วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

กัวะเข้า

กัวะเข้า หรือบางแห่งเรียกว่า ฝ่าเข้า เป็นภาชนะทำด้วยไม้สักคล้ายขันโตก แต่ไม่มีเชิงหรือตีนเหมือนขนโตก ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นถาดรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วใหม่ ๆ ใช้ด้ามพายคนข้าวสุกนั้นระบายความร้อนออกไปบางส่วน เมื่อนำข้าวสุกบรรจุเก็บไว้ใน กล่องเข้า (กระติกข้าว) แล้วข้าวจะได้ไม่แฉะจากเหงื่อข้าวเพราะความร้อนที่มีมากเกินไป ซึ่งชาวลช้านนาเรียกการนี้ว่า ปงไหเข้า หรือ ปลดไหเข้า ดังปรากฏในคร่าวพระญาพรหมโวหาร ตอนหนึ่งว่า

จักบอกนายแพง เจ้าแป้งกลิ่นคู้ เขาแต่งต้อนหลายอัน

มีพร่ำพร้อม โต๊ะโตก กัวะขัน ของจืนจ่าวมัน หอมหวานใส่ด้วย

คันจักจา ว่าไพด้วยถ้วย ก็กลัวคำยาวค่าวนัก

กัวะเข้า มีใช้ทั่วไปในถิ่นล้านนา มี 2 ลักษณะ คือ กัวะเข้า ที่ทำขึ้นด้วยไม้จิง ส่วนใหญ่จะเป็นไม้สัก และ กัวะเข้า ที่ทำขึ้นด้วยตอกไม้ไผ่ หรืออาจใช้ถดโลหะแทนก็ได้

การทำกัวะเข้าไม้จิงนั้น ให้ตัดไม้สักเป็นท่อนบางขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร กว้างตามความต้องการหรือตามที่จะหามาได้ โดยมากจะเลื่อยตัดเอาส่วนของโคนไม้สักขนาดใหญ่หรือเลื่อยเอาจากตอไม้สัก เมื่อได้แผ่นไม่มาแล้วก็ขีดเส้นในให้เป็นวงกลม แล้วขูดเจาะตามรอยขีดให้ส่วนปากกว้างกว่าส่วนก้นเล็กน้อย ขุดลึกลงประมาณ 6 เซนติเมตร เมื่อขุดส่วนในเสร็จแล้วก็มาถึงส่วนนอก ไม้ส่วนไหนที่หนาและยื่นออกไปมากที่สุดก็กันเอาไว้สำหรับทำเป็นที่จับถือ หรือทำเป็นที่แขวน แล้วจึงถากส่วนอื่นให้กลมตามส่วนใน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็น กัวะเข้า ที่ใช้การได้ นอกจากรูปทรงกลมแล้วบางแห่งยังทำรูปสี่เหลี่ยมด้วย

ส่วนกัวะเข้าไม้ไผ่ ได้จากการสานจักตอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร เป็นลายสองเข้าด้วยกันส่วนปากขอบด้วยไม้ไผ่ที่เหลาเป็นปาก ขอบทั้งสองด้านคือ ด้านนอกและด้านใน โดยให้ปากสูงประมาณ 3-4 เซนติเมตร รูปร่างลักษณะของ กัวะเข้า ไม้ไผ่คล้ายกับกระด้งฝัดข้าว

กัวะเข้า ใช้เป็นภาชนะรองรับข้าวเหนียวที่นึ่งเทออกจากไห เพื่อคนข้าวที่นึ่งนั้นกลับไปกลับมาเพื่อให้ข้าวสุกนึ่มและเพื่อให้ข้าว เหนียวเย็นลงจะได้ไม่แฉะในเวลาที่เก็บไว้ โดยก่อนที่จะเทเข้าจากไหนึ่งลงไปนั้น ใช้น้ำประพรหมให้ กัวะเข้า เปียกน้ำเสียก่อนเพื่อป้องกันข้าวติด เมื่อคนข้าวเสร็จแล้วก็แขวนไว้เพื่อใช้ในวันต่อไป แต่บางครั้งก็พบว่าใช้ กัวะเข้า ในการทำขนม เช่น ใช้เป็นภาชนะใส่ เข้าแตนซาย เมื่อจะอัดหรือกดให้เป็นแท่ง ใช้นวดหรือคลุก เข้าหนุกงา เป็นต้น

กับยอย หรือกล่องยอย
หมายถึงกล่องที่ใช้บรรจุยอยหรือเครื่องชั่งแบบจานของล้านนา มีลักษณะเป็นกล่องทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ หรือไม้สัก เป็นต้น

