วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

บทความ นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 14  มิถุนายน  2548 - กลองหลวง (3) ขั้นตอนการทำกลองหลวง

 

การทำกลองหลวง เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนพอสมควร เพราะเป็นกลองที่มีขนาดใหญ่มาก จึงต้องมีการเตรียมการค่อนข้างมาก กล่าวคือต้องสร้างค้างหรือแท่นกลึงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ค้างเฅี่ยน” (อ่าน – ก๊างเคี่ยน) สร้างค้างสำหรับขุดเจาะ และทั้งการกลึงหรือขุดเจาะก็ต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญนายช่างที่จะทำกลองจะต้องมีความชำนาญมากถึงจะได้กลองที่มีคุณภาพ สมบูรณ์


3. ขั้นตอนการทำกลองหลวง


        3.1 กลึงกลอง  เมื่อช่างหรือ “สล่ากลอง” กำหนดขนาดไม้ได้ที่แล้วก็จะทำการตัดตามขนาด แล้วถากขึ้นรูปหยาบ ๆ พอเป็นรูปร่าง จากนั้นนำขึ้นแท่นกลึง เพื่อกลึงเป็นรูปกลองต่อไป


        3.2 ขุดเจาะกลองหลังจากกลึงเป็นรูปร่างเสร็จแล้ว จะเริ่มขุดเจาะโดยขุดส่วนที่เป็นส่วนของไหที่เรียกว่า "ในโล่งไห"  ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน ดังนี้

 

  

  • ไหแบบก้นบาตร มีลักษณะคล้ายก้นบาตรพระ  ไหกลองลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันในสมัยก่อน  เพราะทำให้เสียงทุ้มกังวาน
  • ไหแบบไหนั่ง  มีลักษณะคล้ายก้นบาตร แต่ก้นไหแบนราบ
  • ไหแบบก้นน้ำถุ้ง  ลักษณะ ก้นไหสอบลงคล้ายก้นน้ำถุ้งคือ ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่สานพอกด้วยชัน  ให้ตักน้ำขึ้นจากบ่อเป็นทรงกลมด้านบน  แล้วเป็นกรวยแหลมด้านล่าง
  • ไหแบบรังนก  มีลักษณะคล้ายแบบก้นบาตร เพียงแต่ส่วนก้นสุด ขุดเจาะเป็นหลุมเล็กเพื่อต้องการให้มีเสียงลูกปลายสองครั้ง
  • ไหแบบหัวปลี  คือ มีรูปกลมมน เรียวแหลมอย่างหัวปลี


3.3 ทำเหงือกกลอง


เหงือกกลองคือ ปากไหกลองที่รองรับหนังหุ้มหน้ากลอง  โดยทั่วไปมี 2 ลักษณะคือ

1. เหงือกตั่งหม้อ  มีลักษณะเฉียงลงโดยรอบคล้ายที่รองรับก้นหม้อ  เหงือกกลองแบบนี้มีผลต่อเสียงกลอง  กล่าวคือ  เสียงออกมารวดเร็ว  ดังกังวานและมีเสียงลูกปลายน้อย  เหมาะสำหรับกลองหลวงที่ใช้แข่งขัน
2. เหงือกออง  มี ลักษณะเฉียงลงโดยรอบและมีการขุดให้มีร่องลึกรอบ ๆ  ที่เรียก "ร่องลม"  เหงือกกลองแบบนี้มีผลทำให้เสียงกลองออกมาช้า  แต่นุ่มนวลและมีเสียงลูกปลายมาก เหมาะสำหรับกลองหลวงที่ใช้บรรเลง โดยทั่วไป

    3.4 ทำรังนก

รังนก ในที่นี้คือบริเวณที่อยู่สุดของก้นไห  มีลักษณะเป็นโพรงคล้ายรูปถ้วยเป็นเปลาะอีก 3 นิ้ว  ปากโพรงเป็นรูปกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ตรงปากโพรงบริเวณก้นไหไล้ด้วยส่วนผสมของน้ำมันละหุ่ง 1 ส่วน  ผสมกับทราย 1 ส่วน  และปูนขาว 9 ส่วน เพื่อช่วยให้เสียงดีขึ้น  รังนกนี้มีผลต่อเสียงกลอง กล่าวคือ มีส่วนทำให้เสียงของกลองมีลูกปลายสองครั้งคล้ายเสียงสะท้อนหรือเงา เสียง      

    3.5 ทำรูแอว

    รูแอว  คือรูที่เจาะต่อจากก้นไหกลองทะลุไปถึงขุกก้น เพื่อให้เสียงผ่านจากไหไปออกก้น รูแอวมีความยาวราว  44 - 45 นิ้ว   ขนาดท่อนไม้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  2  นิ้ว  สอดลอดได้พอดี รูเสียงนี้  จะลอดผ่านเอวกลองมาอยู่ห่างจากก้นกลองตรงส่วนปากกรวยจะอยู่ตรงก้นกลองพอดี  และกว้างราว  12  นิ้ว  ช่วงปากกรวยนี้เรียก “ง่าซุก” ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เสียงออก  ซึ่งจะทาไล้ด้วยส่วนผสมเช่นเดียวกับก้นไห  กลองหลวงที่มีรูแอวยาวจะมีระดับเสียงต่ำกว่ากลองหลวงที่มีรูแอวสั้น  ในขณะเดียวกันกลองหลวงที่มีรูแอวกว้างจะมีระดับเสียงต่ำกว่ากลองหลวงที่มีรู แอวแคบ  รูแอวนี้นอกจากเจาะเป็นช่องทะลุจากก้นไหไปถึงขุกก้นแล้ว  ยังใช้วัสดุอื่นมาใส่เป็นท่อนำเสียงอีกด้วย  โดยที่โบราณนิยมใช้ท่อไม้ไผ่  ต่อมาใช้ท่อประปาทั้งที่ทำด้วยเหล็กและพลาสติก  รวมถึงท่อไอเสียรถยนต์ด้วย ปัจจุบันนิยมใช้ท่อไอเสียรถยนต์มากที่สุด  ด้วยเห็นว่าผิวเรียบสะดวกแก่การทำความสะอาด

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล
)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/06/14/