วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

กะเหล็บ

กะเหล็บ
เป็นภาชนะสานทึบคล้ายกระบุงแต่รูปค่อนข้างแบนทรงสูงกว่า พื้นก้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สะพายติดหลังใส่สิ่งของอเนกประสงค์

กะเหล็บเป็นของใช้ที่สำคัญของชาวโซ่งหรือลาวโซ่ง ในสมัยก่อนพวกโซ่งซึ่งอยู่ในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ มักมีกะเหล็บใช้กันเกือบทุกครัวเรือน กะเหล็บที่สานขึ้นจะมีความประณีต ลายละเอียด รูปร่างสวยงามมาก ชาวโซ่งโดยทั่วไปให้ความสนใจต่อการจักสานการประดิดประดอยของใช้ และเครื่องแต่งกายมากกว่าการสร้างที่อยู่อาศัย เพราะชาวโซ่งจะทำไร่เลื่อนลอย บริเวณใดดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกแล้วจะอพยพไปหาแหล่งใหม่เรื่อย ๆ ฉะนั้นสิ่งที่ชาวโซ่งเหล่านี้นำติดตัวไปด้วย ต้องเป็นของใช้ซึ่งเคลื่อนย้ายได้สะดวก โดยเฉพาะกะเหล็บ ต้องผูกติดหลังเดินทางอยู่เสมอ การสานกะเหล็บจึงเป็นงานฝีมืออีกชิ้นหนึ่งของชาวโซ่งเพราะต้องใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะนำกะเหล็บไปใช้ในพิธีแต่งงานและพิธีกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

การสานกะเหล็บ ต้องจักตอก ๒ ขนาด คือเป็นเส้นบาง ๆ เพื่อสานส่วนด้านก้นเป็นลาย ๒ หรือ ๓ อีกขนาดหนึ่งจักตอกเส้นเล็กกลมเพื่อสานต่อขึ้นไป ส่วนบนจนถึงปากกะเหล็บ เริ่มสานส่วนก้นก่อน ชาวโซ่งเรียกส่วนตอกเริ่มต้นนี้ว่า “ ดี ” มีเส้นหลักที่สำคัญสานกันให้มีรูปเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สานเป็นทรงสูง สานลาย ๒ หรือลาย ๓ สูงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร จากนั้นสานด้วยลาย “ ไพรยักคิ้ว ” คือสานสลับกัน ชาวบ้านเรียก “ ลายยักคิ้ว ” แต่ชาวโซ่งเรียกว่า “ ลายกะเหน็บ ” สานส่วนป่องออกเหมือนโอ่งน้ำปลายงุ้มเข้า ใช้ไม้ไผ่รัดเป็นวงกลม ถักหวายให้แน่นทำเป็นปาก กะเหล็บ มีเส้นหวายรองก้นกะเหล็บเพื่อใช้ได้ทนทานยิ่งขึ้นและผูกหวายทำหูร้อยเชือก ๓ หู สะพายข้างหลังได้สะดวก

ในเวลาเดินทางกะเหล็บนอกจากจะใส่ของใช้เป็นเสื้อผ้า แป้ง ข้าว ของกิน ผัก ผลไม้ และเมล็ดพืชในการเพาะปลูกแล้ว ยังใช้ในพิธีแต่งงาน โดยใช้กะเหล็บเป็นขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าว ภายในกะเหล็บจะใส่ หมาก พลู เมื่อเจ้าบ่าวสะพายกะเหล็บไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าสาวจะรับกะเหล็บไปวางไหว้ผีบ้านผีเรือนพร้อมกับเจ้าบ่าว เมื่อคู่บ่าวสาวไหว้เสร็จจะนำเอาหมากพลูในกะเหล็บ ให้คนเฒ่าคนแก่ที่มาร่วมในพิธีนั้นเคี้ยวกิน พร้อมขอพรเพือเป็นสิริมงคลในการครองชีวิตคู่ การใช้กะเหล็บในพิธีแต่งงานใช้แตกต่างกันตามฐานะของเจ้าบ่าว หากเจ้าบ่าวเป็นผู้ท้าวหมายถึงผู้มียศถาบรรดาศักดิ์จะใช้กะเหล็บ ๔ ใบ ถ้าเป็นคนธรรมดาใช้กะเหล็บ ๒ ใบ ในปัจจุบันชาวโซ่งยังใช้กะเหล็บในพิธีแต่งงานอยู่เหมือนกัน ปกติมักใส่เสื้อผ้าหรือใส่เมล็ดพืช สะพายติดหลังออกไปทำไร่มากกว่าใช้ทำอย่างอื่น