บทความนาฏดุริยการล้านนา เรื่องกลอง - การนำกลองสะบัดชัยเข้าสู่ขบวนแห่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  19  เมษายน  2548 - การนำกลองสะบัดชัยเข้าสู่ขบวนแห่

การนำกลองสะบัดชัยเข้าสู่ขบวนแห่

บทบาท และหน้าที่เดิมของกลองสะบัดชัยอย่างหนึ่ง คือ ใช้ในมหรสพ ซึ่งเป็นมหรสพในระดับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง (วัง) ต่อมาเป็นมหรสพในงานบุญ คือ ระดับศาสนา (วัด) แต่ยังหาหลักฐานไม่พบว่ามีการนำเอาเข้าขบวนแห่ด้วยหรือไม่ เพราะกลองสะบัดชัยหรือกลองปูชาที่อยู่ตามวัดนั้นมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ยากแก่การเคลื่อนย้าย ภายหลังน่าจะมีผู้คิดว่าควรนำไปแห่เข้าขบวนด้วย จึงจำลองขนาดให้พอหามสองคนได้ โดยย่อขนาดให้สั้นลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน


รูปร่างลักษณะกลองสะบัดชัย

รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือ กลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยกลองสองหน้าขนาดเล็ก 1 ลูก  กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน

    
    กลองสะบัดชัยจำลองโบราณ ทำด้วยสำริด

อย่างไรก็ตาม  กลองสะบัดชัยลักษณะนี้พบเพียงแห่งเดียว ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือ กลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่างๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีกลองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30 - 35 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด (ล้านนาเรียก “แซว่”) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ ข้างๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า “ลูกตุบ” กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว ขนาดหน้ากว้างประมาณ 8 - 10 นิ้ว ความยาวประมาณ 12 - 15 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกัน

ดังที่ได้กล่าวแล้ว กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่ ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สายเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตรึงหน้ากลองให้ตึง หรือหย่อนเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลัก ซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย


จังหวะการตี

จังหวะในการตีแบบเดิมซึ่งใช้ตีในหอกลองของวัดมีลักษณะต่างๆ กันตามโอกาสดังนี้

  • ตีเรียกคน เช่น มีงานประชุมหรืองานของส่วนรวมที่ต้องทำด้วยกัน ลักษณะนี้จะตีเฉพาะกลองใหญ่โดยเริ่มจังหวะช้าและเร่งเร็วขึ้น
  • ตีบอกเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไล่ขโมย จะตีเฉพาะกลองใหญ่และมีจังหวะเร่งเร็วติดๆ กัน
  • ตีบอกวันพระ วันโกน ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่และกลองลูกตุบ มีฉาบและฆ้องประกอบจังหวะด้วย จังหวะหรือทำนองในการตีที่เรียกว่า “ระบำ” มี 3 ทำนอง คือ

1. ปูชา (อ่าน “ปู๋จา”) มีจังหวะช้า ใช้ฆ้องโหม่งและฆ้องหุ่ยประกอบ
2. สะบัดชัย มีจังหวะปานกลางใช้ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ยและฆ้องเล็กประกอบ
3. ล่องน่าน มีจังหวะเร็ว ใช้ชุดฆ้องเล็กประกอบ

  • ตีในงานบุญ เช่น งานสลากภัตต์ ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่และลูกตุบ จังหวะเร่งเร็วเสมอต้น เสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ไม้แสะ” ฟาดหน้ากลองให้จังหวะ แต่ไม่มีฉาบและฆ้องประกอบ


ลักษณะการตีดังกล่าวทั้งหมดเป็นการตีอยู่กับที่ ภายหลังเมื่อเข้าขบวน  จึงใช้จังหวะหรือทำนอง “ล่องน่าน” โดยมีไม้แสะตีประกอบด้วย   ต่อมานิยมใช้จังหวะหรือทำนอง “สะบัดชัย” แต่มิได้ใช้ไม้แสะ ตีประกอบ

ลีลาการตี

เดิมทีมีลีลาออกชั้นเชิงชาย เพราะการตีกลองเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น การออกลวดลายหน้ากลองของผู้ตี ก็เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในชั้นเชิงการต่อสู้ของตน ในขณะที่มีจังหวะการตีควบคุมอยู่ การออกอาวุธขณะตีอยู่กับที่ในหอกลอง  นอกจากไม้ตีที่เรียกว่า “ค้อน” แล้วยังใช้อวัยวะส่วนบนที่เป็นอาวุธได้ เช่น หัว ศอก กำปั้น ประกอบด้วย แต่อวัยวะดังกล่าวจะไม่ให้สัมผัสหน้ากลองเลย เพียงทำท่าทางเท่านั้น เพราะถือกันว่า กลองเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกลองสะบัดชัยเริ่มเข้าขบวนแห่  อวัยวะเบื้องล่างที่เป็นอาวุธได้ เช่น เท้า เข่า ก็เริ่มมีบทบาทแต่ยังอยู่ในลักษณะเดิม คือเพียงทำท่า ไม่ได้ให้สัมผัสหน้ากลองนอกจากไม้ตี

