแคนปี่แต้”

จากตัวอย่างดังกล่าว  ทำให้เห็นภาพการแสดงและดนตรี เช่น มโนห์รา ละคร ขับซอ ลิเก ฟ้อนเมง (มอญ) ฟ้อนม่าน (พม่า) แตรวง ขลุ่ย ซึง สะล้อ โขน ภาพยนตร์ พิณเพียะ แคน และปี่ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากอ่านวรรณกรรมประเภทคร่าวหลาย ๆ เรื่องก็จะพบว่ามีการแสดงและดนตรีมากกว่านี้ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามต่อฉบับหน้าครับ

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2547/12/14/