วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ไห

ไห เป็นภาชนะทรงกลม มีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้างและส่วนปากจะกว้างกว่าส่วนก้นไม่มากนัก ทั้งนี้ในส่วนที่เป็นส่วนกลางหรือส่วนลำตัวนั้นอาจทำให้มีลักษณะป่องออกด้วย ก็ได้ ไหนี้ใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำ มีขนาดต่าง ๆ กันไป ตามลักษณะการใช้งาน

  • ไหเข้า

ไหเข้า คงเรียกชื่อตามลักษณะของวัตถุและการใช้ไหเข้ามีลักษณะเป็นไหและใช้ในการนึ่ง และบรรจุข้าวที่นึ่งแล้วไว้เพื่อบริโภค มีใช้กันทั่วไปในถิ่นที่มีคนนิยมรับประทานข้าวเหนียว รวมไปถึงในภาคอีสาน แต่ในภาคอีสานเรียกไหเข้าว่า หวด มีวิธีใช้อย่างเดียวกัน

ไหเข้า มี 3 ชนิด
คือไหที่ทำขึ้นด้วยไม้จิง เช่น ไม้สัก ไม้ซ้อ ไม้ฉำฉา เป็นต้น ไหที่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สีสุก และไหที่ใช้ตอกไม้ไผ่สาน

ไหไมจิงนั้นทำยาก และใช้เวลาทำมากกว่าชนิดอื่น เมื่อได้ไม้ท่อนที่มีขนาดที่ต้องการมาแล้ว นำมาเจาะขุดเอาส่วนในออกเหมือนกับการทำกลอง ส่วนก้นทำเป็นเหงือก เมื่อเจาะเอาส่วนในออกหมดแล้วก็จะถากส่วนนอกตกแต่งให้เรียบและสวยงาม มีความหนาประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้นใช้ไม้แผ่นกระดานทำเป็นแผ่นกลมแล้วเจาะรูเล็ก ๆ สัก 10 รู เพื่อใช้เป็นแผ่นปิดก้นไห เรียกแผ่นไม้อย่างนี้ว่า ตาดไหเข้าหรือหึมไห

ไหเข้า
ที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่นั้นทำได้ง่าย เพียงแต่หาไม้ไผ่สีสุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และปล้องที่สวยไม่คดงอ ด้านหนึ่งตัดให้เหลือข้อไม้ไว้เป็นส่วนก้นไห อีกด้านหนึ่งตัดไม่ให้มีข้อเพื่อเป็นส่วนปากไห แล้วเจาะรูเล็ก ๆ ที่ข้อไม้ที่เป็นส่วนก้นไหสัก 4-5 รู ก็จะเป็นไหใช้นึ่งข้าวได้เช่นกัน

ไหเข้าสาน ใช้ตอกไม้ไผ่มีขนาดเส้นใหญ่ประมาณ 2 เซนติเมตร สานด้วยลาย 2 หรือลาย 3 ลักษณะปากผายเล็กน้อย คาดปากทั้งด้านในและด้านนอกด้วยไม้ไผ่ ส่วนก้นใช้ไม้เสียบเป็นรูปกากบาท เพื่อรับแผ่นก้นที่สานด้วยไม้ไผ่เช่นกัน

ไหทุกชนิดก่อนที่จะตัดส่วนสูง หรือสานส่วนสูงนั้นจะมีการทำให้ถูกโฉลกโดยการนับ ซึ่งใช้นิ้วหัวแม่มือของหัวหน้าครอบครัววางตามขวางตั้งแต่ก้นไหขึ้นไปพร้อม กับขานว่า อิ่มอยาก สลับด้วยแม่มือซ้ายและขวาจนถึงปากไห เมื่อถึงปากไหให้จบด้วยคำว่า อิ่ม จึงจะถิอว่าเป็นไหนึ่งข้าวดี เมื่อไม่ได้ทำไหขึ้นใช้เองแต่ไปซื้อจากที่เขาทำขายก็จะใช้วิธีนับโฉลกหัวแม่ มือเหมือนกัน

