บทความนาฏดุริยการล้านนา เรื่องกลอง - กลองเต่งถิ้ง, กลองป่งโป้ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  3  พฤษภาคม  2548 กลองเต่งถิ้ง,  กลองป่งโป้ง

               


เป็นกลองที่ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้า มีสายโยงเร่งเสียง และมีขาตั้ง รูปร่างลักษณะคล้ายตะโพนมอญ ชื่อกลองได้ตามเสียงกลอง ขณะที่ตีเสียงดัง “เต่ง – ถิ้ง” โครงสร้างของกลองเต่งถิ้ง มีลักษณะคล้ายตะโพนมอญมาก ตัวกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะม่วง หรือไม้ขนุน หน้ากลองด้านหนึ่งกว้างกว่าอีกด้านหนึ่ง โดยหน้าใหญ่กว้างประมาณ 16 - 18 นิ้ว หน้าเล็กกว้างประมาณ 11 - 13 นิ้ว ตัวกลองยาวประมาณ 26 - 28 นิ้ว หน้ากลองขึงด้วยหนังวัว โดยใช้สายเร่งเสียงโยง ระหว่างคร่าวหูหิ่ง (เชือกที่สอดร้อยขอบหนังหน้ากลอง) ทั้งสองหน้า ดึงให้ตึงจนหนังอยู่ตัว ก่อนตีจะติดขี้จ่าเพื่อถ่วงหน้ากลองทั้งสองด้าน ให้เสียงดังกังวาน

กลองเต่งถิ้ง

ปกติตีคู่กับกลองป่งโป้งในวงเต่งถิ้ง ซึ่งใช้แห่ในงานบุญของวัด และในขบวนแห่งงานศพ นอกจากนี้ยังใช้บรรเลง ประกอบการชกมวย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านมุ่ยเชียงตา และในงานฟ้อนผีอีกด้วย

 กลองป่งโป้ง

เป็นกลองสองหน้าขึงด้วยหนัง มีสายโยงเร่งเสียงและมีขาตั้ง รูปร่างลักษณะคล้ายตะโพน ชื่อกลองได้มาจากเสียงที่เวลาตีดัง “ป่ง – โป้ง”

วิธีสร้าง

การขุดเจาะไหกลองป่งโป้ง

ไหกลองป่งโป้ง

กลองป่งโป้งสร้างจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้ขนุน และไม้มะม่วง เป็นต้น ไม้ที่ใช้ต้องเป็นไม้ที่แห้งสนิท ขุดเจาะเป็นโพรงภายใน โดยหน้าหนึ่งกว่าอีกหน้าหนึ่งประมาณ 2 นิ้ว ความยาวของตัวกลองยาวประมาณเท่ากับความกว้างของทั้งสองหน้ารวมกัน กล่าวคือ ขนาดหน้าใหญ่กว้างประมาณ 10 นิ้ว หน้าเล็กกว้าง 8 นิ้ว ความยาวของตัวกลองยาวประมาณ 18 นิ้ว หน้ากลองทั้งสองหน้านิยมขึงด้วยหนังวัว วิธีการขึงนั้นใช้สายโยงเร่งเสียงระหว่างคร่าวหูหิ่งทั้งสองหน้าให้ตึงจน หนึงอยู่ตัว เช่นเดียวกับกลองชนิดอื่น ๆ

การติดขี้จ่า
กลองป่งโป้งถ้าจะให้มีเสียงดีและดังกังวานต้องติดขี้จ่า คือนำข้าวเหนียวบดผสมขี้เถ้าแล้วติดตรงกลางของหน้ากลองทั้งสองหน้า ให้หน้าใหญ่มีเสียงดัง “ป่ง” หน้าเล็กมีเสียงดัง “โป้ง” โดยเทียบเสียงคู่ 4 คือ ซอล-โด หรือ คู่ 5 คือ โด-ซอล ก็ได้

โอกาสที่ใช้

ใช้ตีประกอบจังหวะให้วงกลองเต่งถิ้ง และวงสะล้อ-ซึง ซึ่งนิยมบรรเลงกันโดยทั่วไปในเขตภาคเหนือตอนบน

        ในภาพ:  กลองป่งโป้งคู่กับกลองเต่งถิ้ง

สนั่น ธรรมธิ   สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดย สรุพันธ์  ไชยชะนะ และเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/05/03/