วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคาร ที่ 17 พฤษภาคม 2548 -วงเต่งถิ้ง 2 การประสมวง


การประสมวง

วงเต่งถิ้งในเวลาเล่นอยู่กับที่นั้น การประสมวงต้องอยู่ตามตำแหน่งเพื่อให้เสียงที่บรรเลงเกิดการกลมกลืนทางเสียง และมีความไพเราะ ในอดีตการบรรเลงในขบวนแห่ เช่น การนำศพไปป่าช้า การแห่ขบวนกฐิน หรือการแห่ขบวนผ้าป่านั้น ต้องมีการหามเครื่องดนตรี โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่มีน้ำหนัก เช่น กลอง พาทย์ค้อง ระนาด ฯลฯ ให้นักดนตรีบรรเลงไปตลอดทางตามตำแหน่งของการประสมวงที่ถูกต้อง โดยจัดลำดับเป็นขบวนดังนี้
อันดับที่         1          สิ่งที่แห่  (เดินนำหน้า)
อันดับที่         2          กลองเต่งถิ้งคู่กับกลองป่งโป้ง
อันดับที่         3          พาทย์เหล็ก (ระนาดเหล็ก)
อันดับที่         4          พาทย์ค้อง (ฆ้องวงใหญ่)
อันดับที่         5          พาทย์ไม้ (ระนาดเอก)
อันดับที่         6          สว่า (ฉาบ)
ส่วนปี่แนหน้อยและแนหลวงจะเดินขนาบข้างพาทย์เหล็ก โดยมีตำแหน่งของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ดังนี้

                     

                                  

 

 

 
สิ่งที่แห่ (หมายเหตุ สมัยก่อนยังไม่ได้นำระนาดทุ้มมาบรรเลงประกอบ) โอกาสที่ใช้ชุดกลองเต่งถิ้งบรรเลง วงดนตรีชุดกลองเต่งถิ้งใช้บรรเลงทั้งในงานมงคล และงานอวมงคล อาทิ งานบุญต่าง ๆ เช่น งานปอยหลวง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การถวายทานสลากภัตต์ งานที่เกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านล้านนา เช่น งานฟ้อนผีมด ผีเม็ง งานฟ้อนผีเจ้านาย และงานศพ รวมทั้งใช้บรรเลงประกอบการชกมวย หรือการต่อสู้แบบล้านนา

เพลงที่บรรเลง

ในสมัยก่อน เพลงที่ใช้ชุดวงกลองเต่งถิ้งบรรเลงเป็นเพลงพื้นเมือง ได้แก่ เพลงแหย่งหลวง แหย่งน้อย ปราสาทไหว ล่องแม่ปิง และเพลงลาว เช่น ลาวกระแซ ลาวดวงเดือน ลาวเสี่ยงเทียน หรือเพลงอัตราสองชั้นของภาคกลางที่พอจะจดจำเอามาเล่นได้ อาทิ สร้อยสนตัด และมอญดูดวง เป็นต้น โดยบรรเลงให้เหมาะสมกับงานนั้น กล่าวคือในงานศพจะเล่นเพลงพื้นเมือง หรือเพลงที่ออกทำนองเศร้าสลด เช่น เพลงธรณีกรรแสงพม่าแปลง ส่วนงานบุญต่าง ๆ จะเล่นเพลงพื้นเมือง เพลงลาว ซึ่งเป็นเพลงในจังหวะอัตราสองชั้น อนึ่งในการบรรเลงประกอบการฟ้อนผีมด ผีเม็ง หรือผีเจ้านายนั้น วงกลองเต่งถิ้งจะมีเพลงพิเศษใช้บรรเลงเป็นการเฉพาะ ตามลำดับดังนี้

1.   เพลงห้อย บรรเลงขณะที่เจ้าภาพกำลังจะ “ห้อยผ้า” หรือไปโหนผ้าที่โยงจากขื่อของปะรำพิธีเพื่อให้ผีเข้าสิงหรือเข้าทรง
2.   เพลงพื้นเมืองและเพลงประเภทลาวต่าง ๆ ซึ่งเป็นเพลงในจังหวะอัตราสองชั้นใช้บรรเลง ขณะที่ผู้เข้าทรงออกฟ้อนนอกปะรำพิธี
3.   เพลงขมุกินน้ำมะพร้าว บรรเลงขณะที่ผู้เข้าทรงกำลังดื่มน้ำมะพร้าวตามพิธี (บางตำราว่าเพลงผีมดกินน้ำมะพร้าว)
4.   เพลงรำมวย (แขกวรเชฏฐ์ 2 ชั้น) และเพลงมวย (แขกวรเชฏฐ์ชั้นเดียว) บรรเลงขณะที่ผู้เข้าทรงรำหอกหรือรำดาบ
5.   เพลงฟ้อนผีมด บรรเลงทั่วไปขณะที่มีการฟ้อนผีมด
ทั้งนี้ในการชกมวยหรือการฟ้อนในลีลาของการต่อสู้นั้น วงกลองเต่งถิ้งจะบรรเลง โดยใช้เพลงรำมวยและเพลงมวย

พัฒนาการของวงเต่งถิ้ง

สมัย แรกๆ เครื่องดนตรีใช้ชุดของวงกลองเต่งถิ้งประกอบด้วย ปี่แนหน้อย ปี่แนหลวง ระนาดเหล็ก ระนาดเอก โดยมีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ กลองเต่งถิ้ง กลองป่งโป้ง สว่า หรือฉาบ ในระยะต่อมาได้มีการเพิ่มระนาดทุ้มเข้ามาร่วมในวงดนตรีประเภทนี้อีก เพื่อให้ครบวงเหมือนวงดนตรีไทยภาคกลาง ส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงพื้นเมือง และเพลงที่เป็นจังหวะอัตราสองชั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ต่อมาในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530 ได้มีผู้ทดลองนำเอาเพลงลูกทุ่งมาบรรเลงด้วยวงกลองเต่งถิ้ง ดังที่วงเต่งถิ้งคณะวังสิงห์คำใต้ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปบรรเลงออกอากาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ เพลงแรกที่บรรเลง คือ เพลงฝนเดือนหกของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ โดยให้ปี่แนหน้อยแทนเสียงคนร้อง ปี่แนใหญ่แทนเสียงทุ้ม ระนาดและฆ้องเป็นเสียงดนตรี ปรากฏว่าได้รับความนิยมมาก หลังจากนั้นวงกลองเต่งถิ้งคณะกู่เสือ ศรีโพธาราม หนองแฝก และวงกู่แดง ได้เลียนแบบบ้าง และได้มีการนำเครื่องดนตรีสากลมาบรรเลงผสม เช่น กลองชุด เบส และกีตาร์ เป็นต้น

ปัจจุบัน การบรรเลงดนตรีด้วยวงเต่งถิ้งมีสองลักษณะคือ การบรรเลงแบบโบราณ และแบบสมัยใหม่ ในการบรรเลงแบบโบราณนั้นมีการใช้เครื่องดนตรีแบบเดิม ส่วนแบบสมัยใหม่มักใช้เครื่องดนตรีสากลมาผสมและเล่นเพลงร่วมสมัยที่คนนิยม ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับรสนิยมและความประสงค์ ของเจ้าภาพที่ว่าจ้างวงดนตรีไปแสดง แม้ในงานศพยังมีการบรรเลงแบบสมัยใหม่ ด้วยจังหวะที่เร้าใจทั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความโศกเศร้าลงนั่นเอง

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยสุรพันธ์ ไชยชะนะ จรัสพันธ์ ตันตระกูลและเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/05/17/