นาฏดุริยการล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - การสร้างกลองปูชา (ต่อ3)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  29  มีนาคม  2548 -การสร้างกลองปูชา (ต่อ3)

 

 

การหุ้มกลองปูชา

ดังที่ได้กล่าวเมื่อวันอังคารที่แล้ว เริ่มแรกของการหุ้มหนังหน้ากลอง ต้องหุ้มพรางเพื่อตรึงหนังให้ตึงอยู่ตัวก่อน และเมื่อหนังตึงได้ที่แล้ว บางแห่งก็ถือโอกาสตอกหมุดไปเลย แต่บางแห่งจะตัดแผ่นหนังเป็นรูปวงกลม ตามรูปหน้ากลอง ทั้งนี้อาจมีพิธีกรรมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ตามมา เช่นการลงยันต์หน้ากลอง การบรรจุหัวใจกลอง และการกล่าวคำโฉลกขณะตอกหมุดเป็นต้น

การลงยันต์หนังหน้ากลองจะลงไว้ด้านใน ส่วนยันต์ที่จะลงมีหลายตำราอาทิ ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้าชนะมาร ยันต์ดอกไม้เมืองสวรรค์ เป็นต้น การเลือกยันต์มักเลือกตามอานุภาพเช่น ต้องการความเกรียงไกร ก็ใช้ยันต์ตรีนิสิงเห ต้องการชัยชนะก็เลือกยันต์พระเจ้าชนะมาร หรือต้องการความนิยมชมชอบ ก็จะเลือกยันดอกไม้เมืองสวรรค์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมียันต์ประเภทเดชะนุภาพ ได้แก่ยันต์เสือโคร่ง แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะถือว่าเสือชอบกินวัว การนำเอายันต์เสือโคร่งมาลงใส่หนังวัว จะทำให้เกิดผลร้ายภายหลัง

หลังจากลงยันต์ ก่อนจะมีพิธีหุ้มจะมีการบรรจุหัวใจกลองก่อน ซึ่งโดยทั่วไปหัวใจกลองจะเป็นกระดองน้ำเต้า  ภายในบรรจุแผ่นยันต์ทองเหลืองเป็นหลัก  นอกจากนี้ อาจมีการบรรจุพระธาตุ พระเครื่อง รัตนชาติ และเครื่องราง ฯลฯ เข้าไปด้วย ขณะที่หัวใจกลองบางแห่งอาจเขียนเฉพาะคาถา อย่างเช่น ตำราของวัดนาคตหลวง ตำบลนาคต  อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กล่าวถึงคาถาที่ใช้เขียนว่า

    " เมื่อจักหุ้มนั้น หื้อเอามนต์ โอม เทพพะเภรี เชยยะ เชยยันติ มะระณัง เชตันติ ทิพพันติ สวาหะ นะวะภา พุทธะโน เยนะ นะเยโน นะชิตา ชินะ นะชิตา มานิโน เยนะ นะเยโน พุทธะภาวะนา  เขียนในแผ่นทองใส่หมากน้ำเต้า แขวนไว้เปนใจกลอง…เอา  นะ  แปดตัวแต้มใส่นอกหมากน้ำเต้า" คาถาดังกล่าวต้องเขียนด้วยอักขระล้านนาคือ 

คาถาทั้งหมดให้เขียนลงในแผ่นทองเหลือง แล้วบรรจุลงในกระดองน้ำเต้า ส่วนด้านนอกน้ำเต้าท่านให้เขียน         จำนวน  8  ตัว ล้อมรอบผิวน้ำเต้าไว้ สำหรับเครื่องบูชาครู  ประกอบด้วยเบี้ยพันสาม ผ้าขาว ผ้าแดง เงินร้อยหนึ่ง เทียนสี่คู่  พร้อมข้าวตอกดอกไม้ เมื่อเสร็จพิธีให้แขวนหัวใจกลองไว้ด้านบน ภายในตัวกลอง  จากนั้นเริ่มพิธีหุ้มหนังหน้ากลอง ซึ่งอาจกล่าวโดยสังเขปดังนี้

การหุ้มหน้ากลองไม่นิยมหุ้มเดือนข้างแรม จะหุ้มเฉพาะในช่วงข้างขึ้นเท่านั้น และในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องหาวันที่เป็นมงคลฤกษ์ เมื่อได้วัดที่เหมาะสมแล้วก็จะประกอบพิธีดังนี้

