วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  31  พฤษภาคม  2548 - กลองหลวง

  

 

กลองหลวง

    กลองหลวง เป็นกลองหน้าเดียว มีขนาดใหญ่ และยาวมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นกลองที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดของประเทศไทยก็ว่าได้ กลองหลวงเดิมนั้นเป็นที่นิยมกันในหมู่ชาว “ไทยอง” แถบบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูขึ้นจนเป็นที่นิยมในเขตล้านนาปัจจุบัน

    กลองหลวงบ้างเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลองห้ามมาร อาจเนื่องจากเป็นกลองที่ใช้ตีสำหรับเวลามีงานบุญที่ยิ่งใหญ่ เช่น งานสมโภชพระธาตุ และงานปอยหลวง เป็นต้น งานเหล่านี้มักใช้กลองหลวงตี และเชื่อว่าเสียงของกลองสามารถเอาชนะมารอันหมายถึงการทะเลาะวิวาทในงานอีก ด้วย และนอกจากนี้จะมีการนิมนต์พระอุปคุตซึ่งเชื่อว่าเป็น พระเถระที่บำเพ็ญเพียรอยู่ในมหาสมุทร มีฤทธิ์ในการปราบมาร เมื่อนิมนต์มาแล้ว ชาวบ้านจะแห่พระอุปคุตซึ่งใช้หินจากแม่น้ำเป็นตัวแทนมาไว้ที่หออุปคุตใน บริเวณจัดงาน เพื่อห้ามเหล่ามารมิให้เข้ามาทำลายพิธีงานบุญได้ และในการแห่มักใช้กลองหลวงด้วย

กลองหลวงนี้พระครูเวฬุวันพิทักษ์ วัดพระบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เล่าว่ามีมาเมื่อราว 80 ปีเศษมานี้เอง โดยช่างชื่อหนานหลวง บ้าน ทุ่งตุม ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ทำขึ้นก่อนมีขนาดหน้ากลองใหญ่ 20 นิ้ว ยาวประมาณ 140 นิ้ว (7 ศอก) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากลอง

ทั่วไปในขณะนั้น แล้วนำมาถวายพระครูพุทธิวงศ์ธาดา วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เจ้าคณะแขวงปากบ่อง (คืออำเภอป่าซางปัจจุบัน) เพื่อใช้สำหรับแห่ครัวทานหรือไทยทานและตีแข่งกัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงมีผู้ทำขึ้นเลียนแบบในเวลาต่อมา โดยได้พัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ เป็นขนาดหน้ากลอง 22 นิ้ว 24 นิ้ว และ 26 นิ้ว จนปัจจุบันขนาดใหญ่ที่สุดคือ 28 นิ้ว ยาว 130 นิ้ว หรือ 6 ศอก 10 นิ้ว สำหรับกลองหลวงใบแรกนั้น กล่าวกันว่ามีเสียงดังมาก นำไปตีแข่งที่ไหนก็ชนะ ต่อมาได้รับการแนะนำว่า ถ้าตัดหน้าให้สั้นลงอีก เสียงจะดังขึ้นกว่าเดิม จึงกระทำตามแต่ปรากฏว่าพอตัดแล้วเสียงกลับลดลงกว่าเดิม ปัจจุบันกลองใบนี้ได้สูญหายไป แต่ส่วนของหน้ากลองที่ตัดออกยังมีอยู่ที่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ

ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาดหน้ากลอง 22 นิ้ว และ 24 นิ้ว เคยเป็นขนาดที่นิยมใช้กัน แต่เมื่อสงครามยุติลงสถานการณ์ไม่อำนวย การแข่งขันตีกลองหลวงจึงหยุดชะงักไป จนกระทั่งพระครูเวฬุวันพิทักษ์ วัดพระพุทธบาทตากผ้าได้ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและสืบเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน แต่ปัญหาที่ประสบคือ กลองดั้งเดิมในเขตจังหวัดลำพูนหาได้ยากเพราะผุพังไปตามกาลเวลา และไม่มีช่างทำขึ้นอีก นอกจากนี้ยังมีคนจากที่อื่นมาขอซื้อกลองขนาดใหญ่ไปอีกด้วย

พัฒนาการ

เกี่ยวกับพัฒนาการของกลองหลวงนั้น อาจสรุปได้ว่า กลองหลวงสมัยดั้งเดิม ตัวกลองจะสั้น ก้นยาว รูกลองตอนต้นแคบและขยายออกตอนปลาย ต่อมาก้นกลองหดสั้นลง รูกลองแคบ และตอนปลายไม่มีการขยายออก ในขณะเดียวกันหน้ากลองจะกว้างขึ้น สมัยล่าสุดมีการพัฒนาให้ก้นกลองสั้นลงอีก ส่วนรูยังเล็กแคบโดยตลอด

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญ และเสาวณีย์   คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/05/31/