วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

เกวียน


 
การประกอบเกวียน

เมื่อจัดทำอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็จะมาถึงขั้นตอนในการประกอบส่วนต่างๆ เข้าเป็นเกวียน เริ่มที่การประกอบวงล้อเอาซี่เสียบ ในรูข้ามดุมปลายหนึ่งเสียบในรูของฝักขาม ซี่ 2 อัน ต่อฝักขาม 1 อัน เมื่อครบทั้ง 16 ซี่แล้ว ก็จัดให้ฝักขามยึดต่อกันโดยใช้เดือยให้เป็นวงกลม จากนั้นจึงเอาเหล็กตีนตีอัดเข้ากับวงรอบนอกให้แน่น ใส่เหล็กปลอกดมด้านนอกและเหล็กปลอดรูดุมให้รัดกุม นิยมใช้ไขสัตว์หล่อลื่นระหว่างล้อกับแกน ต่อมาเมื่อมีน้ำมันใช้กันแล้วก็ใช้น้ำมันขี้โล้แทน โดยมักแขวนกระป๋องใส่น้ำมันขี้โล้ ไว้กับคานแล้วใช้ปีกไก่ชุบน้ำมันหยดหยอดลงที่แกนเพลา เมื่อได้วงล้อ 2 วงแล้วก็เอาแกนเหล็กใส่เข้าไปในรูดุม ปลายแกนด้านนอกทั้งสองข้างใส่สลัก เพื่อกันวงล้อมิให้เลื่อนหลุด จากนั้นจึงเอาไม้กะหลก หรือไม้หมอนวางบนแกนเหล็ก ใส่เหล็กสลักที่กลางแกนแล้วจึงรัดหัวท้ายของหมอนให้แน่นติดกับตัวแกน ส่วนหัวท้ายของหมอนห่างจากดุมล้อประมาณ 3 เซนติเมตร และหัวของหมอนยังเป็นที่กั้นไม่ให้วงของล้อขยับเข้าไปด้านใน แล้วเอาไม้คันชัวางพาดบนหมอน ใส่สลักคีบเข้ากับไม้คันชัก ด้านหน้าของไม้คันชักพาดวางด้วยไม้คันคอ ตรงกลางผูกด้วยเชือกหนังควายให้ไม้คัดคอติดกับไม้คันชัก บนไม้คันชักตรงกลางมีหมอนไม้รองรับเรือนล้อ เมื่อยกเรือนล้อขึ้นตั้งบนหมอน ด้านหลังผูกยึดกับไม้กงคิ้ว ด้านหน้าโยงเชือกยึดกับไม้คันชัก

ประโยชน์การใช้สอย

ในยุคก่อนที่จะมีรถบรรทุก “ ปิกอัพ ” ใช้กันนั้น จะมีการใช้ล้อเกวียนตั้งแต่ระดับเมืองลงไปถึงหมู่บ้าน ใช้เป็นพาหนะขนของสัมภาระในการออกศึก ใช้ขนของในการหลบหนีอพยพใช้บรรทุกอุปกรณ์ในการ “ สร้างบ้านแปลงเมือง ” ใช้บรรทุกข้าวขึ้นยุ้ง ขนของหรือสินค้าออกไปขายในต่างถิ่นต่างแดนจนถึงต่างประเทศ และใช้ในการขนพืชผลทางการเกษตรออกสู่ตลาด

ถ้าใช้เกวียนบรรทุกของที่มีขนาดยาว เช่น เสาเรือน ก็ยกเอาเรือนล้อออก ใช้เสาพาดบนไม้ที่วางบนคันชัก ถ้าบรรทุกฟางก็จะก่อกองสูงจากเรือนเกวียนจนดูโยกเยกโงนเงน แต่ถ้าขนของที่ละเอียดอ่อน หรือข้าวเปลือกก็ต้องใส่เรือนล้อปูด้วยเสื่อล้อ คือสาดถุล้อสำหรับปูด้านล่าง 2 ผืน มีเสื่อวงรอบด้านข้าง การบรรทุกข้าวแต่ละเที่ยวไม่เกิน 30 ต๋าง ( สัด )

การที่คนมีล้อเกวียนนั้น นอกจากความสะดวกในแง่ใช้เป็นยานพาหนะแล้ว บ้านที่มีล้อจอดอยู่นั้นจะได้รับความนิยมยกย่องว่าเหนือกว่าบ้าน ที่มีเพียงวัวหรือควายเท่านั้น ยิ่งล้อใหม่เกวียนใหม่ที่ขับเคลื่อนไปตามทางนั้น มักมีเสียงกระชับแน่น เสียงล้อที่กระทบกับแกนเพลาจะดัง “ หล้องๆ ” หากคนขับเป็นชายหนุ่มแล้วก็ยิ่งจะทำให้สาวเจ้าชายตามอง แต่เสียงล้อเกวียนเก่าที่มีเสียง “ โครกคราก อืดอาด ” และคนขับเป็นวัย “ สมัคเคิ้ม ” กลางคนเข้าไปแล้ว “ แม่ร้างนางสาว ” ก็มักจะไม่ค่อยเหลือบแลมากนัก แต่สำหรับเด็กชายแล้ว การได้ห้อยโหนกับเรือนล้อก็นับว่า “ ม่วน ” ยิ่งได้นั่งบนเกวียนแล้วก็ยิ่งจะปลาบปลื้ม แม้หมาที่ได้นั่งล้อบนเกวียน แล้วก็ยังอดไม่ได้ที่จะวางผึ่ง ดังคำพูดว่า “ หน้าซื่อเหมือนหมาขี่รถ หน้าชดเหมือนหมาขี่ล้อ ”