วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  9  สิงหาคม  2548 - กลองปู่เจ่


กลองปู่เจ่

 

กลองปู่เจ่ เป็นกลองหน้าเดียวรูปร่างคล้ายกลองยาวมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น อุเจ่ อู่เจ่ ปุ๊ดเจ่ และปั๊ดเจ่ เป็นต้น เดิมนิยมเล่นในหมู่ชาวไทใหญ่ ซึ่งเรียกกลองชนิดนี้ว่า “กลองก้นยาว” ส่วนชาวไทลื้อเรียกกลองชนิดนี้ว่า “กลองตีนช้าง” (อ่าน “ก๋องตี๋นจ๊าง”)


วิธีสร้างกลองปู่เจ่

อันดับแรกต้องคัดเลือกไม้ที่จะนำมาสร้างเป็นตัวกลองก่อน ไม้ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ไม้ซ้อ  และไม้ขนุน  เมื่อได้ไม้แล้วนำมาถากพอเป็นรูปร่าง จากนั้นจึงกลึงและเจาะตามลำดับ

ขนาดและ ส่วนสัดของตัวกลอง เดิมทีใช้ขนาดของหน้ากลองเป็นหลักสำหรับกำหนดส่วนสัดอื่นๆ คือ ความยาวของไหกลองยาวเป็น 2 เท่าของหน้ากลอง ความยาวจากไหกลองไปถึงส่วนคอด (แอวกลอง) ยาวเป็น 1 1/2 เท่าของหน้ากลอง ความยาวส่วนคอดยาว 1 เท่าของหน้ากลอง  และความยาวส่วนท้ายกลองยาวเป็น 2 เท่าของหน้ากลองตามสูตร

ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขบางส่วน จากประสบการณ์ของ “สล่ากลอง” (ช่างทำกลอง) เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงตามที่นิยมกันอยู่ โดยกำหนดสัดส่วนหน้ากลองกว้างประมาณ 25 - 28 เซนติเมตร ความยาวของไหกลองประมาณ 40 เซนติเมตร ความยาวจากไหถึงส่วนคอดประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวส่วนคอดประมาณ 20 เซนติเมตร และความยาวส่วนท้ายประมาณ 47 -50 เซนติเมตร

สำหรับหนังที่ใช้ขึงเป็นหนังหน้ากลอง นิยมใช้หนังวัวตัวเมีย อายุ 3 - 5 ปี ไม่มีรอยแส้ และต้องเป็นหนังจากลำตัวด้านซ้าย เพราะมีลักษณะบางไม่ด้านหรือหนาเหมือนหนังจากลำตัวด้านขวาที่ถูกนอนทับ การขึงหรือหุ้มหน้ากลอง ขึงให้ตึงด้วยสายเร่งเสียงโยงระหว่างคร่าวหูหิ่งกับเล็บช้าง


     
การติดถ่วงหรือขี้จ่ากลอง

เสียงกลอง จะดังกังวานไพเราะ ต้องมีการติดถ่วงหน้าหรือติดขี้จ่ากลองซึ่งหมายถึง การติดขี้จ่าที่ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุก บดผสมขี้เถ้าละเอียด ในการติดนั้นเริ่มจากศูนย์กลางของหน้ากลองแผ่ออก ในขณะที่ติดจะทดลองตีฟังเสียงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เสียงตามต้องการ

การประสมวง

การประสมวงใช้กลองปู่เจ่ใบเดียว ฉาบขนาดกลาง 1 คู่ และฆ้องโหม้ง ประมาณ 3 - 5 ใบ

จังหวะและลีลาการตี

จังหวะ ของวงกลองปู่เจ่นั้นค่อนข้างจะเร่งเร็ว โดยมีฆ้องโหม้งตียืนจังหวะด้วยความพร้อมเพรียง สำหรับการตีกลองนั้น ผู้ตีจะต้องมีลีลาประกอบ คือสะพายกลองย่อตัวขึ้นลงตามจังหวะ ขาข้างหนึ่งมักเหยียดไปข้างหลังขนานคู่กับตัวกลองส่วนท้าย ทำอาการยักไหล่ เอียงศีรษะให้ดูน่าชม ลูกเล่นการตีที่เรียก “ลีลาหน้ากลอง” มักละเอียดซับซ้อน คือใช้ทั้งฝ่ามือ  นิ้วมือ  กำปั้น  ตีเต็มเสียง ครึ่งเสียง ลักจังหวะ มีการกดหน้ากลองให้เกิดเสียงต่างๆ หลากเสียง ส่วนฉาบนั้น นอกจากจะใช้ตีขัดจังหวะระหว่างฆ้องโหม้ง และกลองแล้วยังมีลีลาหลอกล่อกับคนตีกลองอีกหลายลักษณะ เช่น ตีด้านหน้า ตีด้านหลัง ตีลอดใต้ขา ตบกับพื้น เข้าหาและออกจากคนตีกลองด้วยเชิงรุกเชิงรับและหนีอย่างมีชั้นเชิง เพื่อให้ผู้ที่ได้ชมเกิดความประทับใจ


โอกาสในการตี

การตีกลองปู่เจ่มักพบเห็นในงานบุญของวัด ขบวนแห่ต่างๆ รวมถึงการแห่หรือประโคมประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ เต้นโต ฟ้อนนางนก กระทั่งการปล่อยว่าวควัน และโคมไฟ เป็นต้น

กลองปู่เจ่ ปัจจุบันยังเป็นที่นิยม จึงมักพบการตีกลองนี้ในงานบุญหรืองานประเพณีสำคัญต่างๆ ในเชียงใหม่ และลำพูน เป็นต้น และมักมีการจัดประกวดการตีกลองชนิดนี้อยู่เสมอ

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/08/09/