วิธีทำ
นำไม้ที่มีลักษณะผิวหน้าเรียบมาสองท่อนขนาดกว้าง-ยาว ประมาณ 10*16 เซนติเมตร คว้านเนื้อไม้ออกให้เท่ากับขนาดของคันชั่งจาน ไม้ท่อนที่หนาจะทำเป็นตัวกล่อง ส่วนไม้ท่อนที่บางกว่าจะทำเป็นฝาครอบ จากนั้นจึงเซาะร่องไม้ทั้ง 2 ท่อน ให้มีขนาดกว้างพอดีสำหรับบรรจุคันชั่งและจานทั้งนี้เพื่อสะดวกในการเก็บ รักษาหรือพกพาไปได้สะดวก

กับยอย ที่พบมีรูปทรงแตกต่างกัน ในเขตภาคเหนือพบกล่องยอยที่มีรูปทรงหอยบ้าง นก หรือปีกนกบ้าง รูปทรงช้าง ปลา กระจังตาอ้อย หรือแม้แต่รูปทรงเรขาคณิต เช่นรูปครึ่งวงกลม

ความงดงามของกับยอย นอกเหนือจากรูปทรงแล้วยังขึ้นอยู่กับความประณีตของฝีเมือช่าง ในการแกะสลักลวดลายบนกล่องยอย ลวดลายที่พบมากที่สุด ได้แก่ ลายกนก ลายก้านขด ลายพรรณพฤกษา ลายรูปสัตว์ธรรมชาติ เช่นหงส์ ช้าง ม้า หรือลายรวงข้าวช่อดอกไม้ ซึ่งลายต่าง ๆ เหล่านี้ช่างจะแกะสลักตามส่วนโค้งเว้าของรูปทรงแต่ละชนิด

กับยอย ที่สวยงามจำต้องผ่านขั้นตอนสุดท้าย คือการขัดด้วยกระดาษทราย แล้วจึงลงรักสีดำหรือทาชาดสีแดง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคงทนและช่วยให้เนื้อไม้เรียบเป็นมัน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันแมลงต่าง ๆ อีกด้วย

สมัยก่อน กับยอย มีหน้าที่เก็บรักษายอย แต่ปัจจุบันมีเครื่องชั่งสปริงที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาทแทนยอย จึงทำให้ ยอย และกล่องยอย ลดความสำคัญในชีวิตลง คงเป็นเพียงเครื่องประดับเพื่อแสดงความมีฐานะของบเจ้าบ้านเท่านั้น

ขันโตก

ขันโตก หรือ โตก เป็นภาษาดั้งเดิม เป็นภาชนะสำหรับวางสำรับอาหาร บ้างเรียกสะโตก มีรูปทรงกลม ความกว้างมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป มีเชิงสูงประมาณ 1 ฟุต มีทั้งขันโตกไม้ และขันโตกหวาย

ขันโตกไม้ มักทำด้วยไม้สักหรือไม้จิงชนิดอื่น ขันโตกไม้แยกออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนข้างบน และส่วนขาที่เรียกกันว่าตีน

วิธีทำขันโตกโดยทั่วไป
จะตัดเลื่อยท่อนไม้สักออกเป็นแว่น ความหนาประมาณ 6 เซนติเมตร นำมาเคี่ยนคือกลึงปากให้กลม แล้วจึงเลาะด้านในให้ลึกลง 3-4 เซนติเมตร ขอบปากหนาประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านล่างของใบโตกเจาะรูกลมขนาด 1 เซนติเมตรโดยรอบ เป็นวงกลมอย่างน้อย 6 รู แล้วใช้ไม้ขนาด 2 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร กลึงให้กลมและเป็นทรงลูกมะหวดทำเดือยหัวท้าย เดือยมีขนาดใหญ่ 1 เซนติเมตร ในส่วนที่เป็นตีนขันโตกนั้นให้เอาแว่นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าใบโตกเล็กน้อยมา กลึงให้กลม เจาะข้างในออกให้เหลือเป็นวงกลมส่วนนอก ความกว้างขอบตีน ประมาณ 3 เซนติเมตร เจาะรู 6 รู ระยะห่างถี่ของรูเท่ากันกับรูของใบโตก ในการประกอบนั้นให้เอาไม้ตีนที่มีเดือยด้านหนึ่งเสียบเข้ากับรูของใบโตก เดือยอีกด้านหนึ่งเสียบเข้ากับรูของขอบตีน แล้วจึงใช้เศษถ้วยชามเคลือบที่แตกขูดถูให้เรียบทารักลงชาดให้เป็นสีแดง

ขันโตกหวาย
คือขันโตกที่ถักสานด้วยหวาย พื้นของใบโตกสานด้วยไม้ไผ่เป็นลายสองปูเป็นพื้น ทำขอบล่างขอบบนด้วยเส้นหวาย ขาหรือตีนใช้เส้นหวายดัดงอขึ้นงอลง แล้วยึดด้วยหวายให้มั่นคง

