นาฏดุริยการล้านนา เรื่องกลอง - การนำกลองปูชาเข้าวัด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  5  เมษายน  2548 - การนำกลองปูชาเข้าวัด


 

การนำกลองปูชาเข้าวัด

ชุดกลอง บูชาทั้งหมดเมื่อเสร็จพิธีการสร้าง ก็จะมีพิธีการนำเข้าสู่วัดเพื่อนำไปติดตั้งในหอกลอง พิธีนี้จะแบ่งกลุ่มคนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นผู้หามกลอง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเฝ้าระวังดักอยู่ที่ประตูวัด เมื่อหามกลองไปถึงประตูวัด กลุ่มที่ประตูวัดจะซักไซร้ไล่เรียงมิให้นำกลองเข้าโดยง่าย  ซึ่งมีคำเจรจาโต้ตอบว่าไว้โดยละเอียดตามตำราวัดศรีดอนไชย อำเภอสารภี แต่ในที่นี้ขอสรุปใจความโดยสังเขปดังนี้

  • กลุ่มประตูวัด: พวกท่านเป็นใครมาจากไหน หามอะไรมา หูตาก็ไม่มี เป็นของกาลีจัญไร จงรีบไป ไม่อย่างนั้น เราจะฆ่าฟันพวกท่านเสีย
  • กลุ่มหามกลอง: พวกเราเป็นชาวลังกา นำเอากลองวิเศษชื่อ "นันทเภรี" มาถวายเพื่อรักษาพุทธาวาสราชครู และกษัตริย์ราชวงศ์
  • กลุ่มประตูวัด : ไม่จริงกระมัง อาจเป็นกลองไม่ดี ตีแล้วเกิดทุกข์ร้ายก็ได้
  • กลุ่มหามกลอง: กลองนี้เป็นกลองวิเศษ ตีแล้วได้ทรัพย์สินนานา ตีแล้วเทวดาก็ยินดี ตีรักษาเจดีย์พระบาท อีกรัฐราษฎร์ทั้งปวง


เมื่อได้ความอย่างนั้นกลุ่มที่ประตูวัดก็กล่าวว่า " ดีๆ คันสูเจ้าว่า เปนกลองแก้ว กลองแสง กลองเงิน กลองฅำ กลองนำพระเจ้า กลองเข้าดี ตีหื้อเข้าพิ่งเท้า ตีหื้อรั่งมีเปนดี มีทีฆาอายุยืนยาวเที่ยงเท้า สองร้อยซาวเข้ากัปปวัสสา ดั่งอั้น ตูข้าจักขอปูชาเอาไว้ เปนแก้วแก่เมือง เปนแสงแก่วัด แลเจ้านายทังมวล ท่านทังหลายจุ่งหามเข้ามาวัดวาอาราม ตูข้าเทอะ"

การหามกลองเข้าวัด อาจมีวิธีปฏิบัติต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น บางแห่งมีการจุดประทัดโห่ร้องเอาชัย แห่แหนรอบพระวิหาร แล้วนำไปสู่หอกลอง บางแห่งมีการลากจูงหูกลองด้วยคีมเหล็ก บางแห่งมีการตั้งแถวสวดมนต์ขณะที่ขบวนกลองผ่าน และที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ คือ มีการขัดราชวัตร ประดับช่อฉัตร สัปทน กล้วย อ้อย ดอกไม้นานาที่หอกลอง เมื่อแห่กลองไปถึงจะมีพิธีถวายกลองพร้อมไทยทาน เสร็จแล้วนำกลองนั้นติดตั้ง พระสงฆ์อนุโมทนาและสวดชัยมงคลคาถา เป็นเสร็จพิธี


