นาฏดุริยการล้านนา - กลองหลวง (6) การแข่งขันตีกลองหลวง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  5  กรกฎาคม  2548 - กลองหลวง (6) การแข่งขันตีกลองหลวง

การแข่งขันตีกลองหลวง

จากการสอบถามผู้รู้ถึงความเป็นมาของการแข่งขันตีกลองหลวง ท่านพระครูสังวรญาณประยุต  เจ้าอาวาสวัดบ้านโฮ่ง  อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน  ได้เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมนั้นพระภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้นำกลุ่มชาวบ้าน บรรทุกกลองที่มีอยู่ในวัดด้วยเกวียน  ลากไปแข่งขันประชันกับต่างหมู่บ้านในยามค่ำคืน  ถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นการละเล่นประเภทหนึ่ง  โดยมากจะเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำไร่ไถนา  คือประมาณเดือนมีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  ชาวบ้านที่เป็นพวกหนุ่ม ๆ ส่วนมากก็ถือโอกาสไปเกี้ยวพาราสีหญิงสาวในหมู่บ้านอื่นไปด้วย  ไม่ได้มีการแข่งขันกันอย่างจริงจังเท่าใดนัก  หรืออาจถือโอกาสนัดท้าประลองกับหมู่บ้านอื่น ๆ ให้นำกลองมาร่วมประลองด้วย  ฝ่ายผู้ชนะก็จะฉลองชัยกันอย่างครื้นเครง

กติกาการแข่งขันตีกลองหลวงแต่เดิมไม่มีกฎเกณฑ์มากมาย เพียงแต่ตีกลองให้มีเสียงดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้กลบเสียงตีของคู่ต่อสู้จึงถือเป็นผู้ชนะ การแข่งขันตีกลองหลวงนัดสำคัญประจำปีที่นักเลงกลองต่างเฝ้ารอคอย คือ การแข่งขันกลองหลวงในงานสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ทุกปีจะมีกลองหลวงจากเกือบทุกหมู่บ้านในจังหวัดลำพูน ส่งมาร่วมแข่งขัน จัดเป็นมหกรรมกลองหลวงที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากกลองหลวงเดิมทีจัดทำขึ้นสำหรับตีประกอบการฟ้อน โดยเฉพาะการฟ้อนบูชาถวายพระธาตุ เมื่อเสร็จภารกิจในการฟ้อน กลองที่มาจากแต่ละหมู่บ้านจะนำไปเรียงไว้นอกวัด และมีการนำมาตีแข่งกันว่ากลองของใครจะดังกว่ากัน  จึงเกิดเป็นความนิยม มีการแข่งขันตีกลองเป็นประจำทุกปีในงานสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย  ซึ่งต่อมานำมาแข่งขันกันในงานปอยหลวงอีกด้วย

การแข่งขันตีกลองหลวงได้กระทำมาเมื่อประมาณ 80 - 90 ปีมานี้เอง  แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาพระครูเวฬุวันพิทักษ์  แห่งวัดพระพุทธบาทตากผ้า  อำเภอป่าซาง  จังหวัดลำพูน  ได้รื้อฟื้นการแข่งขันกลองหลวงขึ้นมาใหม่ โดยชักชวนให้นำกลองหลวงที่มีอยู่แต่ละวัดมาตีแข่งขันกันเมื่อประมาณ พ.ศ. 2495  ในงานประจำปีวัดพระพุทธบาทตากผ้า  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น  โดยเฉพาะในเขตอำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน  และอำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่  รูปแบบของกลองต่างก็ได้รับการออกแบบเพื่อให้มีเสียงดังที่สุด ดังกว่าของผู้อื่น เช่น อาจทำให้มีความยาวเพิ่มขึ้น  แต่พระครูเวฬุวันพิทักษ์ได้ค้นหาและทำรูปแบบกลองที่มีเสียงดังมาก  โดยรูปแบบกลองจะมีหน้ากลองกว้างขึ้น  และมีความยาวของกลองสั้นลง  และคิดประดิษฐ์รูกลองที่เสียงจะผ่านก้นกลองให้มีขนาดเล็กเท่าไข่เป็ดเท่า นั้น  ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปกลองหลวงให้เป็นรูปแบบใหม่  ปัจจุบันกลองชนิดนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วเขตภาคเหนือตอนบน เช่น แพร่ น่าน เชียงราย  และเชียงใหม่ เป็นต้น

