นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - การสร้างกลองปูชา (ต่อ2)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  22  มีนาคม  2548 - การสร้างกลองปูชา (ต่อ2)

   

 

การเจาะรูขอบกลองสำหรับตอกหมุด

เมื่อได้ไหกลองที่ขุดเจาะลงตัวแล้ว จะต้องเจาะรูโดยรอบขอบกลองสำหรับ “ใส่แซ่” หรือ “จดแซ่” คือตอกหมุดเพื่อตรึงหนังกลอง และรูดังกล่าวจะต้องมีจำนวนที่ถูกตามโฉลกอย่างเช่นตำรา ลักษณะกลองของวัดนันทาราม ตำบลไชยสถาน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ให้คำนวณระยะการเจาะรูให้ลงตัวกับขอบกลอง โดยให้ได้จำนวนเท่ากับจำนวนนับที่ถูกโฉลกดังนี้ “ตีลงไร่ ตีลงนา ตีหาเพิ่น ตีฅ้วนฅ้วน ตีบ่วาย ตีหลวงหลายอุ่มเหล้า ตีแพ้เจ้า ตีเข้าเรี่ยว” การคำนวณจะต้องให้ได้ “ตีบ่วาย” จึงจะดี จากนั้นอาจมีการฉาบ หรือทาด้วยสารสกัดหรือทาสี เพื่อป้องกันมอดกันแมลงแล้วตากแดดให้แห้งสนิท

การหุ้มกลอง
หลังจากแห้งแล้ว ก็ต้องหาช่วงระยะเวลาที่จะทำการหุ้มหน้ากลอง ตำราของวัดศรีดอนชัย อำเภอสารภี ได้กล่าวถึงช่วงการหุ้มกลองไว้ว่า

* “เดือน 12          จักได้เข้าของอันดี อันจำเริญใจ (เจริญและได้ข้าวของสมบัติ)
* เดือนเจียง          อยู่เย็นใจ (ร่มเย็น)
* เดือนยี่               จักชำนะแก่ข้าเสิก (มีชัยชนะแก่ข้าศึก)
* เดือนสาม          ไฟจักไหม้ (มักเกิดไฟไหม้)
* เดือนสี่              จักมีเข้าของมาก (มีข้าวของมาก)
* เดือนห้า             จักมีโสกทุกข์ ร้อนใจ (จะได้ทุกข์โศก กังวลใจ)
* เดือนหก            จักได้เข้าของเพิงใจ (ได้ข้าวของอันพึงพอใจ)
* เดือนเจ็ด           บ่ดี  จักเสียเข้าของ (จะเสียข้าวของ)
* เดือนแปด          มีงัวฅวายเตมครอก (มีวัวควายเต็มคอก)
* เดือน 9, 10, 11  ในสามเดือนนี้อย่าหุ้ม บ่ดี  จักฉิบหาย
* เดือน 12            ได้เข้าของแห่งท่านดีนัก (ได้ข้าวของจากผู้อื่น)

”ตำราข้างต้นได้กล่าวถึงพืชที่เป็นตัวยา เพื่อใช้ทุบเจือน้ำสำหรับแช่หนังกลองให้อ่อนตัวก่อนหุ้ม ตัวอย่างเช่น  เครือเขาหนัง (ข้าวสารดอกใหญ่)  หญ้าหลับมืน (ชุมเห็ด)  เปลือกสา  และหญ้าผากควาย (หญ้าตีนกา) เป็นต้น ดังนั้นก่อนหุ้มจึงมักมีการแช่หนังกลองก่อนอย่างน้อยประมาณ 1 คืน จากนั้นจึงเริ่มหุ้มเอาขนาด คือยังไม่ใช่เป็นการหุ้มถาวร หากแต่หุ้มเพื่อให้หนังอยู่ตัวประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือให้ได้ขนาดความกว้างของหนังที่จะพอดีกับหน้ากลอง ซึ่งการหุ้มลักษณะนี้ จะมีการดึงด้วยเชือกให้ตึงเสมอ พร้อมนี้จะมีการตีหน้ากลองด้วย “ห้วกล้วยเน่า” ได้แก่เหง้าของต้นกล้วยที่ตายแล้ว โดยกล่าวกันว่า จะช่วยให้หนังอ่อนตัวเข้าที่ได้เร็วขึ้น สำหรับระยะเวลากระทำการในส่วนนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เมื่อเห็นว่าหนังอยู่ตัวแล้ว จะตรึงไว้สักระยะหนึ่งประมาณ 3 – 5 วัน แล้วค่อยตัดหนังให้ได้ขนาดตามต้องการ แต่อย่างไรเสียก็ยังพบว่าบางแห่งถือโอกาสที่หนังอยู่ตัวนี้ทำการจดแซ่ คือ ตอกหมุดไปเลยแล้ว จึงตัดแต่งขอบหนังที่เหลือภายหลัง

วิธีการหุ้มกลองยังมีรายระเอียดที่จะต้องกล่าวถึงอีก โปรดอดใจรอพบกันวันอังคารหน้า

    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/03/22/