นาฏดุริยการล้านนา - กลองหลวง (5) การตีกลองหลวง, การติดขี้จ่ากลองหลวง, การบำรุงรักษา, การประสมวง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา กลองหลวง (5) - การตีกลองหลวง,การติดขี้จ่ากลองหลวง,การบำรุงรักษา,การประสมวง

 
การตีกลองหลวง


เนื่องจากกลองหลวงเป็นกลองที่มีขนาดใหญ่มาก  ดังนั้นการตีให้เกิดเสียงดังเต็มที่ตามคุณภาพนั้น  ต้องเรียนรู้ตำแหน่งที่ควรตี  และความหนักหน่วงในการตีด้วย ก่อนการตีกลอง  ผู้ตีจะใช้ผ้าซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เศษจีวร มาพันม้วนเป็นก้อนให้มีลักษณะคล้ายลูกข่าง กำไว้ในอุ้งมือและใช้ปลายผ้าพันยึดติดมือไว้ให้แน่นอีกครั้ง  เวลาตีจะใช้ปลายแหลมของผ้าตีกระหน่ำลงหน้ากลอง จุดหรือตำแหน่งที่ตีคือบริเวณใกล้ๆ ที่ติดขี้จ่าหรือถ่วงหน้า  ตรงใจกลางกลอง       

การติดขี้จ่ากลองหลวง

ตามปกติเสียงกลองหลวงจะไม่ดังกังวานเต็มที่ หากไม่ได้รับการปรับแต่งระดับเสียงด้วยการติดถ่วงหน้ากลอง  หรือที่เรียกว่าติด “ขี้จ่า” ซึ่งทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก หรือเส้นขนมจีนบดผสมกับขี้เถ้า  โดยนำข้าวเหนียวนึ่งสุกไปล้างน้ำ  แล้วนำไปบดให้ละเอียด จากนั้นผสมผงขี้เถ้าที่ร่อนละเอียดแล้ว  ในอัตราส่วน 2 : 1 โดยประมาณ  ขี้เถ้าที่นิยมใช้โดยทั่วไปต้องมีเนื้อละเอียด และมีน้ำหนักเบา  โดยได้จากการเผาไหม้ของไม้มะพร้าว  รากมะพร้าว กิ่งของต้นโพธิ์ และใบตองแห้ง  เป็นต้น

การติดขี้จ่ากลอง อันดับแรกสุดต้องคำนวณหาศูนย์กลางของหน้ากลองก่อน การคำนวณอาจมีหลายวิธี  ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือ ใช้เชือกวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้ากลองแล้วแบ่งครึ่ง  แล้ววัดจากขอบหน้ากลองเข้ามา  จะได้จุดศูนย์กลางของหน้ากลอง  จากนั้นจึงเริ่มติดรอบๆ จุดศูนย์กลางแล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้น  พร้อมๆ กับทดสอบด้วยการตีเพื่อฟังเสียงว่า ดังตามความต้องการหรือไม่ เมื่อได้เสียงตามความต้องการแล้วเป็นอันว่าใช้ได้  การติดขี้จ่านี้บางแห่งมีไม้แบบวัดขนาดมาตรฐาน  ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมและแม่นยำในการติด

การบำรุงรักษากลองหลวง

กลองหลวงจะชำรุดเสียหายง่ายเมื่อถูกความร้อนจากแสงอาทิตย์หรือถูกฝน  กลองหลวงจึงต้องเก็บไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก  หลังจากใช้งานแล้วต้องขูดขี้จ่าออกจากหน้ากลอง  เช็ดให้สะอาดทุกครั้ง ตัวกลองควรทาน้ำยารักษาเนื้อไม้  (บ้างก็แช่ในน้ำมะขามเปียก)  และควรดูแลอย่างสม่ำเสมอ  มิเช่นนั้นอาจถูกปลวกหรือมอดทำลายได้

การประสมวงกลองหลวง


โดยปกติวงกลองหลวง มีการประสมวงลักษณะเดียวกันกับวงกลองตึ่งนง  กล่าวคือ มีเครื่องตี  ได้แก่ กลองหลวง  กลองตะหลดปด  ฉาบใหญ่  ฆ้องโหย้ง(ฆ้องขนาดกลาง)  และฆ้องอุ้ย(ฆ้องขนาดใหญ่)  มีเครื่องเป่า ได้แก่  แนหน้อย  และแนหลวง  ต่อมาเห็นว่าเสียงกลองดังมากจนกลบเสียงฆ้องซึ่งมีเพียง 2 ใบ  จึงได้เพิ่มจำนวนฆ้องโหม้งเข้าไปอีก  5 - 7  ใบ

การจัดรูปแบบวงกลองหลวง

โอกาส ที่บรรเลงกลองหลวง กลองหลวงจะนำออกมาใช้งานในแต่ละปีเมื่อหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวไปจนถึง สงกรานต์  คือเริ่มตั้งแต่มกราคม - มิถุนายน  การใช้งานจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1. การใช้กลองหลวงในขบวนแห่  เมื่อวัดใดจัดให้มีงาน เช่น  งานสรงน้ำพระธาตุ  ฉลองพัดเปรียญ  ปอยหลวง (งานฉลองสมโภชเสนาสนะ)  และแห่พระพุทธรูปสำคัญ เป็นต้น ซึ่งมักมีการจัดขบวนแห่ที่มีกลองหลวงร่วมด้วย  และในงานบุญหนึ่งๆ จะมีขบวนแห่ของวัดอื่นๆ ส่งมาร่วมขบวนทำบุญด้วย

2. การใช้กลองหลวงเพื่อการตีแข่งขัน ในงานบุญต่างๆ ดังกล่าว เมื่อขบวนแห่เสร็จสิ้นแล้วในช่วงบ่าย บางวัดมักจัดให้มีการตีกลองหลวงเพื่อแข่งขันกัน ระหว่างกลองที่มาจากวัดต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท้องถิ่นที่นิยมการแข่งขันตีกลองหลวงมากที่สุดจะอยู่ในท้องที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ส่วนที่อื่นจะมีในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตอง แม่เจ่ม สันทรายและสันกำแพง

เรื่องราวของกลองหลวงยังมีต่ออีก พบกันวันจันทร์หน้าครับ


สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยอนุรักษ์  สมสะ และเสาวณีย์  คำวงค์)


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/06/28/