วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา  วันอังคารที่  12  กรกฎาคม  2548 - กลองอืด

     

    

 

กลองอืด

    กลองอืด  เป็นกลองชนิดหนึ่งคล้าย กลองหลวง แต่มีขนาดยาวกว่า พบในจังหวัดแพร่ และน่าน ใช้ประกอบการฟ้อนเล็บหรือแห่ขบวนต่างๆ เครื่องประกอบจังหวะมี ฆ้องใหญ่ และฆ้องกลาง ฆ้องเล็ก ฉาบใหญ่ 1 คู่ และ “ผ่าง” หรือ “พาน” (ฆ้องไม่มีปุ่ม) และกลองอืดนี้ บ้างว่าเป็นชนิดเดียวกับกลองแอว
กลองแอว เป็นกลองที่มีลักษณะคล้ายกับกลองหลวงแต่ขนาดเล็กกว่า คือประมาณ 1 ใน 4 ของกลองหลวงขึงด้วยหนังข้างเดียว ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ และไม้แดง เป็นต้น กลองแอวมีชื่อเรียกขานต่างกันไป  บางแห่งอาจเรียกตามรูปลักษณ์ที่พบเห็น เรียกตามเสียงที่หูได้ยินหรือเรียกตามตำนานเล่าขานสืบกันมา อย่างไรก็ตาม  พอสรุปได้ว่า  กลองแอว  เป็นชื่อเรียกตามรูปลักษณ์ที่พบเห็น คือมีลักษณะคอดกิ่วตรงกลางคล้ายสะเอว ซึ่งภาษาล้านนาเรียก “แอว” จึงได้ชื่อว่า “กลองแอว” ซึ่งนิยมเรียกกันในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนชื่ออื่น ๆ เขียนแตกต่างกันดังนี้

  • กลองตึ่งนง หรือ กลองตึ่งโนง เป็นชื่อที่เรียกตามเสียงเมื่อประโคม ร่วมกับฆ้องใหญ่สลับกับฆ้องหุ่ยและเครื่องดนตรีอื่นๆ ได้แก่ ฉาบใหญ่ กลองตะหลดปด แนหลวง และแนหน้อย การประสมวงเครื่องตีและเครื่องเป่าดังกล่าวเรียก วงตึ่งนง หรือ ตึ่งนง โดยฟังเสียงกลองแอวเป็นเสียง “ตึ่ง” และเสียงฆ้องโหย้ง  ฆ้องอุ้ย เป็นเสียง “นง” หรือ “โนง”
  • กลองเปิ้ง หรือ กลองเปิ้งมง ชื่อนี้นิยมเรียกในเขตจังหวัดลำพูน โดยเรียกตามเสียงที่ได้ยินในลักษณะเดียวกันกับเสียง “ตึ่งนง” เพียงแต่ได้ยินกลองเป็นเสียง “เปิ้ง” เสียงฆ้องเป็นเสียง “มง”
  • กลองตกเส้ง หรือ ตบเส้ง เป็นชื่อที่เรียกตามเสียงที่ได้ยินในลักษณะเดียวกันกับกลองตึ่งนง หรือ กลองเปิ้ง แต่การได้ยินนั้นฟังเสียงเครื่องดนตรีคนละชิ้น   กล่าวคือได้ยินเสียง กลองตะหลดปด ดัง “ตก” หรือ “ตบ” สลับกับเสียงฉาบใหญ่และฆ้องดัง “เส้ง” จึงได้ชื่อว่า กลองตกเส้ง ซึ่งนิยมเรียกกันในจังหวัดลำปาง
  • กลองอืด เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันในจังหวัดแพร่และน่านบางส่วน ที่เรียกอย่างนี้เพราะฟังเสียงกลองที่ดังกังวานยาวนาน หรือที่เรียกเสียงนี้โดยทั่วไปว่า เสียงอืด หรือ เสียงลูกปลาย
  • กลองห้ามมาร หรือ กลองพระญามาร ชื่อนี้มีที่มาสองประการ กล่าวคือ ประการแรก ในงานบุญนอกจากจะตีกลองแอวเป็นมหรสพแล้วยังเชื่อว่า เสียงกลองจะช่วยป้องกันการทะเลาะวิวาทชกต่อย อันเป็นเหตุการณ์ที่พระญามารบันดารให้เกิด  ประการต่อมาเรียกตามความเชื่อที่มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ในท้องมหาสมุทรมีพระมหาเถระรูปหนึ่งบำเพ็ญเพียรบารมีอยู่ชื่อ “อุปคุต” พระมหาเถระรูปนี้มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบมารทั้งหลายได้ ฉะนั้นหากมีงานบุญฉลองศาสนสถานของวัดที่เรียกว่า “ปอยหลวง” ชาวบ้านจะพากันไปนิมนต์พระอุปคุตจากท้องมหาสมุทร โดยสมมติเอาก้อนหินจากแม่น้ำลำธาร ใส่พานแห่ขบวนไปไว้ที่หออุปคุตที่จัดเตรียมไว้ในวัด โดยมีความเชื่อว่าจะสามารถห้ามมารหรืออุปสรรคอันอาจเกิดขึ้นในขณะจัดงานได้ และในการแห่พระอุปคุตนั้น มักนำกลองแอวนี้ไปแห่นำขบวนด้วย จึงนิยมเรียกกันว่า กลองห้ามมาร หรือ กลองพระญามาร อีกชื่อหนึ่งด้วย

ส่วนต่างๆ ของกลองแอว ยังมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้

       1. หน้ากลอง  คือ หนังที่หุ้มส่วนหน้าของกลอง
       2. หูหิ่ง  คือ เส้นหนังสำหรับร้อยถักไปตามรูของหนังหน้ากลองที่บริเวณขอบโดยรอบ
      3. คร่าวหูหิ่ง  คือ เส้นหนังร้อยกับรูหูหิ่ง
      4. หนังชัก  คือ เส้นหนังสำหรับดึงหนังหน้ากลองให้ดึง หนังชักนี้ร้อยและรั้งระหว่างคร่าวหูหิ่งกับเล็บช้าง
       5. เล็บช้าง  คือ ช่วงท้ายสุดของไหกลองด้านนอกเจาะเป็นช่วงๆ จำนวนช่องเท่ากับจำนวนของรูหูหิ่ง ช่องดังกล่าวมีไว้สำหรับร้อยหนังชักซึ่งจะรั้งกับ คร่าวหูหิ่ง ดึงหน้ากลองให้ตึง
       6. ไหกลอง  คือ ส่วนที่เจาะเป็นโพรงช่วงต้นของตัวกลองโดยมักเจาะเป็นรูปฟัก
       7. เหงือกกลอง  คือ ส่วนของปากไหกลองด้านใน มี 2 ประเภท ได้แก่ “เหงือกตั่งหม้อ” เป็น เหงือกตรงไม่มีร่องลม และ“เหงือกออง” เป็น เหงือกที่มีร่องลม
       8. รูแอว คือ รูที่เจาะต่อจากก้นไหกลองทะลุไปถึงขุกก้น
       9. ขุกก้น คือ ส่วนที่เป็นโพรงก้นกลอง

สนั่น   ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/07/12/