เมื่อประมาณ 50 ปี ที่แล้วการทำท่าเงื้อง่าจะใช้ศอก เท้า เข่า กำปั้น โดยไม่ให้สัมผัสหน้ากลอง   แต่ต่อมาใช้อวัยวะสัมผัสจริง  ลีลาจึงโลดโผนเข้มข้นยิ่งขึ้น  หลายคนที่ไม่เห็นด้วย จึงเรียกการตีลักษณะนี้ว่า “กลองรุงรัง”  กลองลูกตุบก็ตัดออก ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็น  และเกะกะ ไม่สะดวกต่อการตีแบบโลดโผน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา  การตีกลองสะบัดชัยแบบสัมผัสหน้ากลอง ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูของหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นศิลปะการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจและออกลีลาได้ชัดเจน ศิลปะในการตีเริ่มมีมาตรฐานเมื่อวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ บรรจุวิชาการตีกลองสะบัดชัยเข้าในหลักสูตร โดยมี ครูคำ กาไวย์ เป็นผู้ฝึกสอน โดยเริ่มจากการทำความเคารพผู้ชม ขอขมากลอง ไหว้ครู ฟ้อนเชิง จับไม้ตีขึ้นฟ้อนในลีลาการฟ้อนดาบ ตีจังหวะช้าและเร็วขึ้น จบแล้วทำความเคารพผู้ชมอีกครั้ง

ปัจจุบันการแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่นิยมแพร่หลาย มีการประกวดหรือแข่งขันกันทุกปี  มีการคิดประดิษฐ์ท่าทางใหม่ๆ  เช่น มีการแปรขบวน ต่อตัว และพ่นไฟ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปกลองสะบัดชัยในปัจจุบันนี้มี  3  ประเภท คือ

       1. กลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีลูกตุบที่มักเรียกว่า “กลองปูชา” แขวนอยู่ในหอกลองของวัดต่างๆ ลักษณะการตีมีจังหวะหรือทำนองที่เรียก “ระบำ” ทั้งช้าและเร็ว บางระบำมีฉาบและฆ้อง บางระบำมีคนตีไม้แสะประกอบอย่างเดียว
       2. กลอง สองหน้า มีลูกตุบและคานหามซึ่งเป็นกลองที่จำลองแบบมาจากประเภทแรก เวลาตีผู้ตีจะถือไม้แสะข้างหนึ่งมือ อีกข้างหนึ่งถือไม้ตีกลอง การตีลักษณะนี้อาจมีฉาบและฆ้องประกอบหรือไม่มีก็ได้ ปัจจุบันกลองสะบัดชัยประเภทนี้เกือบสูญหายไปแล้ว ผู้ที่ตีได้และยังมีชีวิตอยู่ (2548) เท่าที่ทราบคือ ครูมาณพ (พัน)  ยารณะ ซึ่งเป็นศรัทธาวัดสันป่าข่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
       3. กลองสองหน้า มีคานหาม ไม่มีลูกตุบ มีฉาบฆ้องประกอบจังหวะและมักมีนาคไม้แกะสลักประดับซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายปัจจุบัน กลองสะบัดชัยทั้ง 3 ประเภท ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูให้หวนกลับมาสู่ความนิยมอีก โดยประเภทแรกนอกจากจะมีการสอนให้ตีและมีบทบาทในวัด ก็มีการนำเข้าสู่ขบวน ซึ่งอาจมีการเคลื่อนย้ายโดยยกขึ้นค้างแล้วติดล้อเลื่อน ประเภทที่สองมีการเผยแพร่และกำลังเป็นที่นิยม สำหรับประเภทสุดท้ายก็ปรากฏแพร่หลาย เกือบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลองล้านนาไปแล้ว

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพจาก
        * มนตรี ตราโมท , 2503 “กลองสะบัดชัย” ใน สมบัติศิลปจากบริเวณเขื่อนภูมิพล . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร
* บุญปั๋น พงษ์ประดิษฐ์ , 2495 ภาพเขียนสีน้ำมัน ติดตั้ง ณ อาคารกิตติ 1 โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่
โดย  จรัสพันธ์ ตันตระกูล  และเสาวณีย์  คำวงค์

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/04/19/