กติกาการแข่งขันตีกลองหลวง

กติกาการแข่งขันตีกลองหลวงได้มีการปรับใหม่เพื่อให้เกิดความยุติธรรม  และมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นโดยมีพระครูเวฬุวันพิทักษ์  เป็นประธานการประชุมเพื่อหาข้อตกลงในกติกาการแข่งขัน  ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน  ดังนี้

1. กรรมการสั่งให้นำกลองแต่ละใบมารายงานตัว และจับสลากแบ่งสายโดยจะจัดคู่ประกบแข่งครั้งละ 3 - 4 ลูก

2. การตั้งกลอง ให้กลองที่เข้าแข่งขันหันก้นกลองมาทางคณะกรรมการ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 15 เมตร

3. กรรมการ จะให้ผู้เข้าแข่งขันทดลองตีกลอง เพื่อฟังเสียงทีละใบ จากนั้นให้ตีทุกใบพร้อมกัน เพื่อจะหาว่ากลองใบใดเสียงดังที่สุด ในตอนนี้อาจมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้งกลอง เพราะบางตำแหน่ง กรรมการบางท่านอาจได้ยินเสียงกลองแต่ละใบแตกต่างกัน และตำแหน่งที่โล่งมาก จะทำให้เสียงดังกว่าปกติได้ หรือการมีคนมุงดูอยู่มาก อาจทำให้เสียงกลองทึบ

4. กรรมการจะคัดเลือกกลองที่เสียงดังที่สุดในแต่ละสายเข้ารอบมาเพียง 1 ใบ แล้วประชันกันอีก เช่น มีกลองเข้าแข่งขัน 30 ใบ  แบ่งสายแข่งขันสายละ 3 ใบ  ก็จะได้กลองเข้ารอบ 10 ใบ  จากกลอง 10 ใบ ก็จะนำมาแข่งกันทีละ 3 ใบ  โดยวิธีจับสลาก ให้ได้สัดส่วนจำนวน 3-3-4

5. หลังจากนั้นจะได้กลองที่เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 3 ใบ และท้ายสุดกลองที่เสียงดังที่สุดจะถูกตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

คณะกรรมการตัดสินจะประกอบด้วยกรรมการผู้ให้คะแนน 3 - 5 คน มีผู้ประกาศและให้สัญญาณ 1 คน และกรรมการจับเวลาอีก  1 คน รวมทั้งหมดประมาณ 7 คน (ปัจจุบันกติกาดังกล่าว อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสม)

การแข่งขันกลองหลวงนี้  มีทั้งความสนุกสนานและความตื่นเต้น  ถือว่ากลองแต่ละใบนั้นเป็นตัวแทนของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมแรงร่วมใจจัดทำหรือมีส่วนร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าหากชนะย่อมหมายถึงชื่อเสียงของหมู่บ้านด้วย ดังนั้นจึงมักจะเห็นภาพของชาวบ้านที่ช่วยกันแห่ลากกลองหลวงไปแข่งขันในที่ ต่างๆ และมีคนในหมู่บ้านเดียวกันไปให้กำลังใจมากมาย  เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของหมู่บ้าน

ชาวบ้านที่เป็นศรัทธาของแต่ละวัดนิยมช่วยกันฝึกซ้อมสำหรับการแข่งขัน  เพียงเพื่อชัยชนะและนำชื่อเสียงกลับวัด  โดยไม่ให้ความสำคัญต่อจำนวนเงินรางวัลเท่าใดนัก  วัดใดได้รับถ้วยรางวัลมากก็จะมีชื่อเสียง  หากวัดใดแพ้ก็จะนำกลองไปแก้ไขกันอย่างจริงจังเพื่อการแข่งขันในคราวต่อไป  บางวัดถึงกับสั่งทำขึ้นมาใหม่เพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ
    
สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยพิชัย  แสงบุญและเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/07/05/