ในการใช้งานนั้น
ทั้งขันโตกไม้และขันโตกหวายต่างก็ใช้เป็นภาชนะที่วางถ้วยอาหารกับข้าว มีใช้กันทั่วไปในภาคเหนือ เมื่อใส่กับข้าวแล้วยกมาตั้งสมาชิกในครอบครัวหรือแขกที่มาบ้านจะนั่งล้อมวง กันกินข้าว นอกจากจะใช้วางถ้วยกับข้าวแล้ว ยังใช้โตกเป็นภาชนะใส่ข้าวของอย่างอื่นด้วย เช่น ใส่ดอกไม้ธูปเทียนแทนขันดอกก็ได้ ใส่เครื่องคำนับเป็นขันตั้งก็ได้ ใส่ผลหมากรากไม้ก็ดี ทั้งนี้ภาชนะที่วางถ้วยกับข้าว นอกจากจะใช้ขันโตกแล้วยังใช้กระด้งหรือถาดแบนแทนและเรียกว่าขันเข้า ขันโตกถ้ายังไม่ได้วางถ้วยอาหารเรียกว่า ขันโตก เมื่อวางถ้วยอาหารแล้วก็มักจะเรียกว่า ขันเข้า หรือสำรับอาหาร

ในปัจจุบันขันโตกอาจมีหลายขนาดแล้วแต่การใช้งาน ทั้งนี้ มณี พะยอมยงค์ ได้แบ่งออกเป็น 3 ขนาด ดังนี้

ขันโตกหลวง หรือ สะโตกหลวง ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ตัดท่อนมากลึงหรือเคี่ยนเป็นขันโตก มีความกว้างประมาณ 25- 50 นิ้ว ตามขนาดของไม้ที่หามาได้ และนิยมใช้การในราชสำนัก ในคุ้ม ในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือทั่วไป รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามทั่วไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยศศักดิ์และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้ปกครองในการ ที่จะใช้เลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองด้วย ส่วนวัดนั้นพระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบนอบ มีประชาชนนำอาหารไปถวายมาก ดังนั้นประชาชนจึงนิยมขันโตกหลวงไปถวายวัด

ขันโตกฮาม หรือสะโตกทะราม เป็นขันโตกขนาดกลางประมาณ 17- 25 นิ้ว (คำว่า ฮาม หรือ ทะรามนี้ หมายถึง ขนาดกลาง) ใช้ไม้ขนาดกลางมาตัดและเคี่ยนหรือกลึงเหมือนขันโตกหลวง ลงรักทาหางอย่างเดียวกัน ผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้ มักได้แก่ครอบครัวขนาดใหญ่ เช่น คหบดี เศรษฐีผู้มีอันจะกิน หรือถ้าเป็นวัดผู้ที่ใช้ขันโตกขนาดนี้คือ พระภิกษุในระดับรองสมภาร

ขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 10- 15 นิ้ว วิธีทำมีลักษณะเช่นเดียวกับขันโตกหลวงและขันโตกฮาม ใช้ในครอบครัวขนาดเล็ก เช่น หญิงชายที่เพิ่งแต่งงานใหม่หรือผู้ที่รับประทานคนเดียว อาหารที่ใส่ก็มีไม่มาก

ขันโตกพระเจ้า

ขันโตกพระเจ้า คือสำรับอาหารที่จัดไปถวายแก่ “ พระพุทธ ” ทั้งนี้ในวัด คุ้ม หรือบ้าน บางแห่งจะจัดอาหารคาวหวานใส่บนขันโตกนำไปถวาย ขันโตกพระเจ้าดังกล่าวมีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างแล้วแต่ผู้เป็นศรัทธาจะเห็น สมควร และในกรณีที่ถวายอาหารแก่พระพุทธในบ้าน หากเห็นว่าไม่สามารถจัดเป็นขันโตกพระเจ้าได้ ชาวบ้านก็จะหาจานหรือถ้วยขนาดเล็ก มีข้าวสามก้อนและมีอาหารวางบนก้อนข้าวนั้น ซึ่งหากไม่มีอาหารวางบนก้อนข้าวก็จะใช้สิ่งดีที่หาได้ เช่น โรยน้ำตาลลงบนข้าวนั้นก็ถือว่าเป็นเข้าพระเจ้าหรืออาหารถวายพระพุทธได้แล้ว และเรียกกิจกรรมการถวายข้าวพระแบบชาวบ้านดังกล่าวว่าใส่เข้าพระเจ้า

ครัวรักครัวหาง (อ่าน “ คัวฮักคัวหาง ” )

ครัวรักครัวหาง โดยความหมายแบบดั้งเดิมแล้วหมายถึงของใช้ที่เป็นเครื่องสานซึ่งทาด้วยน้ำรัก คือยางรักหรือวัสดุฉาบผิวที่มีส่วนผสมของยางรัก ส่วนหางซึ่งหมายถึงสีชาดนั้น เป็นสีที่นิยมใช้แต่งแต้มบนเครื่องใช้ประเภทนี้พบว่ามีการใช้เครื่องเขินใน ฐานะของใช้ประจำบ้านและของใช้ในพิธีกรรมในหมู่ผู้มีฐานะพอสมควรที่ต้องการ ความหรูหรามากกว่าเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้หรือเครื่องจักสาน แต่ไม่อยู่ในภาวะที่จะใช้เครื่องเงิน หรือเป็นของใช้ที่ไม่นิยมทำด้วยโลหะ

