เครื่องมือของใช้ล้านนา - ล้อ / เกวียน ( อ่าน “ ล้อ / เกวี๋ยน ”)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ล้อ / เกวียน ( อ่าน “ ล้อ / เกวี๋ยน ”)
 
ใน ภาษาล้านนามีคำที่ใช้เรียกยานพาหนะ ดังที่ภาษาไทยกลางเรียกว่าเกวียนนั้นถึงสองคำ คือเรียกว่า ล้อและ เกวียน อย่างเช่น “ อย่าไพเทิกทางล้อ อย่าไพป้อทางเกวียน ล้อเพิ่นจักเวียน เกวียนเพิ่นจักหล้ม ” แต่โดยทั่วไปแล้วมักเรียกว่าล้อ มากกว่าเรียกว่าเกวียน และเรียกวงล้อว่า แหว้นล้อ หรือ เหวิ้นล้อ โดยมิได้เรียกว่า “ ล้อ ” เฉย ๆ และเรียกวงล้อของรถยนต์เป็นต้นว่า แหว้นล้อ ส่วนวงล้อของเกวียนซึ่งมีขนาดใหญ่จะเรียก เหวิ้นล้อ เสมอ

การที่เรียกว่า ล้อ น่าเป็นการเรียกชื่อตามวงล้อที่มีรูปกลม โดยที่ล้อหรือเกวียนซึ่งใช้ในล้านนาระยะหลังนี้ มีผู้กล่าวว่าเป็นแบบที่รับมาจากเมืองเมาะตะมะ แต่ก็มีร่องรอยว่ามีการใช้เกวียนในล้านนามาตั้งแต่โบราณ อย่างเช่น ล้อ “ ตะลุมพุก ” โดยที่วงล้อได้จากการตัดหั่นท่อนไม้ตามขวาง เจาะรูตรงกลางใส่แกนเพลาตรงกลาง มี 2 ล้อ มีไม้คานต่อออกจากแกนเพลาสำหรับดึงลาก ล้อชนิดนี้แต่เดิมคงใช้บรรทุกของหนัก อย่างขนปืนใหญ่ไปออกศึกสงครามในศิลาจารึกหลักหนึ่งกล่าวถึงตำแหน่งข้าราชการ สมัยนั้น มีตำแหน่งหนึ่ง คือ “ พวกงัดหล่ม ” เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งหัวหน้ากล่มคนที่มีหน้าทีทใช้ไม้งัดล้อที่ตกหลุมติด หล่ม ต่อมามีการใช้ล้อมตะลุมพุกในการลากไม้ ประสาทศพพระภิกษุผู้ใหญ่ กษัตริย์ และราชวงศ์

ล้อ เกวียน เป็นล้อที่ใช้สัตว์เทียมในการซักลาก มีใช้กันทั่วโลก แต่สำหรับในเอเชียอย่างประเทศไทย จะใช้วัวและควายเทียมเกวียน โดยมักใช้ควายเทียมเกวียนเมื่อมีการบรรทุกหนัก หรือทางขึ้นเนินสูง เพราะควายมีกำลังดีกว่าวัว แต่ถ้าเทียมเกวียนไปทางไกลและมีแดดจัดก็ใช้วัดเทียมเพราะวัวทนแดดดีกว่าควาย แต่ส่วนมากใช้วัวเทียมจึงนิยมเรียกเกวียนว่า ล้อวัว

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของล้อเกวียน

ส่วนประกอบหลักของเกวียน ได้แก่ ส่วนที่เป็นล้อและตัวเรือน โดยในส่วนที่เป็นล้อนั้นจะมี ดุม เหล็หปลอกดุม สี้ - ซี่ ไม้ฝักขาม และ เหล็กตีน ในส่วนอื่น ๆ นั้นจะประกอบด้วยเหล็กแกน ( อ่าน “ เหล็กแก๋น ”) หมอน หรือ กะหลก ไม้คันตอ ไม้ขอแพะ สายอก ไม้คันชัก ( อ่าน “ ไม้กันจั๊ก ”) หีบเรือนล้อ ( อ่าน “ เฮือนล้อ ”) ไม้กงคิ้ว ( อ่าน “ ไม้ก๋งกิ๊ว ”) ตาดหนา ตาดหลัง ไม้ค้ำ ( อ่าน “ ไม้ก๊ำ ) และไม้ห้ามล้อ

