นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - การทำซึง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความนาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  18  มกราคม  2548 - การทำซึง

  


การทำซึงนั้น เมื่อได้ไม้ที่ได้ขนาดตามสัดส่วนที่ต้องการแล้วก็ขึ้นรูปโครงสร้าง แล้วขูดเจาะโรงเสียง ติดแผ่นตาดเสียง เจาะร่องสายด้านหัวซึง ตอกติดหลักซึงเพื่อขึงสายและติดลูกซึงตามลำดับ

การทำซึงการขึ้นรูปโครงสร้างซึงในส่วนของความเชื่อนั้น ในฐานะที่ซึงเป็นเครื่องดนตรีที่มีหน้าที่ให้สุนทรีรสแด่ผู้ฟัง ย่อมต้องการให้สุนทรีรสนั้นเป็นที่นิยมชมชอบ อีกทั้งเพื่อป้องกันคุณไสยในกรณีที่มีการแข่งขันประชันเสียง จึงมักสรรหาไม้ที่ไม่ใช่ไม้ธรรมดา เช่นไม้ฟ้าผ่า ไม้สองนาง ไม้ตายขาน (ตายเอง) มาทำซึง และที่พื้นโรงเสียงหรือหรือที่ตาดก็มักจะลงยันต์ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตำรา ในที่นี้จะเสนอตัวอย่างสัก 4 ตำรา ได้แก่ ยันต์พระเจ้า  16  พระองค์ ยันต์บัวแก้วบัวขวัญ ยันต์บัวฅำ ยันต์หนูกินน้ำนมแมว ซึ่งมีรูปดังต่อไปนี้


   
นอกจากนี้การขึงสายและการติดลูกซึงยังมีบทบริกรรมอีก เช่น ขณะขึงสายซึงให้บริกรรมคาถา “พิณเจ็ดสาย” ว่า “อะ สุ ปิ ละ หุ ปิ อุ” และขณะติดลูกซึงให้บริกรรมคาถา “ฆ้องแสนเสียง” ว่า “กิง ภา คัง โล กัง” (อ่าน - กิ๋ง ภา กัง โล กั๋ง) คาถาทั้งสองบทนี้นอกจากจะใช้บริกรรมแล้วยังนิยมใช้เสกสุราหรือน้ำสัมป่อย ประพรมเครื่องดนตรีก่อนเล่นอีกด้วย

เมื่อขึงสายติดลูก พร้อมปรับแต่งเสียงให้ได้มาตรฐานตามความต้องการแล้ว ก็ถือว่าได้ซึงตัวหนึ่งไว้บรรเลง ในส่วนของการประดับตกแต่ง เช่น เติมลวดลายแกะสลักกลึงหลักให้สวยงาม หรือใส่ลูกซึงเป็นงาช้างก็แล้วแต่เจ้าของจะประดิษฐ์ตามความพอใจ

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย วสันต์ เพ็ญจันทร์  และ  จรัสพันธ์ ตันตระกูล)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/01/18/