นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - กลองปูชา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  8  มีนาคม  2548 - กลองปูชา


      

 

กลองปูชา  (อ่าน “กลองปู๋จา”)  เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ นิยมสร้างไว้กับวัดเพื่อใช้ตีเป็นพุทธบูชาเป็นหลัก นอกจากนั้นยังใช้ตีบอกสัญญาณ ตีประกอบพิธีกรรม และตีเพื่อเป็นศิริมงคลอีกด้วยๆลักษณะของกลองปูชา      กลอง ปูชาเป็นกลองชุด ประกอบด้วยกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ขึงหน้ากลองด้วยหนังวัว มีหมุดตอกยึดหนังกลองโดยรอบ มีหน้ากว้างประมาณ 1 - 1.20 เมตร ยาวประมาณ 2 - 2.50 เมตร ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่นไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง ไม้สัก ไม้แดง เป็นต้น กลองดังกล่าวเรียก “กลองแม่” หรือ “กลองทั่ง” (อ่าน – ก๋องตั้ง)

นอกจากกลองใหญ่แล้ว ยังมีกลองขนาดเล็กอีก 2 – 3 ใบ (ส่วนมากที่พบมี 3 ใบ) ลักษณะเป็นกลองสองหน้า (บางแห่งมีหน้าเดียว) ขึงด้วยหนัง และมีหมุดตอกโดยรอบเช่นกัน ในแต่ละใบมีหน้ากว้างประมาณ 25 – 50 เซนติเมตร มีขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไล่ลำดับกันไป กลองที่ว่านี้ใช้ตีขัดจังหวะกับกลองใหญ่ ขณะที่ตีจะมีเสียงดัง “ตุ๊บ ๆ”  จึงเรียกชื่อตามเสียงที่ได้ยินว่า “กลองลูกตุบ”

    การสร้างกลองปูชา
เริ่มด้วยการที่พระสงฆ์และคณะศรัทธาจะประชุมหารือกัน เพื่อหาแหล่งอันเป็นที่มาของไม้ เพื่อให้ได้ไม้ที่อยู่ในทิศที่ถูกโฉลกกับนามวัด ตามทฤษฎีภูมินามทักษา

  •     นามวัด คือ วันหรือปีที่สร้างวัด ซึ่งหากเทียบกับมนุษย์ก็ได้แก่วันหรือปีเกิดนั่นเอง เรื่องนี้จากการศึกษาของอาจารย์ไพฑูรย์  ดอกบัวแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดีของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าวันหรือปีมีความสัมพันธ์กับทักษา ซึ่งก่อนอื่นต้องทราบความหมายของทักษาเป็นเบื้องต้น เช่น
  •     ทักษา คือ ชื่อเรียกอัฐเคราะห์ทั้ง 8 ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ราหู และศุกร์ โดยจัดเข้าระเบียบเป็น 8 อย่างคือ บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาละกิณี โดยที่ทักษาต่าง ๆ มีความหมายคือ
  •     บริวาร (ปริวาร) หมายถึง สามี ภรรยา ลูกหลาน ญาติพี่น้อง คนรับใช้ ผู้อยู่ใต้บังคับ
  •     อายุ หมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีการดำเนินชีวิต โรคภัยไข้เจ็บ
  •     เดช (เตชะ) หมายถึง เกียรติยศชื่อเสียง ตำแหน่ง อำนาจวาสนา ความรักใคร่ หน้าที่การงาน
  •     ศรี (สะหลี) หมายถึง ความสุขสบาย โชคลาภ รายได้ ทรัพย์สมบัติ
  •     มูละ หมายถึง มรดกเงินทอง ที่ดิน ทรัพย์สมบัติของวงศ์ตระกูล
  •     อุตสาหะ หมายถึง ความพยายาม ขยันหมั่นเพียร อุปนิสัย
  •     มนตรี หมายถึง พ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้านาย ผู้อุปถัมภ์ค้ำชู
  •     กาลกิณี หมายถึง สิ่งที่ไม่ดี ความเสื่อม ศัตรู อุปสรรคทั้งปวง 

ดังนั้นการหาไม้ที่จะมาสร้างกลองต้องดูทิศทางที่สัมพันธ์กับนามวัด โดยเลือกเอาไม้ที่มาจากทิศที่เป็นมงคล หลีกเลี่ยงทิศที่ไม่เป็นมงคล ในฐานะวัดเป็นสถานที่ของชุมชน ทิศที่เหมาะสมควรเป็นทิศที่เป็น “บริวาร” ส่วนทิศที่ต้องหลีกเลี่ยงคือทิศที่เป็น “กาลกิณี” ตามคติโบราณจะนิยมดูจากวันที่สร้างวัด ซึ่งพิจารณาจากทักษา ดังนี้
    วัน                            บริวารอยู่ทิศ                   กาลกิณีอยู่ทิศ
    อาทิตย์                 ตะวันออกเฉียงเหนือ                      เหนือ
จันทร์                        ตะวันออก                         ตะวันออกเฉียงเหนือ
อังคาร                  ตะวันออกเฉียงใต้                        ตะวันออก
พุธ                           ใต้                                 ตะวันออกเฉียงใต้
เสาร์                    ตะวันตกเฉียงใต้                         ใต้
พฤหัสบดี                   ตะวันตก                           ตะวันตกเฉียงใต้
ราหู (พุธกลางคืน)    ตะวันตกเฉียงเหนือ                      ตะวันตก
ศุกร์                          เหนือ                              ตะวันตกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ในกรณีที่ไม่ทราบวันที่สร้างวัด โบราณจะอนุโลมถือเอาปีที่สร้างวัด ซึ่งก็มีทักษาประจำปี ดังนี้
    ปี                 บริวารอยู่ทิศ              กาลกิณีอยู่ทิศ
    ใจ้ (ชวด)         ตะวันออกเฉียงเหนือ     เหนือ
เป้า (ฉลู)         ตะวันออก                 ตะวันออกเฉียงเหนือ
ยี (ขาล)          ตะวันออกเฉียงใต้        ตะวันออก
เหม้า (เถาะ)      ใต้                         ตะวันออกเฉียงใต้
สี (มะโรง)        ตะวันตกเฉียงใต          ใต้
ใส้ (มะเส็ง)       ตะวันตก                  ตะวันตกเฉียงใต้
สะง้า (มะเมีย)    ตะวันตกเฉียงใต้         ตะวันตก
เม็ด (มะแม)      เหนือ                      ตะวันตกเฉียงใต้
สัน (วอก)         ตะวันออกเฉียงเหนือ    เหนือ
เร้า (ระกา)        ตะวันออก                ตะวันออกเฉียงเหนือ
เส็ด (จอ)         ตะวันออกเฉียงใต้        ตะวันออก
ใก๊ (กุน)           ใต้                        ตะวันออกเฉียงใต้

การสร้างกลองหากจะให้ถูกโฉลกกับวัดและชุมชน ควรพิจารณาแหล่งที่มาของไม้ตามตำราภูมิทักษาที่กล่าวมา

สนั่น ธรรมธิ  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย พิชัย แสงบุญ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/03/08/