วิธีทำอุปกรณ์

ดุมการสร้างล้อจะเริ่มที่การสร้างดุมก่อน ไม้สำหรับทำดุมที่ดีที่สุดคือ ไม้แดง หรือไม้เพา ( อ่าน “ ไม้เปา ”) เมื่อเลือกไม้ได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว ก็นำมากลึงให้กลม ตรงกลางของดุมโตประมาณ 25 เซนติเมตร ยาวทั้งหมดประมาณ 45 เซนติเมตร ส่วนปลายทั้ง 2 ด้าน มีขนาดลดหลั่นลงเจาะรูตรงกลางให้ทะลุ รูดุมกว้างประมาณ 5 เชนติเมตร ปากของรูดุมทั้ง 2 ด้าน ใส่ปลอกเหล็กเพื่อป้องกันการสึกหรอของไม้ดุม ส่วนปลายของดุมทั้ง 2 ด้าน รัดด้วยปลอกเหล็กป้องกันกันไม้ดุมแตก ส่วนกลางของดุมเจาะรูประมาณ 3.5 X 6.5 เซนติเมตร เรียงกันโดยรอบ มีจำนวน 16 รู ใช้สำหรับเสียบซี่ของวงล้อ

เหล็กปลอกดุม เป็นเหล็กเหนียวตีขึ้นรูป มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ความกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร ยาวโดยรอบของดุมเพื่อรัดดุม

สี้ - ซี่ คือไม้สำหรับยึดฝึกขนาดกับดุมของวงล้อเช้าด้วยกันทำด้วยไม้สัก ส่วนโคนมีขนาดประมาณ 6.5 x 3.5 เซนติเมตร ส่วนปลายมีขนาด 5 x 3.5 เซนติเมตร ความยาวของซี่ประมาณ 35 เซนติเมตร ( ไม่รวมส่วนที่เป็นเดือย ) หรือแล้วแต่ความกว้างของวงล้อ วงล้อมแต่ละวงใช้ซี่จำนวน 16 ซี่

ไม้ฝักขาม
คือไม้ส่วนนอกของวงล้อ ทำด้วยไม้สักเมื่อต้องการวงล้อขนาดใด คนสมัยก่อนจะขีดวงกลมบนพื้นดินหรือพื้นหินและใช้เชือกวางตามรอยจนรอบ แล้วจึงเอาความยาวของเชือกนั้นมาแบ่งเป็น 8 ท่อน ความยาวของแต่ละท่อนเป็นความยาวของไม้ฝักขามซึ่งทำหน้าที่เป็นวงล้อ ฝักขามของล้อแต่ละวงมีจำนวน 8 ฝัก ไม้ฝักแต่ละอันมีความโค้งตามวงกลม โดยความกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร หนาประมาณ 5 เซนติเมตร หัวข้างหนึ่งทำเป็นเดือย อีกข้างหนึ่งทำช่องสำหรับรับเดือย ถ้าเป็นฝักขามล้อรุ่นเก่า จะเห็นช่องรับเดือยเป็นรอยบวก แต่ถ้าเป็นล้อรุ่นใหม่แล้ว จะเจาะช่องเดือยอยู่ตรงกลาง ไม้ฝักขามทั้ง 8 อันเมื่อประต่อเข้าด้วยกันแล้วจะยึดต่อกันเป็นวงกลมพอดี ด้านในของฝักขามแต่ละอันเจาะรูขนาดประมาณ 3.5 x 5 เซนติเมตร เพื่อรับปลายของสี้หรือไม้ที่เป็นซี่ของล้อเกวียน
เหล็กตีนล้อ ตีขึ้นรูปจากเหล็กเหนียวมีลักษณะเป็นแผ่นบาง กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร หนาประมาณ 1 เซนติเมตร ทำหน้าที่หุ้มและรัดวงล้อทางด้านนอก ป้องกันไม่ให้ไม้ฝักขามหลุดออกจากกัน และยังป้องกันไม่ให้ไม้วงสึกหรอ จากการที่กลิ้งบดทับไปกับพื้น

