วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคาร ที่ 10 พฤษภาคม 2548 -วงเต่งถิ้ง

  

 

วงเต่งถิ้ง

เต่งถิ้ง คือวงดนตรีพื้นเมืองของล้านนาประเภทหนึ่ง ที่เรียกชื่อว่า วง “เต่งถิ้ง” เพราะเรียกตามชื่อหรือเสียงของกลองใบใหญ่ ถือเป็นเอกลักษณ์ของวงดนตรีประเภทนี้ วงกลองเต่งถิ้งนี้บางแห่งเรียกวง “พาทย์ค้อง” (อ่าน – ป้าดก๊อง) เพราะมีระนาด และฆ้องวงผสมอยู่ด้วย เครื่องดนตรีในวงเต่งถิ้งประกอบด้วย

1.     แนหลวง    

2.     แนหน้อย

3.     ระนาดทุ้ม    

4.     พาทย์ไม้ (ระนาด)

5.     พาทย์เหล็ก (ระนาดเหล็ก)    

6.     พาทย์ค้อง (ฆ้องวงใหญ่)

7.     กลองเต่งถิ้ง    

8.     กลองป่งโป้ง

9.     สว่า หรือ แส่ หรือ แสว่ (ฉาบ)

 

  • ปี่แน

หรือ “แน” นี้ อาจารย์ยงยุทธ  ธีรศิลป์ สันนิษฐานไว้เมื่อ พ.ศ. 2524 ว่าน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า เพราะพม่ามีเครื่องดนตรีประเภทเดียวกันนี้ แต่มี 3 ชนิด คือ “แนจี” เป็นแน ขนาดใหญ่ “แนแวง” เป็นแนขนาดกลาง และ “แนแหง่” เป็นแนขนาดเล็ก สำหรับแนของล้านนานั้นมีเพียง 2 ชนิด คือ “แนหลวง” และ “แนหน้อย”

  • แนหลวง


อาจารย์ยงยุทธ  สันนิษฐานว่าแนหลวง อาจเลียนแบบมาจากปี่มอญ แนหลวงมีขนาดใหญ่เรียกว่า "แนหน้อย" มีเสียงทุ้มต่ำ เวลาเล่นประสมกับวงจะเป่าเสียงเลอ ๆ เป็นพื้น ไม่มีลูกเล่นมากเหมือนแนหน้อย ปี่แนหลวงนอกจากจะเล่นในวงเต่งถิ้งแล้ว ยังใช้บรรเลงคู่กับปี่แน หน้อยในวงตึ่งนงเพื่อประกอบการฟ้อนเล็บ และฟ้อนเทียนอีกด้วย

  • แนหน้อย


อาจารย์ยงยุทธ สันนิษฐานว่า แนหน้อยอาจเลียนแบบมาจากปี่ชวา ในการเล่นประสมวงนั้น แนหน้อยจะเป็นตัวเอกเพราะเสียงดัง สามารถปรับลีลาให้เป็นทำนองหวาน ซึ้ง เศร้าสลด หรือตลกเฮฮาได้ดี เสียงของแนหน้อยนั้นสูงพริ้วดังในภาษาล้านนาเรียกว่า เสียง “อิ้ว” หรือ “ลิ้ว” สามารถเลียนเสียงธรรมชาติได้เกือบทุกอย่าง เช่น เสียงไก่ขัน เสียงคนพูด เสียงคนร้องเพลง เป็นต้น มีลูกเล่นแพรวพราวมาก มีการล้อการเหลื่อมหรือล้ำหน้าอย่างมีศิลปะ เพลง พื้นบ้านที่แนหน้อยเล่นเป็นประจำ ได้แก่ เพลงแหย่ง ซึ่งเป็นเพลงทำนองเดียวกันกับเพลงปราสาทไหว แต่เล่นคนละระดับเสียง การเล่นต้องอาศัยแนหน้อยเป็นหลัก ดังจะจำแนกให้เห็นโดยใช้การเทียบเสียงโน้ตสากลดังนี้

ถ้าแนหน้อยขึ้นเสียง       โด       จะเป็นเพลงแหย่งหลวงหรือปราสาทไหวลูกตั้ง
ถ้าแนหน้อยขึ้นเสียง       เร        จะเป็นเพลงปราสาทไหว
ถ้าแนหน้อยขึ้นเสียง       มี         จะเป็นเพลงปราสาทไหว
ถ้าแนหน้อยขึ้นเสียง       ซอล    จะเป็นเพลงแหย่งน้อย
ถ้าแนหน้อยขึ้นเสียง       ลา       จะเป็นเพลงปราสาทไหว

นอก จากจะใช้แนหน้อยเล่นประสมกับวงเต่งถิ้งแล้ว ยังใช้เล่นเพลงประกอบกับชุดกลองตึ่งนง เพื่อประกอบการฟ้อนเล็บและฟ้อนเทียนของล้านนา เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบด้วยเพลงแหย่งหลวง แหย่ง ปราสาทไหว และลาวเสี่ยงเทียน โดยเฉพาะการฟ้อนเทียนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้เพลงลาวเสี่ยงเทียน ซึ่งเป็นเพลงจากภาคกลางมากขึ้น ส่วนเพลงที่ใช้แนเป็นอุปกรณ์หลัก ในการประสมกับวงตึ่งนงหรือวงเต่งถิ้งมี 4 เพลง คือ