ในปัจจุบันมักเรียกตามในภาษาไทยกลางปัจจุบันว่า “ เครื่องเขิน ” ซึ่งเข้าใจกันว่าหมายถึงเครื่องใช้ที่ชนเผ่า “ ไทเขิน ” แห่งแคว้นเชียงตุงในเขตสหภาพพม่าเป็นผู้ผลิตหรือมีความชำนาญ

ครัวรักครัวหางนี้มีกำเนิดในประเทศจีนกว่า 3,000 ปีมาแล้ว และได้แพร่หลายไปในที่ต่าง ๆ เช่น พม่า ไทย เกาหลีและญี่ปุ่น จากที่นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ไปดูงานที่พม่าเมื่อประมาณ พ.ศ.2506 ทราบว่าชาวพม่าเรียกเครื่องใช้ดังกล่าวนี้ว่า “ โยนเถ่ ” หรือเครื่องใช้ของชนเผ่ายวน ส่วนในประเทศญี่ปุ่นก็มีเครื่องใช้แบบนี้และเรียกชื่อนี้ว่า “ กิงม่า ” หรือ “ กิมมาเด ” การที่เรียกครัวรักครัวหางหรือเครื่องใช้ที่ทาด้วยรักและชาดว่า “ เครื่องเขิน ” โดยเข้าใจว่าเป็นเครื่องใช้ของชาวไทเขินแห่งแคว้นเชียงตุงนั้น จึงน่าจะไม่ถูกทั้งหมด แต่เนื่องจากเครื่องใช้ดังกล่าวเป็นที่รู้จักในนามว่า “ เครื่องเขิน ” จึงใคร่จะกล่าวถึงไทเขินหรือไทขึ้นไว้ด้วย

ประวัติความเป็นมาของเครื่องเขินนั้นเกี่ยวข้องกับชนชาติไทเผ่าหนึ่ง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือเขตแดนของประเทศไทย ในบริเวณที่เรียกว่าแคว้นเชียงตุงเขตสหภาพพม่าคนกลุ่มนี้คือ “ ไทขึน ” ซึ่ง (มักเรียกตามแบบภาคกลางว่า “ ไทเขิน ” ) การที่เรียกกันว่า “ ชาวขึน ” ก็เนื่องมาจากตั้งชื่อตามลำน้ำชึน คือแม่น้ำที่ไหลย้อนขึ้นไปทางเหนือก่อนที่จะไหลลงทางใต้ แทนที่จะไหลลงไปทางใต้ทันทีอย่างแม่น้ำสายอื่น ตามตำนานของแคว้นเชียงตุงกล่าวว่า “ เชียงตุง ” เป็นชื่อที่ได้จากชื่อหนองใหญ่ท่อยู่ใจกลางเมืองคือ “ หนองตุง ” ซึ่งฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่าตุงคฤๅษีไ ด้ใช้ไม้เท้าของตนขีดบนพื้นดิน ด้วยอิทธิฤทธิ์ของฤๅษี รายไม้เท้านั้นได้กลายเป็นลำแม่น้ำ ระบายน้ำจากหนองตุงให้ไหลย้อนไปทางเหนือก่อนแล้วจึงไหลลง ทางใต้แม่น้ำที่ไหลย้อนจากปกตินี่จึงชื่อ “ น้ำขึน ” กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนี้จึงได้ชื่อ “ ชาวขึน-ชาวขืน ” ไปด้วย และชื่อนี้ได้เพี้ยนมาเลยกลายเป็นชาวเขิน และเรียกเครื่องหัตถกรรมที่พวกเขินทำขึ้นจึงเรียกว่า “ เครื่องเขิน ”