เหล็กแกน ( อ่าน “ เหล็กแก๋น ”)
เป็นท่อเหล็กกลมยาวทำขึ้นจากเหล็กกล้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.1 เซนติเมตร เจาะรูเหลี่ยมที่หัวทั้งสองด้านเพื่อสอด แซว่ หรือสลักเหล็กป้องกันวงล้อมเลื่อนหลุดไปจากแกน ตรงกลางของแกนเจาะรูกลม เพื่อใส่เหล็กสำหรับยึดระหว่างแกนกับ หมอนกะหลก ใช้เป็นแกนเพลาให้กับวงล้อมทั้ง 2 ข้าง

หมอนหรือกะหลก
ทำด้วยไม้สัก มีขนาด 10 x 12 เซนติเมตร ด้านหนึ่งเจาะเป็นร่องลึกประมาณ 2.5 เซนติเมตร สำหรับวางยึดกับแกนล้อด้านบน ตรงกลางใส่เดือยเหล็กยึดแกนกับกะหลกไม่ให้หลุดจากกัน

ไม้คันตอ ( อ่าน “ ไม้กันคอ ”)
ทำด้วยไม้สักเหลี่ยมขนาด 10 x 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 190-200 เซนติเมตร แต่ลบมุมเหลี่ยมแต่คงเว้นส่วนกลางไว้ หัวและท้ายเจาะรูกลมจากด้านบนทะลุลงไปด้านข้างละ 2 รู เพื่อเสียบ ไม้ขอแพะระยะหว่างรูทั้ง 2 ประมาณ 20 เซนติเมตรความกว้างของรูประมาณ 2.5 เซนติเมตร

ไม้ขอ แพะ ( อ่าน “ ไม้ขอแป๊ะ ”) มักทำด้วยไม้ไผ่มากกว่าไม้จิง เป็นไม้ขนาดเล็กกลมสำหรับเสียบเข้ารูที่ไม้คันคอยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ทำเป็นปมหรือตาของไม้ไผ่ไว้ด้านบน เพื่อว่าเมื่อเสียบในรูจะได้ไม่หลุดร่วงลง ไม้ขอแพะนี้ใช้เป็นที่คล้องสายอกวัวติดกับไม้คันคอ มีข้างละ 2 อัน

สายอกฟั่น
และถักขึ้นจากปอ มีรูปแบน กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร 2 หัวท้ายเป็นเส้นกลม มีหูไว้สำหรับอ้อมคอด้านล่างของวัวแล้วเอาหูทั้งสองหัวท้ายขึ้นคล้องกับไม้ ขอแพะหรือเอาไม้ขอแพะเสียบหูสายอก เข้ากับรูของ คันตอ

ไมั คันชัก ( อ่าน “ ไม้กันจั๊ก ”)
หรือ ส้าว เป็นไม้โครงที่ชักดึงล้อ ยาวจากด้านหลังของเกวียนจนถึงไม้คันตอ ไม้ดังกล่าวนี้มักทำด้วยไม้สักขนาดประมาณ 3 x 2 นิ้ว ยาวประมาณ 3.40 เมตร จำนวนสองอัน ส่วนหัวของไม้ทั้งคู่นี้ประกบเข้าด้วยกันยึดด้วยสลัก และรัดด้วยปลอกเหล็ก ใช้แถบหนังที่เรียกว่า หนังเค้น ( อ่าน “ หนังเก๊น ”) ยึดส่วนหัวของไม้คันชักเข้ากับไม้คันตอ ถ่างส่วนปลายของไม้คันชักทั้งสองออกไปวาง และยึดกับหมอนหรือกะหลก ความห่างของไม้คันชักตรงจุดที่วางบนหมอนกะหลกประมาณ 1.20 เมตร

หีด คือ แผ่นไม้ที่วางบนคันชักตอนหน้า เพื่อให้คนขับนั่งเวลาขับเกวียน ส่วนมากทำเป็นรูปกล่องหรือหีบ มีฝาปิดเปิดด้านบนใช้เป็นที่เก็บของใช้ของกินของผู้ขับเกวียน เช่น บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

เรือนล้อ ( อ่าน “ เฮือนล้อ ”) คือตัวถังซึ่งตั้งอยู่บนไม้คันชัก มีทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1.10 เมตร ยาวประมาณ 1.60 เมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร 2 ด้านข้างเป็นไม้ระแนงซี่ห่างกันประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นรางจากบนลงล่าง สำหรับสอดแผ่นไม้กระดานที่เรียกว่า ตาด พื้นของเรือนล้อปูด้วยแผ่นไม้กระดานหรือฟากไม้ไผ่

