วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่  23  สิงหาคม  2548 - กลองถิ้งบ้อม

 

  • กลองถิ้งบ้อม 

กลองถิ้งบ้อม  เป็นชื่อชุดกลองหรือวงกลอง ประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยกลองสิ้งหม้อง 2 - 3 ใบ กลองทั่ง (อ่าน – ตั้ง) 1 ใบ ฆ้องโหม้ง 1 - 2  ใบ ฉาบขนาดกลาง 1 คู่ และฉาบเล็กอีก 1 คู่ ชื่อ “กลองถิ้งบ้อม” เป็นชื่อเรียกตามเสียงกลองที่ตีรับกันระหว่างกลองสิ้งหม้องกับกลองทั่ง โดยกลองสิ้งหม้องมีเสียง “ถิ้ง” และกลองทั่งมีเสียง “บ้อม” เวลาบรรเลงเสียงจะดัง “ถิ้งบ้อม ๆ” ทั้งนี้อาจมีชื่อที่ใกล้เคียงกับชื่อนี้บ้าง เช่น เทิ้งบ้อง ทิ้งบ้อม ทิ่งบ่อม เถิ้งบ้อม เป็นต้น แต่ก็ล้วนเป็นชื่อเรียกตามเสียงที่ได้ยินทั้งนั้น

เฉพาะกลองทั่งนั้น มีลักษณะเป็นกลองสองหน้า รูปลักษณ์คล้ายกลองสะบัดชัย แต่มีขนาดเล็กกว่ากลองสะบัดชัย 2 - 3 เท่า เวลาตีใช้ไม้นวมตีเป็นจังหวะ ๆ ไป

  • การประสมวง

การผสมวงกลองถิ้งบ้อม คือตีกลองทั่งเป็นจังหวะหลักพร้อมกับเสียงฆ้อง รับกับเสียงกลองสิ้งหม้องให้มีเสียงถิ้งบ้อม ๆ ๆ โดยมีฉาบ  2 คู่  ตีขัดจังหวะ เชื่อมรับกันไป

  • โอกาสที่ใช้ตี  

        
วงกลองถิ้งบ้อมใช้ตีในขบวนแห่ลูกแก้ว (นาคสามเณร) ใช้ตีประกอบการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ และตีในขบวนแห่โดยทั่วไป

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยรุจิรา  คอทอง และเสาวณีย์  คำวงค์)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/08/23/