วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

อีดอ้อย

มีอยู่สองอย่างคือย่างที่ใช้หีบอ้อย และชนิดที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับช่วยฝึกหัดเด็กเดิน อีดอ้อยที่ช่วยให้เด็กเดินได้เร็วนี้ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2 ชิ้นสวมกัน ข้างหนึ่งปักลงดินสูงประมาณ 1 ศอก มีข้อไม้ไผ่อีกอันหนึ่งสวมอยู่ด้านบน ทำไม้คานเล็กๆ สอดขวางไว้ข้างบนให้ยาวประมาณ 2 ศอก เพื่อให้เด็กที่กำลังหัดเดินเกาะเดินหมุนไปรอบๆ
อีดอ้อย

อีดอ้อย
เป็นเครื่องมือที่ใช้หีบคั้นต้นอ้อยเพื่อให้ได้น้ำอ้อย ใช้วัว ควายเทียมดันลูกหีบให้หมุนไปรอบๆ

หีบอ้อยมี 2 ชนิด ตามลักษณะของพูลูกหีบ คือหีบพูเกลียวกับหีบพูทอย ทั้งนี้ หีบพูเกลียวจะมีลูกหีบประกอบด้วยลูกหีบซึ่งทำด้วยท่อนไม้แกะสลักให้เป็น เกลียว จำนวน 3 ลูก นำมาประกอบให้เฟืองขบกันบนฐาน ซึ่งทำด้วยแผ่นไม้ขนาดใหญ่มีรางสำหรับรองรับน้ำอ้อย ส่วนหีบพูทอย จะมีขนาดใหญ่กว่าพูเกลียว ประกอบด้วยลูกหีบ 3 ลูก ทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่แกะลูกหีบส่วนบนให้เป็นรูปทอยหรือรูปลิ่มนำมาประกบให้ ลูกทอยขบกันกระชับบนฐาน

ทั้งหีบพูเกลียว และหีบพูทอยมีระบบการทำงานที่เหมือนกัน กล่าวคือ ลูกหีบตัวกลางเป็นเพลายาวขึ้นไป ด้านบนเจาะเป็นช่องสำหรับใส่คานหมุน ซึ่งยาวประมาณ 4- 5 เมตร ตรงปลายผูกวัว ควายเทียมไว้เพื่อต้นไม้โดยให้หมุนเป็นวงกลม


วิธีใช้
ประกอบติดตั้งลูกหีบบนพื้นดิน ด้านปลายรางรองรับน้ำอ้อย ขุดหลุมนำภาชนะ เช่น ครุหรือถังรองรับน้ำอ้อย นำต้นอ้อยที่แกะเปลือกออกแล้วกองไว้ข้างๆ ลูกหีบใช้คน 2-3 คนนั่งป้อนต้นอ้อยเข้าสู่ลูกหีบโดยนั่งอยู่ด้านตรงข้ามกัน ใช้วัวหรือควายเทียมที่แอก ให้เดินหมุนไปรอบๆ เมื่อลูกหีบหมุนจะบดทับต้นอ้อยให้แตกจนแบน น้ำอ้อยก็จะไหลลงตามรางไปยังภาชนะที่รองรับ ส่วนคนที่นั่งด้านตรงข้ามจะคอยรับกากต้นอ้อยป้อนเข้าสู่ลูกหีบอีกด้านหนึ่ง เพื่อหีบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นนำน้ำอ้อยไปเคี่ยวในกระทะขนาดใหญ่จนงวดแล้วจึงนำไปเทลงในแบบพิมพ์ เมื่อแห้งแล้วก็จะได้น้ำอ้อยงบหรือแว่น ใช้ใบตองห่อ หรือเทใส่ไว้ในภาชนะเก็บ เช่น หม้อ ไห เป็นต้น