ไม้กง คิ้ว ( อ่าน “ ไม้ก๋งกิ๊ว ) เป็นแผ่นไม้กระดานกว้างเท่ากับเรือนล้อ สูงประมาณ 30 เซนติเมตร หนาประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านล่างถากแต่งเว้าโค้ง ทำช่องให้เสียบเข้ากับไม้คันชักด้านบนเพื่อรับยึดกับเรือนล้อ

ตาด หน้า / ตาดหลัง คือ ไม้แผ่นสำหรับปิดเรือนล้อด้านหน้าและด้านหลัง ที่ตาดทั้งสองนี้นิยมตกแต่งให้งามด้วยลวดลายหรือภาพวาด เช่น ตาดหน้า อาจทำเป็นรูปพรรณพฤกษาบ้าง ทำเป็นรูปดอกไม้ประดับกระจกที่ตรงกลางบ้าง หรือทำเป็นรูปคนรำวงหรือพานรัฐธรรมนูญ ส่วนตาดล้อด้านหลังในเขตเชียงใหม่และลำพูนมักแกะเป็นรูปช้าง อาจเป็นช้างเดี่ยวหรือช้างคู่ชูงวงประสานกันก็ได้ และระบายสีให้สวยงาม

ไม้ห้ามล้อ เป็นไม้ขนาดประมาณ 3x2 นิ้ว ผูกติดกับคันชักที่ต่อมาจากส่วนหน้าของล้อ มีลักษณะเป็นคันโยกติดไว้ข้างคนขับ เมื่อล้อหมุนเร็วเกินไป คนขับเกวียนจะโยกคันห้ามไม้ที่อยู่ด้านหลังของวงล้อจะดันเข้าติดกับเหล็กตีน ล้อ ทำให้ล้อหมุนช้าลงหรือหยุดก็ได้ โดยมากมักใช้ห้ามล้อในตอนที่วัวชักเกวียนลงจากที่สุด ไม้ค้ำ ( อ่าน “ ไม้ก๊ำ ”) ทำด้วยไม้จึงมีรูปเป็นง่ามยาว หรือจะใช้ไม้ไผ่ผ่าออกเป็น 2 กีบ ประกบกันประมาณตรงกลางใส่ไม้ขวางเพื่อให้กีบไม้ทั้ง 2 แยกห่างออกจากกันเป็นรูปตัว A หรือจะใช้กิ่งไม้ที่มีลักษณะดังกล่าวก็ได้ ไม้ค้ำนี้จะใช้ค้ำที่ไม้คันชักด้านหน้าของเกวียนเมื่อจอดอยู่กับที่โดยไม่มี วัวเทียม เพื่อให้เรือนล้อตั้งอยู่โดยไม่ก้มไปข้างหน้า ใช้ค้ำในเวลาที่กำลังห้างงัว หรือเทียมวัวเข้ากับเกวียนก่อนที่จะออกเกวียน ก็ถอดขึ้นแขวนไว้ที่ไม้คันชัก เมื่อจะปลดวัวออกจากเกวียนก็ใช้ไม้นี้ค้ำเกวียนไว้