ดินแดนล้านนาซึ่งมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางนั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นเชียงตุงกับอาณาจักรล้านนาตั้งแต่อดีตกาลนับแต่ สมัยพญามังรายเป็นต้นมา โดยเฉพาะเห็นได้ชัดเจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้พระเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงและเมือง อื่นๆ แล้วได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามาอยู่ในอาณาจักรล้านนา ตามนโยบาย “ เก็บผักใส่ซ้า เก็บผ้าใส่เมือง ” ของสมัยนั้น เพราะมีมืองแต่ไม่มีคนอยู่ จึงต้องยกทัพไปรบเมืองอื่นแล้วนำประชาชนของเมืองที่แพ้เข้ามาเป็นประชากร ล้านนา ดังนั้นบรรดาชาวเขินจากแคว้นเชียงตุงซึ่งเข้าใจว่ามี เป็นจำนวนมากพอสมควรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามา จึงกลายมาเป็นบรรพบุรุษของชาวไทเขินในดินแดนภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะในเชียงใหม่เองมีหมู่บ้านชาวเขินหลายแหล่ง เช่น บ้านทรายมูล บ้านมอญ บ้านน้อย บ้านสันกลางในเขตอำเภอสันกำแพง บ้านสันต้นแหน บ้านไร่ในเขตอำเภอสันป่าตอง บ้านป่าสัก บ้านช่อแล เขตอำเภอแม่แตง บ้านลวงเหนือ บ้านลวงใต้เขตอำเภอดอยสะเก็ดและในอำเภอเมืองเชียงใหม่ คือบ้านนันทาราม หรือ “ บ้านเขิน ” ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อุตสาหกรรม เครื่องเขินได้เจริญรุ่งเรืองในเชียงใหม่มานานใช้ทำภาชนะต่างๆ เช่น ถ้วย ชาม สิ่งของเครื่องใช้ประจำวันและเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จนกระทั่งเมื่อเครื่องเคลือบดินเผาเครื่องอลูมิเนียมและเครื่องพลาสติกเจริญ ขึ้น ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงและไม่อยู่ในฐานะเป็นเครื่องใช้ประจำครอบครัวดังแต่ก่อน ผู้ซื้อเครื่องเขินในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อไปใช้สอย แต่ซื้อเพราะเห็นว่าเป็นของสวยงามและซื้อไปเป็นของที่ระลึก ของขวัญ หรือเครื่องประดับต่างๆ การทำเครื่องเขินที่เชียงใหม่จึงลดน้อยลงตามลำดับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงเกิดความห่วงใยในศิลปวัฒนธรรมและได้เริ่มทำการส่ง เสริมอุตสาหกรรมเครื่องเขิน ด้วยการส่งครูและผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นและชาวไทยมาฝึกอบรมรวมทั้งการตั้ง โรงงานเครื่องเขินเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ.2496 เพื่อเปิดอบรมให้แก่ผู้สนใจในงานด้านนี้อย่างมีมาตรฐานถูกต้อง ตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต การปรับปรุงลวดลาย และรูปทรงของผลิตภัณฑ์เครื่องเขินให้มีคุณภาพดีขึ้น ตลอดจนได้นำวิธีลงรักปิดทองแบบภาคกลางมาใช้ร่วมกับครัวรักครัวหางอีกด้วย

ครัวรักครัวหางหรือของใช้ประเภทเครื่องเขินนี้ พบว่าทำเป็นเครื่องใช้ดังนี้

1. ก็อก หมายถึงขันที่เป็นภาชนะใช้ในการดื่มน้ำ

2. พุง (อ่าน “ ปุง ” ) หมายถึงภาชนะสานที่ใช้สำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์พืชทำคล้ายกล่องบรรจุข้าวเหนียว มีก้นสี่เหลี่ยมคอคอด ทรงกระบอก มีฝาปดคล้ายๆ ขวดโหลแก้ว ขนาดกว้างและสูงประมาณ 12*18 นิ้ว ฐานของพุงทำด้วยไม้จริงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงประมาณ 2 นิ้ว มักมีหวายคาดยึดจากฐานกับส่วนคอ ตัวของพุงมักอ้วนป่อง ทาด้วยรักหนาเพื่อความแข็งแรงและเพื่อกันความชื้นได้ดี หางหรือสีชาดที่แต่งนั้นไม่มีการกำหนดลวดลายบังคับเป็นการเฉพาะ

3. ขันหมาก
คือภาชนะสานที่ใช้บรรจุหมากพลูและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ขันหมากเป็นโครงไม้ไผ่สานและขดไม้ไผ่ขดเป็นทรงกระบอกกลม เป็นกล่องขนาดใหญ่สำหรับบรรจุใบพลูไว้ด้านล่าง มีถาดเป็นฝาปิดข้างบนเพื่อรองรับเต้าปูน ตลับหมาก ตลับยาเส้น ตลับสีเสียดและเครื่องเคี้ยวต่างๆ รวมทั้งมีดผ่าหมาก ส่วนใหญ่ขันหมากจะตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีชาดและรักพิมพ์ บางครั้งอาจเติมด้วยทองคำเปลว

4. ขันดอก หมายถึงพานดอกไม้ที่ใช้บูชาพระและพิธีกรรมต่างๆ มีลักษณะอย่างจานที่ยกฐานสูง ขัดดอกแบบโบราณจะทำจากไม้สักกลึงขึ้นรูปสองหรือสามตอนสวมต่อกันเป็นรูปพาน ทาด้วยยางรักและตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายสีดำสีแดง ขันดอกที่ใช้ไม้เกลาขึ้นรูปจำนวนมาก เชื่อมระหว่างฐานและจานที่เรียกว่าขันสี้หรือขันตีนถี่นั้นก็นิยมทาด้วยสี ชาด ภายหลังนิยมใช้ไม้ไผ่ขดเป็นวงขึ้นรูป ส่วนที่สานเป็นลายขัดก็คือส่วนก้นของตัวถาดและทาด้วยสีแดงชาด

