วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/10/2008
ที่มา: 
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://art-culture.chiangmai.ac.th/

นาฏดุริยการล้านนา วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2548 - ฆ้อง

ฆ้อง

ฆ้อง ในเอกสารโบราณล้านนา เขียน    หรือ    ปริวรรตเป็นอักษรไทย คือ คล้อง หรือ ค้อง   อ่านว่า ก๊อง หมายถึง เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ประเภทเครื่องตี มักใช้ตีประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะผสม ที่ล้านนาเรียกว่า “ทองแข” (อ่าน – ตองแข) รูปร่างเป็นแผ่นวงกลม มีขอบงองุ้มลงมารอบตัว มีปุ่มตรงกลางสำหรับตี ฆ้องมีหลายขนาดและมีชื่อเรียกต่างกันไป ดังนี้

ฆ้องแหม้ง  คือ ฆ้องขนาดเล็กที่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ฆ้องชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะมีขนาดเล็กเกินไป เสียงไม่ค่อยดัง

ฆ้องหม้อง 
คือ ฆ้องขนาดเล็กเทียบได้กับฆ้องกระแต มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว  ฆ้องหม้องนี้บางแห่งเรียก “ฆ้องหน้อย” หรือ “ฆ้องหน้อยหม้อง”

ฆ้องโหม้ง  คือ ฆ้องขนาดเขื่องกว่า “ฆ้องหม้อง” เทียบได้กับ “ฆ้องโหม่ง” มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 - 10 นิ้ว

  ฆ้องโหย้ง  คือ ฆ้องขนาดใหญ่ เทียบได้กับฆ้องชัย มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 - 18 นิ้ว มักตีคู่กับฆ้องอุ้ย เมื่อประสมวงกับวงกลองหลวงหรือวงกลองตึ่งนง

ฆ้องอุ้ย  คือ ฆ้องขนาดใหญ่ที่สุด  เทียบได้กับฆ้องหุ่ย  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 - 25 นิ้ว  มักตีคู่กับฆ้องโหย้ง  เมื่อประสมกับวงกลองหลวง หรือ วงตึ่งนง

   ฆ้องวง    หมายถึง ฆ้องที่ผูกโยงขอบฆ้องเข้ากับวงที่ทำด้วยต้นหวาย ดัดเป็นวงพอดีที่ คนตีจะนั่งภายในวงได้เกือบรอบ โดยเว้นด้านหลังเปิดไว้เป็นทางเข้าออก ฆ้องทุกลูกเทียบเสียงตั้งแต่เสียงต่ำไปหาสูง โดยให้เสียงต่ำอยู่ด้านซ้าย เสียงสูงอยู่ด้านขวา มีจำนวนทั้งหมด 16 ลูก ฆ้องวงนี้ปกติทางล้านนาให้บรรเลงร่วม หรือประสมวงกับวงกลองเต่งถิ้ง ซึ่งชาวล้านนาเรียก “พาทย์ฆ้อง” (อ่าน “ป้าดก๊อง”)

        ฆ้องราว  คือ ฆ้องชุด หมายถึงฆ้องที่มีหลายขนาด แขวนเรียงกัน ใช้ไม้ตีทำเป็นชุดร่วมแกน เดียวกัน  เมื่อโยกแกนนั้นไม้ตีจะตีฆ้องพร้อมกันทุกใบ ในกลุ่มไทใหญ่ เรียกว่า “มองเซิง”

    ส่วนต่างๆ ของฆ้อง

  • หมกฆ้อง  หรือ “หมงฆ้อง” คือส่วนที่ใช้สำหรับตี ที่ภาษาดนตรีไทยเรียกว่า “ปุ่ม”
  • ใบฆ้อง  คือ ส่วนที่ถัดจากเชิงของหมกฆ้อง หรือ หมงฆ้องไปถึงส่วนพับให้งอ ที่ภาษาดนตรีไทยเรียก “หลังฉัตร”
  • ขอบฆ้อง   คือ ส่วนที่พับลงมารอบตัว ที่ภาษาดนตรีไทยเรียกว่า “ใบฉัตร”
  • สายฆ้อง  คือ เชือกร้อยสำหรับแขวนฆ้อง

    วิธีทำฆ้อง

ฆ้องที่ทำด้วยโลหะผสม (ทองแข)  ส่วนใหญ่ล้านนารับมาจากพม่า ส่วนฆ้องที่ทำด้วยเหล็กนั้น มีช่างทำกันอยู่ โดยมีขั้นตอนและวิธีทำดังนี้

1. นำเหล็กที่ได้มาตีแผ่ รีดให้แบนออกไปด้วยฆ้อนใหญ่จนได้ขนาดความหนา และความกว้างตามต้องการ โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ฆ้องขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 - 8 นิ้ว จะใช้ความหนาขนาด 4 แผ่นหุน ฆ้องขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 - 22 นิ้ว จะใช้ความหนาขนาด 2 แผ่นหุน
2. ตีหมก หรือ หมงฆ้อง ด้วยฆ้อนบนทั่งซึ่งออกแบบให้มีหลุมตรงกลางคล้ายกระทะขนมครก
3. ตีพับขอบฆ้องโดยรอบ
4. แต่งเสียงให้ดังกังวาน การแต่งเสียงนี้เป็นกรรมวิธีที่ค่อนข้างยาก ช่างต้องอาศัยเทคนิควิธีและความชำนาญสูง
5. เจาะรูสำหรับร้อยเชือก โดยเลือกเจาะด้านที่มีเสียงดังกังวานที่สุด
6. การ หาเสียงที่กังวานมีวิธีหาคือใช้ “ขี้ตังนี” (ชันโรง) ก้อนเล็กขนาด “ลูกบ่าแฅว้ง” (มะเขือพวง) ติดตรงตำแหน่งที่ต้องการเจาะ แล้วทดลองเคาะฟังเสียง การติดจะย้ายตำแหน่งและทดลองฟังเสียงไป จนกระทั่งได้ตำแหน่งที่เสียงดังกังวานตามความพอใจของช่าง แล้วจึงเจาะรูสำหรับร้อยเชือก โดยเจาะให้อีกรูหนึ่งมีระยะห่างกันเท่ากับความยาวรัศมีของใบฆ้อง  (หลังฉัตร)

สนั่น   ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบโดยเนติ พิเคราะห์ จรัสพันธ์ ตันตระกูล และพิชัย แสงบุญ)

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ต้นฉบับ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2548/08/30/