วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  24  พฤษภาคม  2548 - กลองตะหลดปด 

 

กลองตะหลดปด  

กลองตะหลดปด เป็นกลองที่ขึงด้วยหนังสองหน้า ลักษณะการหุ้มหน้ากลองใช้สายเร่งเสียงดึง โดยโยงเสียงสอดสลับกันไปมาระหว่างหูหิ่งทั้งสองหน้า ตัวกลองมีลักษณะยาวคล้ายกลองแขก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดเจาะโพรงภายในทั้งสองหน้าอยู่ในลักษณะบัวคว่ำและบัวหงาย มีท่อนำเสียงตรงกลาง

  •     วิธีทำกลองตะหลดปด

กลองตะหลดปดเป็นกลองสองหน้า ด้านที่หน้ากว้างกว่าอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า “หน้าใหญ่” ส่วนอีกด้านหนึ่งจะแคบและเล็กกว่า เรียกว่า “หน้าหน้อย”

การทำกลองตะหลดปดสมัยโบราณ ใช้ ความกว้างของกลองหน้าใหญ่ เป็นตัวกำหนดความยาว ของตัวกลองคือความยาวของกลองประมาณ 3 เท่าของหน้าใหญ่ เช่น หน้ากลองใหญ่กว้าง 7 นิ้ว ตัวกลองจะยาวประมาณ 21 นิ้ว แล้วขุดเจาะภายในให้มีลักษณะบัวคว่ำและบัวหงาย โดยเจาะโพรงให้ลึกเท่ากับความกว้างของหน้ากลองแต่ละหน้า กล่าวคือ ด้านหน้าใหญ่ให้ลึกเท่าหน้ากลองใหญ่ ด้านหน้าหน้อยลึกเท่าหน้ากลองหน้อย แล้วเจาะรูเชื่อมเป็นท่อนำเสียง สัดส่วนและโครงสร้างของกลองตะหลดปดนี้ ขนาดหน้าจะกว้างประมาณ 6 นิ้ว และ 7 นิ้ว

ปัจจุบัน ช่างกลองบางคนได้ปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อคุณภาพของเสียงกลองตามประสบการณ์ของช่างกลอง กล่าวคือ ตัวกลองยาวประมาณ 4 เท่าของกลองหน้าใหญ่ โดยที่โพรงภายในยังอยู่ในลักษณะบัวคว่ำบัวหงาย แต่โครงสร้างเปลี่ยนไปโดยแบ่งความลึก ตามความยาวของตัวกลองเป็น 3 ส่วน สองส่วนแรกเป็นขนาดที่วัดจากศูนย์กลางของท่อนำเสียง ไปจากหน้ากลองด้านเล็ก สัดส่วนที่นิยมปัจจุบันคือด้านหน้าใหญ่กว้างประมาณ 8 - 10 นิ้ว ด้านหน้าเล็กประมาณ 6 - 8 นิ้ว สัดส่วนและโครงสร้างของกลองตะหลดปดขนาดหน้ากว้าง 8 และ 10 นิ้ว

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ทั้งกลองตะหลดปดแบบเดิมและแบบปัจจุบันยิ่งขึ้น โปรดสังเกตภาพแสดงรูปลักษณ์และสัดส่วน ดังต่อไปนี้

หนังที่ใช้หุ้มหน้ากลองนิยมใช้หนังวัว การหุ้มใช้วิธีขึงให้ตึงโดยใช้สายเร่งเสียงยึดโยงระหว่างคร่าวหูหิ่งของทั้ง สองหน้า และเนื่องจากการตีจะตีหน้ากลองด้านเล็กหน้าเดียว ด้านหน้าเล็กจึงใช้หนังที่หนากว่าหน้าใหญ่

  •     การติดขี้จ่ากลอง

กลอง ตะหลดปดโดยทั่วไป ไม่นิยมติดขี้จ่ากลอง (ถ่วงหน้า) แต่บางครั้งหากหน้ากลองตึง หรือหย่อนเกินไปทำให้เสียงไม่เข้ากับฆ้องโหม่ง และฆ้องหุ่ยในชุดที่ใช้บรรเลงร่วม จึงต้องติดจ่าหรือขี้จ่าเพื่อปรับเสียงให้เข้ากับเสียงฆ้อง โดยจะติดหน้ากลองด้านใหญ่ โดยเริ่มติดแต่น้อยแล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกว่าจะได้เสียงตามที่ต้องการ

  •     โอกาสที่ใช้ตี

กลองตะหลดปด ใช้ตีประกอบจังหวะร่วมกับกลองแอว อาจเป็นวงกลอง ตึ่งนง เปิ้งมง ตกเส้ง หรือ กลองอืด ก็ได้ วงกลองเหล่านี้มักบรรเลงเป็นมหรสพในงานบุญ หรือ บรรเลงประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนและในขบวนแห่โดยทั่วไป

    สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/05/24/