5. ขันโตก คือตะลุ่มที่ใช้เป็นสำรับอาหารนั้น จะกลึงฐานและจานแยกเป็นสองส่วนแล้วกลึงไม้ทำเป็นเสาต่อฐานกับจานอีกทีหนึ่ง มักทำให้มีขนาดต่างๆ ตามลักษณะการใช้งานขันโตกนิยมทาด้วยหางหรือสีชาด

6. ไตร (อ่าน “ ถะไหล ” ) คือถาดสำหรับวางของที่ทำเป็นขนาดต่างๆ

7. หีดผ้า
หมายถึงหีบที่ใช้บรรจุผ้าโดยเฉพาะผ้าที่มีค่าหรือผ้าที่ใช้ในพิธีกรม นิยมทำเป็นหีบทรงแปดเหลี่ยมยาวเป็นภาชนะไม้ไผ่สานคาดด้วยตอกทาด้วยรักและชาด อาจมีลายเขียนด้วยชาดเป็นพรรณพฤกษาหรืออาจตกแต่งด้วยทองคำเปลวตามแต่จะเห็น งาม ส่วนฝาจะทำเป็นทรงนูนและส่วนฐานจะบานผายออก หีดผ้านี้พบว่ามีการใช้บรรจุเสื้อผ้าของเจ้าบ่าวซึ่งจะเก็บไว้ในห้อง นอนอย่างมิดชิด พบว่า หากเจ้าบ่าวไม่อาจจัดหาหีดผ้าที่ต่อด้วยไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบธรรมดาแทน

8. แอ็บ หรือตลับที่ใช้บรรจุสิ่งของต่างๆ อย่างเช่นอุปกรณ์ในพานหมาก นิยมกลึงไม้สักให้ขึ้นรูปลักษณะเป็นถ้วยมีฝาปิด แต่งด้วยสีรักและสีชาด

9. โอ คือขันที่มีรูปทรงแบบขันน้ำขนาดใหญ่ พบว่าที่มีขนาดใหญ่มากนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางในช่วงปากถึงประมาณ 1 เมตร ก็มี

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ที่ทำขึ้นในแบบครัวรักครัวหางอีกหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปซึ่งทางพม่าเรียกว่า “ พระชาโล ” กระบุงขนาดเล็กทาด้วยรักด้านนอกและทาชาดด้านใน เครื่องสูงที่ใช้ในการอบรมสมโภชพระพุทธรูป เขนงบรรจุดินปืน อูบหรือขะอูบ หรือภาชนะคล้ายบาตรมีเชิง และมียอดใช้บรรจุอาหารถวายพระและตลับขนาดต่างๆ ในตอนหลังเมื่อใช้เทคนิควิทยาจากภาคกลาง และจากญี่ปุ่นมาปรกอบแล้ว เครื่องเขินก็ได้พัฒนารูปแบบได้มากขึ้น เช่น ขันน้ำ พานรอง คนโท กระโถน ตะกร้าหมาก กระเป๋าหมาก ถ้วย ฝา ปิ่นโต กล่องบุหรี่ กล่องสบู่ ที่ใส่ซองจดหมาย ฯลฯ เพื่อเป็นของที่ระลึกและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ครัวรักครัวหาง มีส่วนประกอบสำคัญอยู่ก็คือ

1. โครง

2. รักและวัสดุที่ใช้ทาซึ่งมีรักเป็นส่วนผสม

3. ชาด

4. รูปแบบและลวดลาย

1. โครง

สิ่งที่ใช้เป็นหลักของเครื่องใช้ประเภทนี้คือโครง ก่อนที่จะฉาบทาด้วยรักหรือชาด พบว่าโครงของเครื่องเขิน สามารถแยกได้ตามวัตถุดิบ คือ โครงไม้ โครงโลหะ โครงเครื่องปั้นดินเผา โครงที่อัดขึ้นรูปจากกระดาษหรือไม้และโครงพลาสติก

โครงที่เป็นหลักของครัวรักครัวหางก็คือโครงที่ได้จากไม้ไผ่ โดยเฉพาะจากไม้เรี้ย/ไม้เฮี้ย ซึ่งตรงกับไม้ซางในภาคกลางอันเป็นไม้ที่มีปล้องยาวและเนื้อเหนียว ทั้งนี้เพราะนอกจากจะหาได้ง่ายแล้ว ไม้ไผ่ยังมีลักษณะเบาบาง ทำรูปแบบได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นในตัว โครงที่จักสานแล้วจะผ่านการต้มในน้ำร้อน 60-70 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้ผิวของไม้สะอาดมากขึ้น

