นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - เพียะ (อ่าน – เปี๊ยะ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  1  กุมภาพันธ์  2548- เพียะ (อ่าน – เปี๊ยะ)

เครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดอย่างหนึ่งของล้านนา ที่มีมาแต่โบราณกาล แต่กำลังจะเสื่อมความนิยมและอาจสูญสิ้นไปในที่สุด เครื่องดนตรีดังกล่าวคือ “เพียะ” หรือ “เปี๊ยะ”เพียะ เป็น เครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่ง ปรากฏชื่อในชุดของดนตรีในวรรณกรรมหลายชิ้น เช่น คร่าวซอเรื่อง “ชิวหาลิ้นฅำ” มีชุดดนตรีประกอบด้วยวงปี่พาทย์ กลองมองเซิง แตรวง แคน ปี่ และเพียะ ดังบทคร่าวซอที่ว่า

   “พาทย์ค้องกลองวง     มองเซิงทะทุ้ม
ตบต่อยเหล้นเปนคำ     แกรวงเป่านับ
ม่วนทันได้กัน             เพียะพิณลือนันค้อยแคนปี่แต้
พ่อชายซอถาม            แม่ยิงซอแก้
เหมาะใจนักแกว่านั้น”  
   

เพียะ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีด มีสายโลหะตั้งแต่ 1 ถึง 7 สาย มีกล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่ง คันเพียะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ชิงชัน หรือไม้มะเกลือ หัวเพียะทำด้วยสำริดประดิษฐ์เป็นรูปหัวช้างบ้าง หัวนกหัสดีลิงค์บ้าง หัวนกยูงบ้างส่วนประกอบของเพียะ            หากจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว เพียะมีส่วนประกอบดังนี้

  • กะโหล้ง  ทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าครึ่งตามแนวขวาง ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง กะโหล้งนี้จะมีรูสำหรับร้อยเชือกให้ติดกับเสาค้ำ
  • เสาค้ำ  ทำด้วยไม้เนื้อแข็งซึ่งจะเป็นส่วนต่อระหว่างกะโหล้งกับคันเพียะ เสาค้ำจะมีรูสำหรับหวายรัดร้อยผ่านเพื่อผูกกะโหล้งให้ยึดแน่นกับคันเพียะ
  • หวายรัด  เป็นเส้นหวายเล็ก ๆ สำหรับรัดสายเพียะให้ติดกับคันเพียะ และรัดกะโหล้งให้ติดกับคันเพียะ โดยมีเสาค้ำคั่นกลางที่ด้านในของเสาค้ำ จะมีเส้นหวายร้อยผ่านพร้อมกับมีไม้ขัดสำหรับขันหวายรัดให้ยึดติดด้านในของ กะโหล้ง
  • คันเพียะ  ทำด้วยไม้เนื้อแข็งจัดเช่น ไม้ชิงชันหรือไม้มะเกลือ มีลักษณะใหญ่ช่วงต้น และเรียวเล็กไปถึงช่วงปลายที่ใช้สำหรับสวมหัวเพียะ
  • หลักเพียะ  ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สำหรับทำหน้าที่เป็นลูกบิด ขันสายเพียะเพื่อปรับระดับเสียง
  • สายเพียะ  ทำด้วยเส้นลวดโลหะ เช่น ทองเหลือง หรือทองแดง
  • หน่อง คือจุดที่มีการหน่อง คือ ดึงหรือรั้งสายเพียะให้ยึดติดกับคันเพียะด้วยเส้นด้ายเส้นเล็ก ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สายที่ถูกหน่องนั้นมีเสียงสองเสียงในเส้นเดียวกัน ซึ่งการหน่องนี้จะต้องหน่องตรงบริเวณจุดกำเนิดเสียง Harmonic ของแต่ละเส้น และการหน่องจะมีเฉพาะเพียะที่มีสายตั้งแต่สามสายขึ้นไปถึงเจ็ดสาย
  • หัวเพียะ  ทำด้วยสำริดหล่อเป็นรูปหัวสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง นกหัสดีลิงค์ นกยูง มังกรเป็นต้น นอกจากนี้จะมีรูสำหรับสวมกับปลายคันเพียะด้วย


วิธีการเล่นเพียะ

วิธีการเล่นเพียะ จะถือเพียะด้วยมือซ้ายเฉียงกับลำตัว ใช้นิ้วมือด้านขวาดีดให้เกิดเสียง โดยเรียกลักษณะการดีดนิ้วนี้ว่า
“ป๊อก” เสียงของเพียะเป็นเสียงที่เกิดจากการดีดที่ใช้เทคนิคพิเศษ คือดีดให้เกิดเสียงฮาร์โมนิค หรือ โอเวอร์โทน ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่สูงกว่าเสียงธรรมดาประมาณ 1 ออคแท็บ ขึ้นไป ทำให้เสียงกังวานไพเราะ แต่เบากว่าเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนโดยปกติ นอกจากนี้ กล่องเสียงก็มีส่วนในการควบคุมความกังวาน ความทุ้มแหลม หนัก เบา ด้วยเทคนิควิธีของผู้เล่น ปัญหาการสืบทอด            เนื่องจาก เพียะเป็นเครื่องดนตรีที่หัดเล่นได้ยาก ดังคำกล่าวของนักดนตรีโบราณที่ว่า “สามเดือนหัดปี่ สามปีหัดเพียะ” เสียงของเพียะเบามาก ผู้ฟังต้องตั้งใจ และมีสมาธิ ซึ่งถือว่าบริโภคยาก สาเหตุใหญ่สองประการนี้ ทำให้เพียะเสื่อมความนิยมไป แม้ในปัจจุบันจะมีการพยายามส่งเสริมให้มีการสืบทอดการดีดเพียะ แต่มีนักดนตรีน้อยคนที่เล่นเป็น บางคนเล่นเป็นแล้วต้องเลิกเล่น เพราะหาผู้ฟังได้ยาก

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย จรัสพันธ์ ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/02/01/