วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 21  มิถุนายน  2548 - กลองหลวง (4)


การสร้างกลองหลวงได้เสนอรายละเอียดมาโดยลำดับ ยังมีสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงอีกคือ เรื่องของ “ขุกก้น” และ “หนัง” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้กลองมีเสียงดัง 3.6 ทำขุกก้น


    ขุกก้น  เป็นส่วนโพรงก้นกลองหลวงด้านใด  มี 3 ลักษณะคือ

1. ขุกก้นแบบโบราณ มีลักษณะเป็นรูปกรวย ขุกก้นลักษณะนี้ มีผลทำให้เสียงกลองมีเสียงลูกปลายมาก (เสียงยาว)
2. ขุกก้นรังนก มีลักษณะคล้ายรูปรังนกหรือรูปถ้วย ขุกก้นลักษณะนี้มีผลทำให้เสียงกลองออกมารวดเร็ว  และมีเสียงลูกปลายน้อย (เสียงสั้น)  ช่างกลองนิยมใช้กลองหลวงขนาดเล็ก
3. ขุกก้นแบบผสม  มีลักษณะผสมผสานระหว่างแบบโบราณกับแบบรังนก  มีผลทำให้เสียงกลองดังกังวานไปไกลแต่มีเสียงลูกปลายน้อย 3.7 ทำหนังหน้ากลอง

    การทำหนังหน้ากลองหลวงมีขั้นตอนดังนี้


                 

1. หมักหนัง  โดยใช้หัว "ปู-เลย" คือ ไพลทุบผสมน้ำขยำกับหนังให้เข้ากันดีแล้วหมักไว้ประมาณ 1 คืน

2. นำหนังที่หมักแล้วไปขึงตากแดดให้แห้ง

3. นำหนังที่แห้งแล้วมาทุบหรือตำในครกกระเดื่องโดยตำผสมน้ำมะพร้าวและหัวข่า  เพื่อให้หนังนิ่มและอยู่ตัวหนังสด  ขึงแผ่นหนังแล้วนำไปตากแดด

4. เจาะรูหูหิ่งโดยรอบ  โดยเจาะให้ได้จำนวนเท่ากับ  “รูไท่เข้าสาร” (อ่าน "ฮูไต้เข้าสาน")


นอกจากนี้ยังต้องทำ  หูหิ่ง คร่าวหูหิ่ง  หนังขิน  และไท่เข้าสาร (ไถ้ใส่ข้าวสาร)  ดังนี้

1. หูหิ่ง  คือ เส้นหนังใช้ร้อยถักไปตามรูโดยรอบของขอบหนังหน้ากลอง  นิยมใช้หนังควาย
2. คร่าวหูหิ่ง  คือ เส้นหนังที่ร้อยเข้าในรูห่วงของหูหิ่งเพื่อเป็นเส้นยึดระหว่างหนังขินกับหูหิ่ง
3. หนังขิน  คือ เส้นหนังที่ร้อยโยงระหว่าง คร่าวหูหิ่ง  กับ รูไท่เข้าสาร  เพื่อขึงหรือเร่งเสียงกลอง
4. ไท่เข้าสาร คือ ส่วนอยู่บริเวณส่วนล่างของไหกลอง มีรูโดยรอบ  ซึ่งเจาะเป็นระยะโดยมีจำนวนรูเท่ากับจำนวนหูหิ่ง  ใช้สำหรับร้อยหนังขินเข้ากับคร่าวหูหิ่ง
5. เล็บช้าง (อ่าน "เล็บจ๊าง") คือส่วนที่อยู่สลับกับไท่เข้าสาน

    กล่าวโดยรวมก็คือ  แผ่นหนังวัวที่หุ้มหน้ากลองจะมีขอบซึ่งเจาะรูโดยรอบสำหรับเป็นที่ร้อย  หูหิ่ง  ซึ่งจำนวนห่วงที่นิยม คือ 29, 30, 32 ห่วง  หูห่วงหูหิ่งเหล่านี้จะทำหน้าที่ให้หนังขินมาร้อยขึงตึงไปสอดรูที่ ไท่เข้าสาร   เพื่อดึงหน้ากลองให้ตึงตามที่ต้องการ

    การเจาะรูเพื่อร้อยหูหิ่งนั้น  แต่โบราณเอาหน้ากลองมาแผ่บนพื้น  แล้วเอาก้อนหินหรือเม็ดมะขามมาวางเรียงกำหนดจุดเพื่อเจาะรู  ปัจจุบันท่านพระครูเวฬุวันพิทักษ์ใช้วิธีขีดเส้นผ่าศูนย์กลาง  16   เส้น  จะได้ตำแหน่งจุดที่ขอบ  32  รูพอดี  โดยครั้งแรกเริ่มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2  เส้น  ทำมุมฉากกันก่อน  จากนั้นก็แบ่งครึ่งมุมฉากออกไปอีก  และแบ่งครึ่งมุมไปอีกจนครบ  16  เส้น

หลังจากเจาะรูแล้ว  ก็ต้องหาช่วงระยะเวลาในการหุ้มหน้ากลอง  ตำราของวัดศรีดอนชัย  อำเภอสารภี ได้กล่าวถึงช่วงของการหุ้มกลองไว้ว่า

เดือน 12
เดือนเจียง
เดือนยี่
เดือนสาม
เดือนสี่  
เดือนห้า
เดือนหก
เดือนเจ็ด
เดือนแปด
เดือน 9, 10, 11     จักได้เข้าของอันดี อันจำเริญใจ
อยู่เย็นใจ
จักชำนะแก่ข้าเสิก (ข้าศึก)
ไฟจักไหม้
จักมีเข้าของมาก
จักมีโสกทุกข์ ร้อนใจ
จักได้เข้าของเพิงใจ (ได้ข้าวของอันพึงใจ)
บ่ดี  จักเสียเข้าของ
มีงัวฅวายเตมฅอก
ในสามเดือนนี้อย่าหุ้ม บ่ดี  จักฉิบหาย”

เมื่อหุ้มหน้ากลองเสร็จ อาจมีการตีเพื่อปรับเสียงพร้อมปรับความตึงหย่อนให้เข้าที่ต่อไป


สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูลและเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/06/21/