บทความนาฏดุริยการล้านนา เรื่องกลอง - กลองสะบัดชัย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  12  เมษายน  2548 - กลองสะบัดชัยกลองสะบัดชัย  


กลองสะบัดชัยกลองสะบัดชัย  

เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน  

บทบาทของกลองสะบัดชัย

อาจกล่าวได้ว่า การตีกลองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ล้านนา และบทบาทของกลองสะบัดชัย จึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมือง  และขบวนแห่  ฯลฯ

แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิม มาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณคดีต่างๆ มากมาย สรุปได้ดังนี้

    1.  ใช้ตีบอกสัญญาณ

การใช้กลองสะบัดชัยตีบอกสัญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

    1.1  สัญญาณโจมตีข้าศึก ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม ผูกที่ 2 กล่าวถึงสมัยพระญามังราย ตอนขุนครามรบพระญาเบิกที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมืองเชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้าย ยกพลเข้าโจมตี กล่าวว่า “เจ้าขุนครามแต่งกลเสิก็อันนี้ แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง (ค้อง) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิก ยู้ขึ้นมาวันนั้นแล” กลองชัยในที่นี้ คือ กลองสะบัดชัยนั่นเอง เพราะในบริบทที่ใกล้เคียงกันนี้มีคำว่า “สะบัดชัย” ตีคู่กับค้องอยู่ด้วย กล่าวคือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเดียวกันผูกที่ 4 สมัยพระญาสามฝั่งแกนครองเมืองเชียงใหม่ พระญาลุ่มฟ้าห้อยกพลเข้าตีเชียงแสน ชาวเมืองแต่งกลศึกโดยขุดหลุมพรางฝังหลาว แล้วตีปีกทัพล้อมไล่ทัพห้อให้ถูกกล “ยามแตรจักใกล้เที่ยงวันหร้อ (ฮ่อ) ยกพลเสิก็เข้ามาชาวเราจิ่งเคาะคล้อง (ค้อง)  ตีสะบัดชัย ยกพลเสิก็กวมปีกกากุมติดไว้” และในสมัยพระญาติโลกราช ตอนหมื่นด้งนครรบชาวใต้ (สองแคว)  ได้ให้พลโยธาซุ่มอยู่จนข้าศึกตายใจแล้ว กล่าวว่า “หมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพูลุ ลาภา ปลี่หร้อยอพลเสิก็เข้า ฝูงอยู่ฅุ่มไม้ก็สว่ายแดงช้างตีจองวองยู่ข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก”
    1.2  สัญญาณบอกข่าวในชุมชน  วรรณกรรมไทเขินเรื่อง “เจ้าบุญหลง” ผูกที่ 5 ตอนชาวเมืองปัญจรนครผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพระญาเจ้าเมือง อำมาตย์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ “อามาตย์แก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ฅอนฟาดหน้ากลองไชย เสียงดังไปผับจอด รู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร” และผูกที่ 7 ตอนเจ้าพรหมปันจัดเตรียมทัพไปเยี่ยมอนุชาและมารดา ได้สั่งให้เสนาไปร้องป่าวให้ชาวเมืองเตรียมขบวนร่วมด้วย “เจ้าก็ร้องเสนามาสู่  แทบใกล้กู่  ตนฅำ ปลงอาชญาทำโดยรีบ ถีบคนใช้หนังสือ กลองสะบัดชัยตีป่าว  กล่าวไพร่ฟ้ามามวล”

2. เป็นมหรสพ

วรรณกรรมเรื่อง อุสสบารส ผูกที่ 1 ตอนพระยากาลีพรหมทัตราชให้นำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยานและในสวน อุทยานก็มีการเล่นมหรสพ “มหาชนา อันว่าคนทังหลายก็เหล้นมโหสรพหลายประการต่างๆ ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดชัยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับ ฟ้อนตบตีนมือ ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน”

ในวรรณกรรมประเภทคร่าวซอเรื่อง หงส์หิน ที่แต่งโดยเจ้าสุริยวงศ์ ตอนมีงานสมโภชเจ้าหงส์หินได้เป็นเจ้าเมือง กล่าวถึงการเล่นมหรสพต่างๆ ซึ่งมีกลองสะบัดชัยด้วยว่า

        “เจ็ดแบกเมี้ยน     บ่ถูกตัวเขา   ดาบลาเอา     ท่ารบออกเหล้น
กลองสะบัดชัย     ลูกตุบไล่เต้น         ขบวนเชิงต่อยุทธ์
ชนผัดหลัง         แล้ววางอาวุธ         พิฆาตข้าฟันลอง”

และ แม้ในงานศพของกษัตริย์ หรือเจ้าเมืองก็มีกลองสะบัดชัยเป็นมหรสพ เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่อง “ก่ำกาดำ” ตอนงานศพพระญาพาราณสี

        “เชิญพระศพมา     ฐานาตั้งไว้             กลางข่วงกว้างเมรุไชย
ฟังดูกลองค้อง      พิณพาทย์เสียงใส     เภรีบัดไชย  สรรญเสริญเจ้า”

    3.  เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ

วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่ 12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง “ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตีกลองสะบัดชัยเห ล้นม่วน โห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก” อีกตอนหนึ่งในผูกเดียวกันว่า “ส่วนพระขิตราช…มีไชยยุทธ์ หากได้แล้วก็ตีค้องกลองสะบัดชัยสงวนม่วนเหล้น กวัดแกว่งดาบฟ้อนไปมา”

    4.  เป็นเครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน

ในวรรณกรรมประเภทโคลงเรื่องอุสสาบารส มีการตีกลองสะบัดชัย ดื่มสุราในเหล่าพลโยธายามว่างจากการรบ ดังปรากฏในโคลงบทที่ 130 ว่า


      “พลท้าวชมชื่นเหล้น      สะบัดชัย   อยู่แล
มัวม่วนกินสนุกใจ          โห่เหล้า
ทัพหลวงแห่งพระขิต      ชมโชค  พระเอย่
กลองอุ่นเมืองท้าวก้อง     ติ่งแตร”

บทบาทและหน้าที่ของกลองสะบัดชัยจากหลักฐานทางวรรณกรรมดังกล่าว  แสดงว่าแต่เดิมนั้นเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพ ทั้งนั้น ต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของ

ล้านนาถูกลดอำนาจจนสูญสิ้นไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ “ศาสนจักร” ซึ่งมีบทบาทคู่กับ “อาณาจักร” มาตลอด ศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงน่าจะเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น “พุทธบูชา” จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา (อ่าน “ก๋องปู๋จา”) เวลาตีก็บอกว่า "ตีกลองปูชา" กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดชัย อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม  แม้จะได้หน้าที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น “สัญญาณ” เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน  ข่าวสารต่างๆ จึงมักออกจากวัด ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง (เฉพาะวัดที่ยังไม่มีเครื่องเสียงตามสาย) เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุมสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกน วันพระ และหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้วคือใช้ใน “มหรสพ” ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัตต์ที่เรียกว่า ทานกวยสลาก (อ่าน “ตานก๋วยสะหลาก”) แม้จะพบว่ามีการปรากฏตัวในฐานะมหรสพ ในสถานที่อื่นนอกเหนือจากวัด แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับไป

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/04/12/