ไหเข้าใช้นึ่งข้าวเหนียว และวันหนึ่งจะนึ่งเพียงตอนเช้าครั้งเดียวแต่เก็บข้าวไว้กินได้ทั้ง 3 เมื่อยกหม้อนึ่งที่ใส่น้ำตั้งไฟแล้ว เอาตาดไหใส่ไว้ที่ก้นไหที่เป็นเหงือกขยับไปมาให้เข้าที่แน่นดี แล้วจึงเทเข้าหม่า คือข้าวที่แช่ไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืนและล้างให้หมดกลิ่นแล้วลงไป อย่ากดหรือเขย่าไหให้เข้านั้นพันด้วยผ้าเปียกรอบ ๆ ป้องกันไม่ให้ไอน้ำรั่วออกได้ เรียกผ้าชุบน้ำนี้ว่า เตี่ยวหม้อหนึ้ง เมื่อเข้าสุกแล้วยกลงเทลงที่กัวะเข้า แล้วใช้ไม้ด้ามเข้าคนไปมา ถ้าเป็นไหไม้จิงก็อาจเอาไหนั้นเป็นที่เก็บข้าวสุกอีก ทีหนึ่งก็ได้ คือเป็นทั้งไหนึ่ง และไหเก็บเข้าสุก ส่วนไหไม้ไผ่และไหที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้นึ่งอย่างเดียวเมื่อข้าวสุกและคนในกัวะเข้าแล้วก็จะเก็บข้าวสุกไว้ใน ภาชนะอื่นอย่างเก็บไว้ในกล่องเข้า เป็นต้น

  • ไหซอง

ไหซอง หมายถึงไหที่มีซองหุ้มไหนั้นไว้ โดยมากหมายถึงไหน้ำปลาซึ่งเป็นไหเคลือบสีเขียวอ่อนหรือเขียวซีด ซึ่งมีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ส่วนก้นกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนกลางป่องออกแล้วเรียวคอดเข้าเป็นคอและผายออกเป็นปาก ซึ่งส่วนคอนั้นจะกว้างประมาณ 12 เซนติเมตร และส่วนปากกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร เช่นกัน

รอบไหนั้นมี ซอง ซึ่งเป็นหวายสานอย่างหยาบ ๆ คล้ายสาแหรกหุ้มไว้เพื่อใช้แทนหูหิ้ว นิยมใช้ไหซองนี้บรรจุน้ำปลามาจากเมืองจีน เป็นต้น

  • ไหดอก

ไหดอก หรือ หม้อไหดอก มีลักษณะการใช้งานอย่างแจกันในปัจจุบัน ไหดอกนี้จะเป็นภาชนะดินเผาที่สูงประมาณ 20 เซนติเมตร ฐานและปากกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนคอกว้างประมาณ 7 เซนติเมตร ทั้งนั้ส่วนลำตัวของไหดอกนี้นิยมทำให้ป่องอกเล็กน้อย

ชาวบ้านนิยมใช้ไหดอก หรือ หม้อไหดอกบรรจุดอกไม้ทำเป็นแจกันดอกไม้ถวายพระพุทธรูปบนหิ้งในบ้านโดยมาก แล้วมักจะใช้ยอด หมากพู้หมากแม่ คือ หมากผู้หมากเมียปักไว้แทนดอกไม้สด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหมากผู้หมากเมียหาง่ายและทนทาน ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยก็ได้

หม้อไหดอกที่งดงามมากปรากฏเป็นภาพเขียน ที่บริเวณคอสองของวิหารจามเทวี ที่วัดปงยางคก และวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ส่วนหม้อดอกที่ชาวบ้านใช้บรรจุยอดหมากผู้หมากเมียเพื่อใช้ประดับบนหิ้งพระ นั้น นิยมจัดไว้เป็น 3 ไหดอก ซึ่งอาจเป็นเพราะจัดเพื่อถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ได้

  • ไหหลวง

ไหหลวง ตรงกับโอ่งมังกรของไทยภาคกลาง ทั้งนี้ที่เรียกว่า ไหหลวงนั้นขึ้นอยู่กับเหตุสองสถานคือที่เรียก “ ไหนั้น หมายถึงภาชนะที่ทำขึ้นให้ส่วนกลางป่องโตกว่าส่วนปากและส่วนก้นเล็กน้อย และที่มีคำว่า “ ลวง ” ซึ่งแปลว่ามังกร อยู่ด้วย ก็หมายความว่า ไห หรือโอ่งที่ว่านี้มีลายรูปมังกรขดเกี้ยวพันอยู่ นิยมใช้หลวงนี้ในการเก็บน้ำบริโภค แต่ก็พบด้วยว่ามีผู้ใช้หมักปลาร้าหรือใช้บรรจุเหล้าเถื่อนก็มีเช่นกัน