นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - การสร้างกลองปูชา (ต่อ1)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  15  มีนาคม  2548 - การสร้างกลองปูชา (ต่อ)

 


การสร้างกลองปูชา

อังคารที่แล้วได้กล่าวถึงการกำหนดแหล่งที่มาของไม้ ที่จะเอามาสร้างเป็นกลองปูชาหรือกล๋องปู๋จา โดยอาศัยทฤษฎีภูมินามทักษา ซึ่งต้องพิจารณาจากนามวัด คือวันที่สร้างวัด หาไม่ได้ก็ให้พิจารณาจากปีที่สร้างวัด เรื่องนี้มีคำถามต่อว่าหากจำไม่ได้ว่า สร้างวัดวันไหนหรือปีใด กรณีเช่นนี้มีการอนุโลมให้เอาวันเกิดหรือปีเกิดของเจ้าอาวาสวัด แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเพราะกลองที่สร้างจะต้องอยู่คู่วัดไปอีกนาน ต้องใช้นามวัด มิใช่นามเจ้าอาวาส เพราะเจ้าอาวาสอยู่ได้ไม่นานก็จะหมดอายุ ดังนั้นทิศทางที่มาของไม้ควรพิจารณาตกลงกันให้ดี ก่อนที่จะเลือกชนิดของไม้เป็นลำดับต่อไป ไม้สำหรับสร้างกลองปูชาสำหรับไม้ที่เหมาะกับการทำกลอง   ตามตำราลักษณะกลองของวัดนันทาราม ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏจารึกในใบลานว่า “ไม้ลมแล้งเป็นดั่งแก้ว ไม้ดู่เป็นดั่งเงิน ไม้สักเป็นดั่งฅำ” คือ ไม้ที่เหมาะสำหรับทำกลอง ถ้าได้ไม้ราชพฤกษ์ก็มีคุณค่าเสมอดั่งแก้วมณี  ไม้ประดู่มีคุณค่าดั่งเงิน และไม้สักมีคุณค่าเสมอดั่งทองคำ

เมื่อพิจารณาได้ต้นไม้ที่เหมาะสมแล้ว จะประกอบพิธีขอต้นไม้จากเจ้าป่าเจ้าเขา โดยจัดเครื่องบัดพลีตามสมควร พร้อมประกอบพิธีอัญเชิญรุกขเทวดาที่อยู่อาศัย ณ ต้นไม้นั้นให้ไปอาศัยที่อื่น จากนั้นจึงลงมือตัดโค่น ซึ่งการตัดโค่นนี้  ตำราลักษณะกลองของวัดแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เสกคมขวานด้วยคาถา แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยตำรากล่าวว่า “เมื่อจักปล้ำไม้ หื้อเอามนต์ นะมะ ตัสสะ เกียะ เสียะ เชียะ ตรายะ สะยะ มะนาปา มุนุชานัง โสตถิ มังคละ ปัปโป ตยานัง เทียทธา หิโน จะระ ทะรุมะสารันติ    เสก ๗ ที แล้วหว่ายหน้าไปหนอาคไนย์ แล้วปล้ำเทอะ” หลังจากโค่นต้นไม้ลงแล้ว ตำรายังกล่าวต่อไปอีกว่า “ปล้ำ แล้ว ตัดเคล้ามันออกหน้อยนึ่ง แล้วเอาท่อนถัดไปนั้นจิ่งจักดีแล ตัดแล้วแทกเอาหน้าต้างเปนมอก แล้วโฉลกลวงยาวว่า นันทเภรี สรีชูขึ้นสู่พื้นสาขา นางพาฅำมาสู่ ปู่เถ้าอยู่ยังเรือน หื้อได้ทัด นันทเภรี สรีชูขึ้น นางพาฅำมาสู่ นั้นเทอะ” คือโค่นต้นไม้แล้ว ให้ตัดส่วนโคนออกเล็กน้อย แล้ววัดเอาความกว้าง (หน้าต้าง) คือเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อนไม้เป็นขนาด จากนั้นเอาขนาดที่ว่าไปวัดเป็นโฉลกตามความยาวดังนี้

    นันทเภรี   สรีชูขึ้น   สู่พื้นสาขา   นางพาฅำมาสู่   ปู่เถ้าอยู่ยังเรือน

นับให้ได้ “นันทเภรี” “สรีชูขึ้น” หรือ “นางพาฅำมาสู่” ถึงจะตัดไม้ แล้วขนย้ายไปยังวัดเพื่อสร้างกลองต่อไปสัดส่วนของกลองปูชา                หลังจากได้ไม้จากป่ามาแล้ว ให้เริ่มขึ้นรูปตัวกลองตามตำรา ตัวอย่างเช่น ตำราของวัดศรีดอนไชย ตำบลสันทราย อำเภอสารภี  จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า "หื้อเอาไม้แทกหน้ากลองนั้นมาหักเปน ๘ ส่วน เสีย ๗ ส่วน เอาส่วนหนึ่งมาแทกลวงส้างกลองนั้น ได้เท่าใดมาตั้ง ๓ คูณ  ๘ หาร” หมาย ความว่า ให้เอาไม้วัดขนาดหน้ากว้างของกลอง แล้วแบ่งขนาดที่วัดได้เป็น ๘ ส่วน หักทิ้งเสีย ๗ ส่วน เอาส่วนหนึ่งไปวัดความยาวของไหกลอง ได้เท่าใดเอา ๓ คูณ ๘ หาร คำนวณตามนี้แล้ว ท่านให้ดูตามเศษที่ได้ แล้ววัดโฉลกว่า

        เศษ      ๑       ชื่อ          มังคลเภรี
เศษ      ๒       ชื่อ          นิโรคเภรี
เศษ      ๓       ชื่อ          ไชยเภรี           
เศษ      ๔       ชื่อ          พยาธิเภรี         
เศษ      ๕       ชื่อ        นันทเภรี            
เศษ      ๖       ชื่อ          มรณเภรี
เศษ      ๗      ชื่อ          พรหมเภรี
เศษ      ๘      ชื่อ          สัตรูเภรี

พยายาม คำนวณให้ได้ เศษ ๑, ๒, ๓, ๕, หรือ ๗ แล้วเริ่มขุดเจาะไหกลอง การขุดเจาะไหกลองถ้าจะได้ขุดง่ายควรขุดขณะที่ไม้ยังไม่แห้งสนิท เพราะถ้าไม้แห้งสนิทแล้ว เนื้อไม้จะแข็งมาก ยากแก่การขุดและเมื่อขุดได้ที่แล้ว อาจต้องค้ำภายในไห หรือตีแผ่นไม้ตรึงหน้ากลองไว้ เพื่อคงรูปมิให้บิดเบี้ยวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเนื้อไม้จะอยู่ตัว

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยนายพิชัย  แสงบุญ)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/03/15/