  • แต่งเครื่องบูชาครู อันประกอบด้วย เบี้ยหมื่น หมากหมื่น ข้าวกระบุง อาหาร ขนม ดอกไม้ เทียน 8 คู่
  • ทำพิธีบวงสรวงเทวดา โดยปลูกหอเทวดาขึ้นทั้งสี่ทิศ  แล้วบวงสรวงบูชาด้วยเครื่องสังเวยมีอาหาร ขนม ผลไม้ อย่างละ 4 ชิ้น แล้วปักช่อ (ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) สีเทา เขียน แดง และดำ อย่างละ 4 ในทิศตะวันออก ใต้ ตะวันตกและเหนือตามลำดับ
  • ใช้เชือกดึงเพื่อตรึงหนังหน้ากลอง แล้วตีหน้ากลองด้วยหัวกล้วยเน่าอีกครั้ง เพื่อให้หนังอยู่ตัว
  • ตอกสลักหุ้มด้วยโฉลกว่า  “ตีเซิ่งเจ้า  ตีเข้านา  ตีหาไพร่  ตีไต่คำ  ตีนำพระ” โดยไม่ให้ตกโฉลกตรง ตีเซิ่งเจ้า และ ตีไต่คำ


เมื่อตอกสลักจนครบรูแล้ว อาจขูดหน้ากลองด้วยคมมีด เพื่อขูดเอาขนบนผิวหนังออก และหากต้องการให้หน้ากลองขาวสะอาดก็ให้ขัดถู ซึ่งตำราโบราณของวัดศรีดอนไชย ตำบลสันทราย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงห่า กล่าวไว้ว่า “เมื่อหุ้มแล้วจักหื้อหนังขาวนั้น หื้อเอาดั่งเฟืองชุบน้ำลูบทาไว้ปนหมากเคี้ยวก็ดี คำนึ่ง สองคำปูนอั้น สินไม้หื้อเพียงถูหน้าเสียชาแล” คือท่านให้ใช้ขี้เถ้าของฟางข้าวผสมน้ำเป็นยาขัด แล้วใช้เศษหมากสำหรับเคี้ยวประมาณ 1 คำ หรือ 2 คำ หุ้มไม้ที่ตัดแต่งผิวเสมอกันดีแล้ว ชุมยาขัดแล้วถูหน้ากลอง จะทำให้หน้ากลองขาวสะอาดดูงาม

ท้ายสุดหลังการหุ้มจะ มีพิธีแรกตีว่า "หุ้มแล้ว เสกอ้อยดำ … ตี 9 คำ  ตอกหลิ้ม คัดๆ ไว้ อย่าหื้อใผได้ตี" คือพอหุ้มเสร็จ ก็ทำพิธีแรกตีโดยเสกอ้อยดำ ด้วยมนต์คาถา แล้วตี 9 ครั้ง ตอกสลักให้แน่น มิให้ใครตีต่อ เป็นเสร็จพิธีกรรมการหุ้มหน้ากลองใหญ่

 

สำหรับกลองเล็กที่เรียกกลองลูกตุบ พบว่ามีการวัดขนาดให้สัมพันธ์กับกลองใหญ่ด้วย ตามตำราของวัดศรีดอนไชย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ว่า "เมื่อจักแปลงกลองลูกตุบนั้น  หื้อแทกลวงยาวส้างกลองมาหักเปน 3 ส่วน ดี 1 ส่วนนึ่งลงค็หัก 3 ส่วนเอาส่วนแล"  กล่าวคือ ให้วัดด้านยาวของไหกลองใหญ่แล้วแบ่งเป็น 3 ส่วน เอาส่วนหนึ่งในสามนั้นมาแบ่งเป็น 3 ส่วน  แล้วเอาหนึ่งในสามส่วนสุดท้าย มาเป็นขนาดความกว้างของกลองลูกตูบ ใบที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 3 ใบ (บางแห่งมี 2 ใบ) ที่เรียกว่า “ลูกตั้ง” ส่วนอีกสองใบลดขนาดลงมา  ซึ่งตำราดังกล่าวไม่ได้ให้ขนาดความกว้าง ของกลองลูกตูบที่เหลือแต่อย่างใด


สนั่น ธรรมธิ  สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ :
http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/03/29/