ระบำหรือเพลงกลอง

การตีกลองปูชามีท่วงทำนองและจังหวะที่ชาวล้านนาเรียกว่า "ระบำ" อยู่หลายลักษณะ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับบทบาทที่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ด้วย (ดังจะได้กล่าวต่อไป) ระบำในการตีกลองปูชาโดยทั่วไปมี 3 ลักษณะการตีได้แก่
    1. ระบำธรรมดา   ตีเฉพาะกลองใหญ่เน้นจังหวะซึ่งมีทั้งตีช้าไปหาเร็ว ตีเป็นคู่ ๆ และตีรัว
    2. ระบำเข้ากับฆ้องและฉาบ  ตีทั้งกลองใหญ่ กลองลูกตุบ โดยมีฆ้องและฉาบประกอบจังหวะ
    3. ระบำฟาดแส้  ตีทั้งกลองใหญ่ กลองลูกตบ โดยมีไม้เรียวที่เรียก "ไม้แส้-ไม้แสะ" ฟาดหน้ากลองเป็นจังหวะหลัก
เฉพาะลักษณะที่ 2 มีระบำหรือท่วงทำนองในการตีตั้งแต่ช้าไปถึงเร็ว ในแต่ละระบำมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ระบำเสือขบตุ๊ สาวหลับเต๊อะ  สะบัดชัย และล่องน่าน เป็นต้น


โอกาสในการตีกลองปูชา

กลองปูชาเป็นกลองขนาดใหญ่ เสียงดังไปไกล บทบาทที่ชัดเจนจึงมีอยู่ 2 ประการได้แก่บทบาทในเชิงสัญญาณ และบทบาทในเชิงวัฒนธรรม

บทบาทในเชิงสัญญาณ คือ ตีบอกสัญญาณแจ้งข่าวในชุมชน ได้แก่ ระบำธรรมดา โดยมีจังหวะเป็นรหัสบอกเช่น ตีช้าไปหาเร็ว เป็นการตีเรียกประชุม ตีเป็นคู่ ๆ มีข้าศึกประชิดเมืองให้เตรียมตัวรับสถานการณ์ หรือตีรัวเร่งเร็วแสดงว่าเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายกระทันหัน เป็นต้น  นอกจากนี้ ระบำเข้ากับฆ้องและฉาบ ยังเป็นสัญญาณบอกว่ารุ่งขึ้นวันต่อไปเป็นวันธรรมสวนะอีกด้วย

บทบาทในเชิงวัฒนธรรม คือ ตีบอกสัญญาณเช่นกัน แต่เป็นสัญญาณที่แฝงฝังไปด้วยมิติแห่งความเชื่อ โดยเฉพาะระบำเข้ากับฆ้องและฉาบ และระบำฟาดแส้ กล่าวคือ การตีระบำเข้ากับฆ้องและฉาบในวันโกน นอกจากจะเป็นสัญญาณบอกคนแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นการบอกเหล่าวิญญาณอมนุษย์ในภพภูมิต่าง ๆ ที่สามารถมารับเอากุศลผลบุญ รวมถึงเหล่าเทพยดา อินทร์ พรหม ยมราช มาอนุโมทนาในวันรุ่งขึ้น ส่วนในวันพระจะมีการตีทั้งก่อน หรือหลังจากพระแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดจนหลังสวดมนต์เย็น ในความเชื่อลักษณะเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็ถือเป็นการตีเพื่อเป็นพุทธบูชาไปด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกว่า คราใดที่บ้านเมืองไม่สงบสุข เช่น เกิดศึกสงคราม เกิดทุพภิขภัยหรือ โรคภัยก็จะมีการตีระบำที่มีค้องกับฉาบในระบำสะบัดชัย  เพื่อขับไล่สิ่งเลวร้ายและเป็นศิริมงคลอีกโสดหนึ่ง  ในส่วนของระบำฟาดแส้จะนิยมตีเมื่อมีงานบุญของวัด เช่น งานทานสลากภัตต์ เพื่อประโคมสมโภชอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ตีเพื่อเป็นสัญญาณบอกวิญญาณและเทวดา รวมถึงตีเป็นพุทธบูชาตามความเชื่อดังที่ได้กล่าวมา

    สรุปได้ว่ากลองปูชาเป็นกลองที่สำคัญและมีความหมายสำหรับชาวล้านนา  โดยทั่วไป วัดแทบทุกวัดในเขตภาคเหนือตอนบน จะมีกลองปูชาตั้งอยู่ในหอกลอง แม้ปัจจุบันจะหาคนตีได้ยาก และบทบาทลดลงเพราะมีสิ่งอื่นมาทดแทน แต่ก็มีคนพยายามศึกษาและฟื้นฟูขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจต้องถึงขั้นเคลื่อนที่ออกจากวัดมาแห่ขบวน หรือจัดแสดงโชว์ในงานสำคัญ แม้จะมีเสียงคัดค้านก็จำยอม

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย จรัสพันธ์  ตันตระกูล)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/04/05/