1.       แหย่ง (ลูก) หลวง
2.       แหย่ง (ลูก) น้อย
3.       แหย่ง (ลูก) กลับ
4.       แหย่ง (ลูก) ค้อง

ทั้งนี้ในแง่ของชื่อเพลงนั้นอาจเรียกผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่ไม่ว่าจะเรียกเพลงแหย่งอะไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพลงแหย่งซึ่งมีต้นตอเดียวกันนั่นเอง


  • ระนาดทุ้ม


ระนาดทุ้มของวงเต่งถิ้งมีลักษณะเหมือนระนาดทุ้มของดนตรีไทยทุกประการ ลีลาการเล่นเครื่องดนตรีนี้ ก็เล่นตามเพลงธรรมดา ไม่มีลูกเล่นมากแต่มีท่วงทำนองและสำเนียงออกทางล้านนา


  • พาทย์ไม้ (ระนาดเอก)


“พาทย์ไม้” (อ่าน – ป้าดไม้) มีลักษณะเหมือนระนาดเอกของดนตรีไทยทุกประการ แต่ลีลาการเล่น มีลูกเล่นมากกว่าระนาดทุ้ม


  • ระนาดเหล็ก (ระนาดเอก)


ระนาดเหล็ก หรือ พาทย์เหล็ก (อ่าน – ป้าดเหล็ก) มีลักษณะเหมือนระนาดเหล็กของดนตรีไทย ให้เสียงที่สดใสจึงมักนำมาใช้ตีประกอบ

  • พาทย์ค้อง (ฆ้องวงใหญ่)


พาทย์ค้อง (อ่าน – ป้านก๊อง) หรือฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยฆ้องซึ่งเจาะรูที่ฉัตร 4 รู สำหรับร้อยหนังตีเกลียวผูกโยงกับวงที่ทำด้วยต้นหวายโป่ง พาทย์ค้องวงหนึ่งมีลูกฆ้อง 16 - 19 ลูก ทุกลูกเทียบเสียงสูงต่ำเรียงกันไปเป็นลำดับ พาทย์ค้องนี้มีลีลาในการเล่นแบบธรรมดาคือไม่โลดโผน ทั้งนี้พาทย์ค้องมีลักษณะแตกต่างจากฆ้องวงของดนตรีไทย กล่าวคือ ฉัตรลูกฆ้องของดนตรีไทยจะตรง แต่ของล้านนาจะงุ้มเข้า

  • กลองเต่งถิ้ง

 
กลองเต่งถิ้ง มีลักษณะคล้ายตะโพนมอญแต่มีขนาดใหญ่มาก เสียงดังกังวาน ใช้ตีประกอบจังหวะและเป็นเอกลักษณ์ของวง ก่อนจะมีการบรรเลงต้องติด “ขี้จ่ากลอง” ที่หน้ากลองเสียก่อนเพื่อให้เสียงดังไพเราะ ขี้จ่ากลองทำจากการนำเอาข้าวเหนียวสุกมาบดให้ละเอียด คลุกผสมกับขี้เถ้า เคล้ากันดีแล้วก็นำไปติดหน้ากลอง ด้านหนึ่งติดแล้วให้ได้เสียง “เต่ง” และอีกด้านหนึ่งเมื่อติดจ่ากลองแล้วตีให้ได้เสียง “ถิ้ง”

  • กลองป่งโป้ง


กลองป่งโป้ง มีลักษณะคล้ายตะโพนแต่มีขนาดเล็กกว่า ใช้ตีรับกับกลองเต่งถิ้งและก่อนที่จะบรรเลง มีการติดขี้จ่ากลองเช่นกัน ด้านติดขี้จ่าให้ได้เสียง “ป่ง” ซึ่งจะเท่ากับเสียง “เต่ง” ของกลองเต่งถิ้ง อีกด้านหนึ่งให้ได้เสียง “โป้ง” ซึ่งจะต้องเท่ากับเสียง “ถิ้ง” ของกลองเต่งถิ้ง ดังนั้นการบรรเลงจะขาดกลองเต่งถิ้งหรือกลองป่งโป้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้


  • สว่า


สว่า หรือ ฉาบ เป็นเครื่องตีประกอบจังหวะชนิดหนึ่ง ทำด้วยโลหะ รูปร่างเป็นแผ่นกลมคล้ายจาน แต่มีปุ่มนูนขึ้นตรงกลาง เจาะรูตรงกลางปุ่มไว้ร้อยเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือตี ลักษณะของฉาบล้านนาเป็นฉาบขนาดกลาง ใช้ตีประกอบจังหวะ คู่กับกลองเต่งถิ้งและกลองป่งโป้ง

    
สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยสุรพันธ์  ไชยชะนะ และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/05/10/