นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - สะล้อ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  8  กุมภาพันธ์  2548 - สะล้อ

    

 

สะล้อ 

สะล้อเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีของล้านนา มีลักษณะคล้ายซออู้ของไทยภาคกลาง แต่เวลาสี สายกง” (หางม้า-สายคันชัก) จะอยู่นอกสายสะล้อ พบว่าใน โคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า “ธะล้อ” เครื่องดนตรีนี้น่าจะมาจากภาษาขอมว่า “ทรอ” ซึ่งทางภาคกลางอ่านเป็น “ซอ” แต่ทางล้านนาแยกเสียงอ่าน เป็นสองพยางค์  “ทรอ-ทะลอ-ธะลอ-ธะล้อ-สะล้อ”ส่วนประกอบของสะล้อ

  1. กะโหล้ง หรือ กะโหลกซอ  คือ ส่วนที่เป็นกล่องเสียงของสะล้อ ทำด้วยกะลามะพร้าวเจาะรูด้านหลังให้เป็นทางออกของเสียง ด้านหน้าปิดด้วยแผ่นไม้บาง
  2. ค็อบสะล้อ (อ่าน “ก๊อบสะล้อ”)  คือ หย่องที่เป็นหมอนไม้หนุนรับสายส่วนล่าง บนส่วนหน้าของกะโหล้ง
  3. ตาดสะล้อ  คือ แผ่นไม้บางปิดหน้ากะโหล้ง
  4. สายสะล้อ  คือ สายที่เกิดเสียงขณะที่ถูกสี ทำด้วยสายลวดโลหะ
  5. คันสะล้อ  คือ ส่วนที่เป็นคันทวนของสะล้อ ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
  6. รัดอก  คือ บ่วงรัดสายสะล้อรวบเข้ากับคันสะล้อส่วนบน
  7. หลักสะล้อ  คือ ลูกบิดของสะล้อสำหรับขันสายสะล้อให้ตึง หรือหย่อนเพื่อปรับเสียงตามคามต้องการ
  8. กงสะล้อ  (อ่าน – ก๋งสะล้อ) คือ คันชักทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่         
  9. สายกง (อ่าน – สายก๋ง)  คือ หางม้า สำหรับสีกับสายสะล้อให้เกิดเสียงแต่เดิมใช้ส่วนที่เป็นเส้นของหางม้าประมาณ 30 เส้น ปัจจุบันนิยมใช้สายไนลอนเพราะหางม้าหายากและดูแลยากกว่า


ประเภทของสะล้อสะล้อมี 3 ขนาด คือ

1. สะล้อใหญ่ มี 3 สาย
ตั้งเรียงคู่สี่และคู่สามร่วมกันหากเทียบกับเสียงดนตรีสากลคือเสียงโด ซอล โด
2. สะล้อกลาง มี 2 สาย ตั้งเสียงคู่สี่ เทียบกับเสียงดนตรีสากล สายเอกคือเสียงโด สายทุ้มคือเสียง ซอล
3. สะล้อเล็ก มี 2 สาย ตั้งเสียงคู่สาม เทียบกับเสียงดนตรีสากล สายเอกคือเสียงซอล สายทุ่มคือเสียง โด

ที่นิยมบรรเลงกันแพร่หลาย คือ สะล้อกลางและสะล้อเล็ก ส่วนสะล้อใหญ่ไม่เป็นที่นิยมสูตรการทำสะล้อ            การทำสะล้อ ไม่ปรากฏสูตรตายตัว ส่วนใหญ่ทำขึ้นโดยอาศัยเลียนแบบจากของเก่าและประสบการณ์ทางเสียงและรูป ลักษณะ แต่พอจะอนุมานขนาดของสะล้อได้จากที่ปรากฏโดยทั่วไปดังนี้

  •   สะล้อใหญ่ หน้ากะโหลกกว้างประมาณ  5.50  นิ้ว  คันสะล้อวัดจากกะโหลกถึงหลัก  สะล้อยาวประมาณ  15.00  นิ้ว
  •  สะล้อกลาง หน้ากะโหลกกว้างประมาณ  4.50  นิ้ว คันสะล้อวัดจากกะโหลกถึงหลักสะล้อยาวประมาณ  13.50  นิ้ว
  •  สะล้อเล็ก หน้ากะโหลกกว้างประมาณ  3.50  นิ้ว คันสะล้อวัดจากกะโหลกถึงหลักสะล้อยาวประมาณ  12.00  นิ้ว

    บทบาทและลีลา

  • สะล้อใหญ่ มีลักษณะร่วมทางเสียงรวมระหว่างสะล้อเล็กและสะล้อกลาง แต่เสียงทุ้มต่ำ บทบาทคล้ายคนมีอายุมากไม่ค่อยมีลีลาและลูกเล่นมากนัก
  • สะล้อกลาง บทบาทคล้ายคนวัยกลางคน มีลีลาสอดรับกับสะล้อใหญ่และสะล้อเล็ก
  • สะล้อเล็ก บทบาทคล้ายคนวัยคะนอง มีเสียงแหลมเล็ก ลีลาโลดโผนล้อและรับเสียงสะล้อกลาง ซึงและขลุ่ย

สะล้อที่กล่าวมาทั้งหมด นิยมบรรเลงร่วม ในวงสะลอ-ซึง หรือที่เรียกกันว่าวง “สะล้อ ซอ ซึง” ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือตอนบน

สะล้อเมืองน่าน อย่างไรก็ตามยังมีสะล้อ อีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ได้แก่ สะล้อที่เป็นที่นิยมในจังหวัดน่าน และแพร่ สะล้อดังกล่าวมีลักษณะต่างออกไป คือมีลูก (นม) บังคับเสียงใช้บรรเลงร่วมกับซึง เรียกว่า “พิณ” (อ่าน “ปิน”) ประกอบการขับซอน่าน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย จรัสพันธ์ ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/02/08/