นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - บทบาทและลีลาของซึง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ  นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  25  มกราคม  2548 - ซึง

 

บทบาทและลีลาของซึง   ซึงในฐานะเป็นเครื่องดนตรีสำหรับประเทืองอารมณ์ สามารถนำมาบรรเลงได้ทุกโอกาส ซึ่งอาจบรรเลงเดี่ยว ๆ หรือนำไปบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น เฉพาะการบรรเลงเดี่ยวนั้นค่อนข้างจะมีอิสระ เพราะเสียงเพลงที่ออกมา จะเป็นไปตามความนึกคิดของผู้บรรเลงเอง แต่คราใดที่ต้องบรรเลงร่วม หรือผสมวงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น จำต้องกำหนดบทบาทและลีลา เพื่อมิให้ทางเพลงไปซ้อนทับกันมากจนเกินไป ดังนั้นคีตกรชั้นครูจึงพยายามแยกแยะ และกำหนดทางเพลงให้ ซึงแต่ละขนาดบรรเลงในลีลาที่แตกต่างกัน

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะวงดนตรีที่นิยมใช้ ซึงบรรเลงประกอบ ซึ่งได้แก่ วงสะล้อ – ซึง วงปี่ชุม (อ่าน – ปี่จุม) และวงซอน่าน ดังนี้ วงสะล้อ-ซึง- ซึงใหญ่ มีบทบาทคล้ายผู้สูงอายุ เสียงทุ้มต่ำ ลีลาในการบรรเลงจึงมักสอดรับกับซึงตัวอื่นๆ เสียส่วนใหญ่ หน้าที่ของซึงใหญ่จึงคล้ายกีตาร์เบสของดนตรีสากล วงปี่ชุม ในวงปี่ชุม ซึงที่ใช้ร่วมบรรเลง นิยมใช้ซึงกลาง ตั้งเสียงลูกสี่หรือคู่สี่  บทบาทและลีลาเน้นการคุมจังหวะ          

วงซอน่าน            

ในล้านนายังมีวงซอของเมืองน่านอีกวงหนึ่งที่ใช้ซึงร่วมบรรเลง แต่เรียกว่า “พิณ” (อ่าน“ปิน”) ไม่เรียก “ซึง” เหมือนที่อื่น ซึงที่ใช้บรรเลงเป็นซึงกลางตั้งเสียงลูกสี่ หรือคู่สี่บรรเลงกับสะล้อ (มีนมบังคับเสียง) ประกอบการขับซอน่าน ซึ่งเป็นที่นิยมกันในจังหวัดน่านและแพร่ บทบาทและลีลา เน้นการคุมจังหวะขณะเดียวกันก็มีการสอดลูกเล่นรับกับสะล้อด้วย

ซึงสำหรับเด็กเล่น นอกจากซึงที่ได้กล่าวมาแต่ต้น ยังมีซึงอีกประเภทหนึ่งซึ่งต้องกล่าวถึงด้วย แม้เป็นเพียงของเด็กเล่น แต่ก็พบว่ามีการทำให้เด็กเล่นโดยทั่วไป คือซึงที่ทำจากปล้องไม้ไผ่มีสายที่ได้จากเส้นผิวไม้ในตัว การบรรเลงส่วนใหญ่จะใช้ไม้เล็ก ๆ ตีให้เกิดเสียงดัง วิธีการทำคือตัดไม้ไผ่ลำโตๆ มา 1 ปล้องให้มีข้อติดทั้ง 2 ด้าน เฉือนผิวไม้ไผ่ด้านหนึ่งให้เรียบ กว้าง 3 - 4 เซนติเมตร ตรงขอบทั้ง 2 ข้างของรูนั้น เจาะเนื้อไม้หรือผิวไม้เป็นเส้นยาวๆ แล้วใช้ชิ้นไม้ทำเป็นหมอนรองให้สูงขึ้นจากพื้นผิวเล็กน้อย เพื่อทำเป็นสายซึง ในการเล่นซึงของเด็ก  จะใช้ไม้ขนาดประมาณแท่งดินสอตีให้เกิดเสียงและมีจังหวะต่างๆ ตามต้องการ

   ผู้เขียน : สนั่น   ธรรมธิ

    สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/01/25/