ส่วนโครงไม้เนื้อแข็งนั้น ไม้ที่ดีเหมาะจะนำมาใช้ทำโครงเครื่องเขินนั้นต้องเป็นไม้ที่หดตัวและขยายตัว ได้ยาก และน้ำหนักไม่มาก และอาจเลือกใช้ไม้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการด้วย เช่น

สำหรับ วัตถุที่ต้องการความคงทน โชว์ฝีมือ และมีราคา เช่น พวกถาด แจกัน ควรใช้ไม้ที่มีคุณภาพดี และราคาถูก ได้แก่ ไม้สัก ไม้ตะเคียนทอง ไม้ยาง

วัสดุที่ต้องการอวดลวดลาย ควรใช้ไม้จำพวกลายงามๆ ได้แก่ ไม้ไทร ไม้มะม่วงป่า

วัสดุที่ทำเป็นเครื่องประดับบ้าน ขนาดเล็กและราคาถูก เช่น ไม้ทองกวาว

ไม้จำพวกที่จะกลึงให้เป็นรูปเหลี่ยมหรือทรงกลมก็จะต้องทอนให้เป็นท่อนๆ ตามขนาดของไม้ที่จะนำไปกลึงจากนั้นจึงนำไปกลึงให้เป็นโครงคร่าวๆ เสียก่อนแล้วจึงอบและตกแต่งต่อไป โครงโลหะจะต้องนำมาขัดสนิมบนโลหะออกเสียก่อนนำไปย่างไฟแล้วจึงนำมาทารัก อย่างน้อย 2 ครั้ง ส่วนโครงเครื่องปั้นดินเผานั้น ให้นำโครงดินมาเผาทารัก จากนั้นนำไปอบในอุณหภูมิของเตาอบสูงตั้งแต่ 100-160-180 องศาเซลเซียส ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง เรียกว่า ทารองพื้น ต่อจากนั้นจึงใช้วิธีการทาแบบเครื่องเขินที่ทำด้วยโครงไม้ โครงผ้าหรือกระดาษ นำโครงผ้าหรือกระดาษมาอักปะด้วยแป้งเปียกให้เข้ารูปแล้วจึงนำมาทารักด้วยแบบ วิธีทำเช่นเดียวกับเครื่องเขินที่ทำด้วยโครงไม้

2. รัก

ยางรัก หรือน้ำรัก ซึ่งในคัมภีร์ล้านนาบางฉบับเรียกว่า นางเกียง (อ่าน “ นางเกี๋ยง ” ) คือน้ำยางที่ได้จากต้นรักใหญ่หรือรักหลวง ( Melanorrhea usitata ตระกูล Anacadiaceae) และรักหมูหรือรักน้ำ ( Buchanania latifolia) ซึ่งคุณภาพของยางด้อยกว่ายางรักประเภทแรก น้ำยางที่กรีดจากต้นน้นจะออกสีเหลือง เมื่อทิ้งไว้จะเป็นสีดำ หากแบ่งยางรักตามการใช้งานแล้วพบว่าแยกเป็นรักรองพื้นคือยางรักที่ผ่านการ กรองแล้วใช้แปรงทาบนพื้นวัสดุที่ขัดแต่งแล้ว รักสมุกคือยางรักที่ผสมกับถ่านใบตอง ถ่านหญ้าคาหรือผงดินที่บดละเอียด คลุกเคล้าให้เหนียวพอปั้นได้ รักน้ำเกลี้ยงคือรักแห้งเร็วเพราะมีส่วนผสมของน้ำมันสนอยู่บ้าง ใช้ทาบนรักสมุกที่จัดแต่งให้เข้าที่แล้ว เพื่อเคลือบให้มีเงางาม

3. หาง

หาง หรือชาด เป็นสารให้สีแดง ได้จากดินสีแดงเนื้อ แกร่งซึ่งมาจากอินเดีย จีน และพม่า แต่ในล้านนาใช้ดินดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ตามดอยในพม่า นำมาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะเยาและน้ำมันยาง ซึ่งวัสดุที่ทาด้วยหางแล้วจะต้องผึ่งลมไว้ถึงสิบวันกว่าจะแห้ง

หาง แม้จะมีสีแดง แต่ก็พบว่ามีความแดงแตกต่างกัน เช่น สีน้ำหมาก สีส้ม สีส้มอมเหลือง และสีน้ำตาล แต่ที่นิยมใช้คือหางเสน คือสีแดงหม่น

หาง เชื่อกันว่าเป็นสารที่มีอันตรายทำให้คนที่ขุดถึงกับเล็บหลุด ดังนั้นจึงมักใช้คนที่เป็นโรคเรื้อนไปขุดหาดินดังกล่าวเมื่อได้มาแล้วจะต้อง “ ฆ่า ” สารปรอทที่มีอยู่ในดินนั้นโดยการห่อดินด้วยใบตองแล้วนำไปหมกไฟเสียก่อนที่จะ บดให้ละเอียด