การประกอบเกวียน

เมื่อจัดทำอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนในการประกอบส่วนต่างๆ เข้าเป็นเกวียน เริ่มที่การประกอบวงล้อเอาซี่เสียบ ในรูข้ามดุมปลายหนึ่งเสียบในรูของฝักขาม ซี่ 2 อัน ต่อฝักขาม 1 อัน เมื่อครบทั้ง 16 ซี่แล้ว ก็จัดให้ฝักขามยึดต่อกันโดยใช้เดือยให้เป็นวงกลม จากนั้นจึงเอาเหล็กตีนตีอัดเข้ากับวงรอบนอกให้แน่น ใส่เหล็กปลอกดมด้านนอกและเหล็กปลอดรูดุมให้รัดกุม นิยมใช้ไขสัตว์หล่อลื่นระหว่างล้อกับแกน ต่อมาเมื่อมีน้ำมันใช้กันแล้วก็ใช้น้ำมันขี้โล้แทน โดยมักแขวนกระป๋องใส่น้ำมันขี้โล้ ไว้กับคานแล้วใช้ปีกไก่ชุบน้ำมันหยดหยอดลงที่แกนเพลา เมื่อได้วงล้อ 2 วงแล้วก็เอาแกนเหล็กใส่เข้าไปในรูดุม ปลายแกนด้านนอกทั้งสองข้างใส่สลัก เพื่อกันวงล้อมิให้เลื่อนหลุด จากนั้นจึงเอาไม้กะหลก หรือไม้หมอนวางบนแกนเหล็ก ใส่เหล็กสลักที่กลางแกนแล้วจึงรัดหัวท้ายของหมอนให้แน่นติดกับตัวแกน ส่วนหัวท้ายของหมอนห่างจากดุมล้อประมาณ 3 เซนติเมตร และหัวของหมอนยังเป็นที่กั้นไม่ให้วงของล้อขยับเข้าไปด้านใน แล้วเอาไม้คันชัวางพาดบนหมอน ใส่สลักคีบเข้ากับไม้คันชัก ด้านหน้าของไม้คันชักพาดวางด้วยไม้คันคอ ตรงกลางผูกด้วยเชือกหนังควายให้ไม้คัดคอติดกับไม้คันชัก บนไม้คันชักตรงกลางมีหมอนไม้รองรับเรือนล้อ เมื่อยกเรือนล้อขึ้นตั้งบนหมอน ด้านหลังผูกยึดกับไม้กงคิ้ว ด้านหน้าโยงเชือกยึดกับไม้คันชัก

ประโยชน์การใช้สอย

ในยุคก่อนที่จะมีรถบรรทุก “ ปิกอัพ ” ใช้กันนั้น จะมีการใช้ล้อเกวียนตั้งแต่ระดับเมืองลงไปถึงหมู่บ้าน ใช้เป็นพาหนะขนของสัมภาระในการออกศึก ใช้ขนของในการหลบหนีอพยพใช้บรรทุกอุปกรณ์ในการ “ สร้างบ้านแปลงเมือง ” ใช้บรรทุกข้าวขึ้นยุ้ง ขนของหรือสินค้าออกไปขายในต่างถิ่นต่างแดนจนถึงต่างประเทศ และใช้ในการขนพืชผลทางการเกษตรออกสู่ตลาด

ถ้าใช้เกวียนบรรทุกของที่มีขนาดยาว เช่น เสาเรือน ก็ยกเอาเรือนล้อออก ใช้เสาพาดบนไม้ที่วางบนคันชัก ถ้าบรรทุกฟางก็จะก่อกองสูงจากเรือนเกวียนจนดูโยกเยกโงนเงน แต่ถ้าขนของที่ละเอียดอ่อน หรือข้าวเปลือกก็ต้องใส่เรือนล้อปูด้วยเสื่อล้อ คือสาดถุล้อสำหรับปูด้านล่าง 2 ผืน มีเสื่อวงรอบด้านข้าง การบรรทุกข้าวแต่ละเที่ยวไม่เกิน 30 ต๋าง ( สัด )

การที่คนมีล้อเกวียนนั้น นอกจากความสะดวกในแง่ใช้เป็นยานพาหนะแล้ว บ้านที่มีล้อจอดอยู่นั้นจะได้รับความนิยมยกย่องว่าเหนือกว่าบ้าน ที่มีเพียงวัวหรือควายเท่านั้น ยิ่งล้อใหม่เกวียนใหม่ที่ขับเคลื่อนไปตามทางนั้น มักมีเสียงกระชับแน่น เสียงล้อที่กระทบกับแกนเพลาจะดัง “ หล้องๆ ” หากคนขับเป็นชายหนุ่มแล้วก็ยิ่งจะทำให้สาวเจ้าชายตามอง แต่เสียงล้อเกวียนเก่าที่มีเสียง “ โครกคราก อืดอาด ” และคนขับเป็นวัย “ สมัคเคิ้ม ” กลางคนเข้าไปแล้ว “ แม่ร้างนางสาว ” ก็มักจะไม่ค่อยเหลือบแลมากนัก แต่สำหรับเด็กชายแล้ว การได้ห้อยโหนกับเรือนล้อก็นับว่า “ ม่วน ” ยิ่งได้นั่งบนเกวียนแล้วก็ยิ่งจะปลาบปลื้ม แม้หมาที่ได้นั่งล้อบนเกวียน แล้วก็ยังอดไม่ได้ที่จะวางผึ่ง ดังคำพูดว่า “ หน้าซื่อเหมือนหมาขี่รถ หน้าชดเหมือนหมาขี่ล้อ ”