วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 7  มิถุนายน  2548 กลองหลวง (2) - การทำกลองหลวง

การทำกลองหลวง
1.  วัสดุในการทำกลองหลวง


       
1.1   ไม้สำหรับทำกลองหลวง

เดิมนิยมทำจากไม้มะค่า แต่เนื่องจากกลองที่ทำจากไม้มะค่า เสียงจะทุ้มต่ำ ไม่แข็งและไม่ดังกังวานเท่าที่ควร ต่อมาจึงหันมาใช้ไม้ประดู่ โดยเฉพาะไม้ประดู่เหลืองเป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะให้เสียงที่แข็งและดังกังวาน แต่ขนาดของไม้ที่เหมาะสมหาได้ยาก และราคาแพง ไม้ประดู่ที่มีคุณสมบัติรองลงมา คือประดู่แดง และท้ายสุดคือ ประดู่ดำ อย่างไรก็ตาม ไม้ที่ใช้ทำกลองหลวงต้องเป็นไม้ลำตรง และมีขนาดใหญ่พอสมควร

ท่อนไม้สำหรับทำกลองหลวง โดยทั่วไปมีความเชื่อว่าต้นไม้ขนาดใหญ่มักจะมีนางไม้หรือเทวดารักษาอยู่ การตัดไม้จึงต้องบอกกล่าวเพื่อขออนุญาตและขอความคุ้มครอง รวมถึงขอพรให้กลองที่จะสร้างให้มีเสียงดีฟังไพเราะ ส่วนผู้ที่ประกอบพิธีกรรมมักเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว โดยใช้เครื่องพิธีกรรม เช่น กรวยดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร ขนม ผลไม้ ไก่ต้ม และหัวหมู เป็นต้น เมื่อทำการตัดแล้วจึงชักลากไปไว้ที่วัดเพื่อทำการสร้างต่อไป

1.2  หนังหุ้มกลอง หนังที่ใช้ทำหน้ากลองใช้หนังวัวทั้งตัวเมียและตัวผู้ แต่ปัจจุบันนิยมใช้หนังตัวผู้เพราะผืนใหญ่กว่า และควรเป็นวัวที่มีอายุปานกลาง ไม่หนุ่มหรือแก่เกินไป โดยใช้หนังด้านที่วัวไม่ได้นอนเอนทับ คือตามธรรมชาติวัวจะนอนเอนทับด้านข้างลำตัวที่เป็นกระเพาะหญ้าเรียกว่า “เพี้ยมหย้า” (อ่าน –   เปี๊ยมหญ้า) ซึ่งเป็นหนังที่แข็งกระด้างไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำหน้ากลอง ส่วนลำตัวที่เป็นกระเพาะน้ำหรือ “เพี้ยมน้ำ” จะไม่ถูกทับ ทำให้มีขนอ่อนนุ่ม และจะให้เสียงดัง ดังนั้นหนังด้านกระเพาะน้ำจึงนิยมนำมาใช้ทำหน้ากลอง


       หนังวัวสดที่ถูกคัดเลือกสำหรับหุ้มหน้ากลองหลวง


        คลี่แผ่นหนังสดแผ่ออก แล้วขึงไว้ตากแดดให้แห้ง

    2.  สูตรในการสร้างกลองหลวง


          
การสร้างกลองหลวงมีสูตรคร่าว ๆ เป็นหลักไว้ ส่วนการลดหรือเพิ่มขนาดอย่างไรสุดแท้แต่ช่างจะเห็นสมควร สูตรดังกล่าวเอาขนาดความกว้างของหน้ากลองเป็นหลักในการวัด ดังนี้

2.1  ไหกลองมีความยาวเท่ากับ 2 เท่าของหน้ากลอง
2.2  ความยาวจากก้นไหถึงเอวเท่ากับ 1/2 เท่าของหน้ากลอง
2.3  ความยาวจากเอวถึงท้ายเท่ากับ 2 เท่าของหน้ากลอง
2.4  ความยาวจากท้ายถึงรูเอวที่เรียก “ขุกก้น” เท่ากับ 1 เท่าของหน้ากลอง

สัดส่วนและขนาดของกลองหลวงนี้ ช่างจะกะหรือประมาณไว้ก่อน จากนั้นจะเริ่มสร้างโดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ซับซ้อนยิ่ง ดังจะได้นำรายละเอียดมาเสนอกันต่อไป

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์ และสุรพันธ์  ไชยชะนะ)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/06/07/