4. รูปแบบและลวดลาย

เครื่อง เขินแบบดั้งเดิมของเชียงใหม่นั้น ส่วนใหญ่ทำจากโครงไม้ไผ่สานหรือไม้สักกลึงขึ้นรูปทาด้วยยางรักเพียงไม่กี่ ครั้งและตกแต่งอย่างง่ายๆ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรมและในชีวิตประจำวัน เมื่อชาวไทขึนหรือไทเขินจากเชียงตุงเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ในสมัยของพระเจ้า กาวิละเป็นต้นมาแล้ว จึงมีการทำเครื่องใช้ประเภทนี้ให้ซับซ้อนมากกว่าเดิม ทำให้สามารถจับกลุ่มเครื่องเขินตามรูปทรงได้ 3 แบบคือ แบบเมือง (เชียงใหม่) แบบเชียงตุง และแบบพม่า นอกจากนี้ จากฝีมือที่ผลิตยังสามารถแยกกลุ่มตามแหล่งผลิตได้ เช่น เครื่องเขินแบบเมือง (เชียงใหม่) และแบบงัวลาย เป็นต้น

เครื่องเขินแบบเชียงตุง นิยมทำเป็นทรงป้าน มีส่วนกว้างมากกว่าส่วนสูง

เครื่องเขินแบบพม่า ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นทรงสูงและแคบ

ครัวรักครัวหางแบบเมืองคือแบบท้องถิ่นล้านนาหรือเชียงใหม่ มีลักษณะผสมผสานระหว่างแบบเชียงตุงและแบบพม่า

ลวดลายที่นิยมทำ เครื่องเขินนั้นใช้การเขียนขีดสลักบนภาชนะและลายทองรดน้ำ มีลวดลายหลายอย่าง เช่น ลายเชียงใหม่ ลายดอกบานใบ (บานบุรี) ลายดอกเมือเข้าเทิก ลายหัวนาค ลายธรรมดา และลายแบบใหม่หรือลายเพนท์

  • ลายเชียงใหม่หรือลาย เมืองที่พบส่วนใหญ่เกิดจากการใช้พู่กันทำจากเส้นผมคนจุ่มยางรักหรือยางรัก ผสมชาดแล้ว หยดลงบนพื้นภาชนะเป็นจุด ต่อด้วยการลากหางยาวออกไปทำเป็นลายคล้ายลูกอ๊อด เมื่อทำต่อกันเป็นชุดจะได้รูปกลีบดอกไม้หรือลายเครือเถาต่างๆ อย่างไม่สิ้นสุด
  • ลายแบบงัวลาย ซึ่งเป็นชื่อละแวกชุมชนด้านใต้ของกำแพงเมืองเชียงใหม่ นิยมการขูดลาย ที่เรียกว่าลายดอก/ฮายดอก คือการทำลวดลายบนภาชนะที่ทายางรักให้เรียบและแห้งสนิทแล้ว ช่างจะใช้เหล็กเข็มกรีดหรือขูดทำเป็นลาย ตามรูปแบบและจินตนาการด้วยความชำนาญเฉพาะตน จากนั้นก็นำรักผสมชาดสีแดงถมลงไปในร่องที่กรีดไว้และผึ่งไว้ให้แห้งแล้วจึง ขัดส่วนนอกสุดออกจนเห็นลวดลายสีแดงฝังอยู่ในพื้นที่ยางรักสีดำ จากนั้นจึงเคือบด้วยยางรักใสหรือรักเงาเพื่อเคลือบลวดลายทั้งหมดอีกครั้ง หนึ่ง ลวดลายแบบนี้จัดเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ที่พม่าเรียก “ โยนเถ่ ” ส่วนมากจะปรากฏบนเสี้ยนหมาก กระโถน โอ ขันน้ำพานรอง เหยือกน้ำ ถาด แลของใช้อื่นๆ เช่นฝาบาตร และไม้ประกับใบลาน เป็นต้น

งานบางชิ้นประดับด้วย แก้วอั่งวะหรือแก้วชืน (อ่าน “ แก้วจืน ” ) คือกระจกเกรียบฉาบบนตะกั่ว โดยใช้ยางรักเป็นกาวและใช้รักปั้นปิดขอบกระจกให้แน่น นอกจากนั้นยังพัฒนาไปเป็นการเขียนลายรดน้ำแบบภาคกลาง ติดลายจากเปลือกหอยมุข ติดเปลือกไข่ ตลอดจนเขียนสีน้ำมัน สีอะครีลิคพ่นสี ทาน้ำมันวานิช จนกระทั่งทำให้เครื่องเขินดูคล้ายของโบราณด้วยวิธีการสมัยใหม่อีกด้วย