วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  26  กรกฎาคม  2548 - กลองแอว (2)

 

กลองแอว (2)

ประเภทของกลองแอว กลองแอวที่เป็นที่นิยมโดยทั่วไป หากแบ่งตามขนาดและคุณภาพเสียงมี 3 ประเภท คือ

  1. กลองแอวเสยงใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 13 - 15 นิ้ว ความยาวไหประมาณ 30 - 32 นิ้ว และความยาวช่วงท้ายประมาณ 38 - 40 นิ้ว

2.     กลองแอวเสียงกลาง หน้ากว้างประมาณ 12 - 13 นิ้ว ความยาวไหประมาณ 28 - 30 นิ้ว  และความยาวช่วงท้ายประมาณ 36 - 38 นิ้ว

3.     กลองแอวเสียงเล็ก หน้ากว้างประมาณ 11 - 12 นิ้ว ความยาวไหประมาณ 27 - 28 นิ้ว และความยาวช่วงท้ายประมาณ 34 - 36 นิ้ว

วิธีสร้างกลองแอว

การสร้างกลองอันดับแรกที่ควรคำนึงถึง คือไม้ที่จะนำมาสร้าง ไม้ที่เหมาะสำหรับสร้างกลองแอวต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง และเนื้อแน่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ และไม้แดง เป็นต้น ปัจจุบันไม้ประเภทนี้หาได้ยาก ไม้อื่นที่พอใช้ได้ เช่น ไม้มะม่วง ไม้ขนุน ไม้ซ้อ และไม้ฉำฉา เป็นต้น ไม้เหล่านี้เสียงจะดีตอนสร้างเสร็จใหม่ เพราะยังไม่แห้งสนิท แต่พอนานไปเมื่อไม้แห้งสนิทแล้ว เสียงจะหาย ไม่ดังกังวานเหมือนเดิม  อย่างไรก็ตามเมื่อคัดเลือกไม้ได้แล้ว ต้องนำมาถากและกลึงไม้ เพื่อให้ได้รูปร่างและขนาดที่กำหนดก่อน จากนั้นจึงขุดเจาะภายในตามลักษณะที่ควรเป็น สำหรับหนังที่จะนำมาหุ้มหน้ากลองนั้น นิยมใช้หนังวัว ซึ่งมักเป็นหนังวัวตัวเมีย และมีรายละเอียดในการคัดเลือกเพิ่มเติมคือ

1.     ต้องเป็นวัวที่มีอายุไม่น้อยหรือมากเกินไป กล่าวคือ อายุประมาณ 5 - 6 ปี
2.     มักใช้หนังวัวข้างซ้ายของตัววัว เพราะไม่มีลักษณะด้านหรือหนาจากการถูกนอนทับของตัววัว เนื่องจากวัวจะนอนทับด้านขวาเท่านั้น
3.     หนังวัวที่จะใช้ ต้องไม่มีรอยแส้ อันอาจเป็นสาเหตุให้หน้ากลองขาดตรงรอยแส้นั้น
หนังที่คัดเลือกแล้ว จะนำมาขึงและตากแดดให้แห้งเสียก่อนแล้วจึงนำมาหุ้มให้หนังอยู่ตัว จึงจะใช้การได้


การติดถ่วงหน้าหรือติดขี้จ่ากลองแอว

ขี้จ่า คือ ส่วนผสมของข้าวเหนียวนึ่งสุกบดละเอียดกับขี้เถ้า โดยนำข้าวเหนียวที่สุกไปแช่น้ำพออ่อนตัวแล้วบดให้ละเอียด ผสมขี้เถ้าที่ร่อนละเอียดในอัตราส่วน 1: 4 (ข้าวเหนียว 1 ส่วนต่อขี้เถ้า 4 ส่วน) ขี้เถ้าดังกล่าวต้องเป็นขี้เถ้าเนื้อไม้ไม่มีเปลือก เพราะขี้เถ้าจากเปลือกไม้มีความเป็นกรดสูง มักกัดมือให้เป็นแผล แต่หากจำเป็นต้องใช้ก็มีวิธีแก้ คือบดถ่านไม้ให้ละเอียดผสมเพิ่มลงไป โดยที่เพิ่มปริมาณข้าวเหนียวลงไปตามอัตราส่วนด้วย หรืออีกวิธีหนึ่ง คือนำขี้เถ้าไปแช่น้ำ 1 - 2 คืนก่อน แล้วนำไปตากแดดให้แห้งก่อนนำมาผสม

การติดขี้จ่าลงหน้ากลอง ต้องหาจุดศูนย์กลางของหน้ากลองก่อน โดยใช้วิธีง่ายๆ คือวัดความกว้างของหน้ากลองแล้วหักทบครึ่ง จะได้จุดกึ่งกลางพอดี และก่อนจะทำการติด นิยมใช้ขี้จ่าคลึงหน้ากลองให้มีความสาก ไม่มีฝุ่นเกาะ จะทำให้ติดแน่นและนานไม่หลุดง่าย
ลักษณะการติดขี้จ่ามีสองลักษณะ กล่าวคือ หากหน้ากลองตึงมาก ให้ติดตรงกลางให้หนา แล้วขยายวงออก และหากหน้ากลองหย่อนให้ติดบาง ๆ กว้างพอประมาณแล้วย่นวงลงในลักษณะแคบ ทั้งนี้จะต้องติดขี้จ่าและทดลองฟังเสียงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เสียงกังวานตามต้องการ


การดูแลรักษา

กลองซึ่งทำจากไม้ อาจมีการหดหรือขยายตัวตามสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล จึงต้องรักษาเนื้อไม้ให้มีสภาพคงตัวหรือยืดหยุ่นได้ ซึ่งอาจมีหลายวิธี เช่น หล่อเลี้ยงเนื้อไม้ด้วยน้ำมันพืช อาทิ น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว โดยใช้ทาหรือใส่น้ำมันลงในภาชนะ แล้ววางกลองลงในลักษณะแนวตั้งให้น้ำมันซึมเข้าเนื้อไม้ ซึ่งก่อนวางกลองต้องแกะหนังหน้ากลองออกก่อน อีกวิธีหนึ่งอาจใช้มะขามสุกต้มแล้วทาให้ทั่ว โดยเฉพาะด้านในควรทาให้มาก นอกจากนี้ควรเก็บรักษาในที่ร่มไม่ให้ถูกฝนถูกแดด รวมไปถึงการเก็บรักษาไว้ในที่ ๆ ปลอดภัยจากสัตว์กัดแทะ เช่น หนู เป็นต้น

การดูแลรักษากลองแอว โดยเอากลองแช่น้ำมันงาในแนวตั้ง

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยจรัสพันธ์  ตันตระกูล และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/07/26/